‘สินสอด’ พันธนาการ ‘ผู้หญิง’ ยังควรมีอยู่อีกไหมในยุคนี้?

แฟ้มภาพ

‘สินสอด’ พันธนาการ ‘ผู้หญิง’ ยังควรมีอยู่อีกไหมในยุคนี้?

‘ไม่เห็นแปลกเลย ถ้าอุตส่าห์เสียสินสอดเป็นแสนแล้วคาดหวังสกิลเล็กๆ น้อยๆ เช่นทำแกงส้มได้”

“ถ้าไม่มีสกิลอะไรที่มาเป็นประโยชน์ในชีวิตครอบครัวหลังแต่งงานเลย แล้วคาดหวังให้ผู้ชายต้องจ่ายเป็นแสนนี่สิแปลก”

“ไม่มีสกิล = ฟรี ก็ควรถูกแล้วป่ะ?”

“ฟรีก็แต่งได้หนิ ไม่เห็นแปลก”

Advertisement

เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็น “สินสอด” ของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ออกมาโพสต์ลงสื่อออนไลน์ และยิ่งทำเอาร้อนระอุไปทั่วโลกออนไลน์ เมื่อนักแสดงสาว “ก้อย – อรัชพร โภคินภากร” ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวผ่านไอจีสตอรี่ว่า

‘ส่วนตัวคิดว่าควรยกเลิกระบบสินสอดค่ะ แนวคิดการวัดค่าผู้หญิงด้วยเงินจะได้หมดไปสักที น่ารำคาญค่ะ’

อ่าน : เถียงกันจังเรื่องสินสอด ก้อย อรัชพร บอกน่ารำคาญ เผยยกเลิกก็ดี การวัดค่าผู้หญิงด้วยเงินจะได้หมดไป

Advertisement

อ่าน :

หลังจากนั้นก็นำมาซึ่งการแสดงความคิดเห็นหลากหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือการ ตั้งคำถามว่า สังคมไทยควรจะมีระบบ “สินสอด” อีกต่อไปหรือไม่

ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ “ความเสมอภาคระหว่างเพศ”

มีมาแต่โบราณ

เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) เปิดประเด็นที่มาของ “สินสอด” ว่า ระบบสินสอดของไทยมีมาแต่โบราณ แต่มีความแตกต่างจากอินเดีย หากทั้ง 2 แบบ ก็ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความเสมอภาคเฉกเช่นเดียวกัน

“ประเทศไทย รวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ระบบสินสอด จะเป็นฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิง เพราะคนโบราณซึ่งเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงกับผู้ชายมักจะไม่ได้เลือกคู่เอง แต่เป็นการที่พ่อแม่จัดการให้ เลือกคู่ให้ หรือเรียกว่า คลุมถุงชน”

“ในสมัยนั้น สินสอดจึงเป็นเรื่องของการที่ฝ่ายชายให้ความมั่นใจว่า จะแต่งจริงๆ หมั้นไว้ก่อน แต่ถ้าลูกชายไม่แต่ง สินสอดนี้ก็ยกให้ผู้หญิงไป ถ้าผู้หญิงมีปัญหาก็ต้องคืนสินสอดกลับมา ยุคนั้น ภรรยาแต่งงานแล้วไปเป็นสมบัติของผู้ชาย แต่ถ้าตีความที่เป็นคุณกับผู้หญิง ที่ดีขึ้นมาหน่อยในยุคหลังๆ คือ เป็นค่าน้ำนมให้กับพ่อแม่ผู้หญิง”

ซึ่งแตกต่างจากประเทศ “อินเดีย” เรืองรวี เล่าว่า เป็นชนชาติที่มีวรรณะอย่างชัดเจน ผู้หญิงเกิดมาปุ๊บ พ่อแม่ต้องเตรียมหาสินสอดให้ฝ่ายสามีของลูก เพราะระบบคุณค่าของอินเดีย เขาเห็นว่าผู้ชายที่มีการศึกษา มีสถานภาพทางสังคม เป็นอะไรที่ต้องซื้อมา เอาเงินไปแลก ก็กลายเป็นประเพณีที่ยึดติดเหนียวแน่นว่า “ผู้หญิงต้องจ่ายให้ฝ่ายชาย”

“พอเกิดเป็นธรรมเนียมขึ้นมา ผู้ชายก็จะมาเรียกค่าสินสอดมากขึ้นๆ ถ้าให้ไม่ครบตามนั้น ผู้หญิงเมื่อแต่งงานไปอยู่บ้านผู้ชายแล้ว ก็จะถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน บางคนถึงขั้นเอาน้ำมันก๊าซราด เป็นความรุนแรง”
“จนกระทั่ง ปัจจุบัน อินเดียออกกฎหมายยกเลิกระบบสินสอดแล้ว แต่กระนั้น ในทางปฏิบัติก็ยังมีอยู่”

“พันธนาการ” ผู้หญิง

เรืองรวี มองว่า สำหรับประเทศไทย สินสอดเป็น “พันธนาการ” ของผู้หญิง จากที่เคยถามผู้ชายที่อบรมเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศว่า ความเป็นผู้ชายทำให้รู้สึกว่ามีพันธนาการหรืออะไรที่เป็นความลำบากไหม

“ได้คำตอบว่า คือเรื่องสินสอด มีคนหนึ่งเล่าว่า รักกับฝ่ายหญิงมาถึง 7 ปี เขาเรียกสินสอด ซึ่งไม่สามารถหามาได้ ความรักจึงเป็นหมันไป และผู้ชายอีกหลายคนในห้องก็พูดเสียงเดียวกันว่า เขามีพันธนาการเรื่องนี้ คือ มันเป็นความคาดหวังของสังคมที่ไปกดทับ ในเรื่องมีหรือไม่มีสินสอด กับมูลค่าที่เรียกกันมากมายมหาศาล จนเป็นไปไม่ได้ ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องของการต่อรองทางธุรกิจ ซึ่งมันก็ไปบดบังสัญลักษณ์ของคน 2 คนที่รักกันอย่างบริสุทธิ์ใจที่จะสร้างครอบครัวด้วยกัน”

เมื่อไม่สามารถ “ปลดพันธนาการ” ได้ ปัจจุบันจึงเกิดเป็น “ธุรกิจเช่าสินสอด” ที่ราคาสูง เริ่มต้นที่หลักหมื่นบาท

“แทนที่จะเอาราคาที่ต้องจ่ายตรงนี้ มาเป็นต้นทุนชีวิตเมื่ออยู่ด้วยกันไม่ดีกว่าเหรอ ซึ่งบางคู่อาจเอาไปทุนดาวน์บ้านได้ด้วยซ้ำ” เรืองรวีตั้งคำถาม แล้วย้ำว่า…

“สินสอดกลายเป็นค่านิยม ซึ่งไม่ได้ให้คุณค่ากับความเสมอภาคหญิงชายเลย”

เป็นความไม่เสมอภาคที่นำมาซึ่ง “ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่” ที่ผู้ชายในสังคมหลายคนยังคงคิดแบบ “ต้องมีสกิลทำแกงส้ม”

“ผู้ชายหลายคนก็อาจจะคิดแบบเรื่องแกงส้ม ได้เธอมาแล้ว ก็ตอบแทนหน่อยสิ แต่มันกลายเป็นการที่ได้คนเข้าบ้านไปเป็นคนรับใช้ คนมาบริการ นอกจากเป็นเมียแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ไม่เคารพความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิง เป็นระบบชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน”

“ปัญหาใหญ่ อยู่ที่พ่อแม่ที่ยังติดยึดกับประเพณีดั้งเดิม ที่มาจากระบบคลุมถุงชน ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องหน้าตาทางสังคม เป็นพันธนาการของคนที่ชอบแบกหน้าตัวเอง มันเป็นเรื่องทุนนิยมที่ครอบงำ”

เรืองรวี พิชัยกุล

ยกเลิก “สินสอด” ต้อง “แก้กฎหมาย”

จากความไม่เสมอภาคที่มาจากระบบชายเป็นใหญ่ เรืองรวี เห็นด้วยกับดาราสาว ก้อย-อรัชพร ที่ควรยกเลิกระบบสินสอด แต่การยกเลิกดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า “ต้องบังคับด้วยกฎหมาย” แต่ควรเปลี่ยนเป็น การไม่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนสินสอดทองหมั้น และควรเป็นเรื่องของ “ความสมัครใจ” ที่ทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้

“เรื่องสินสอดควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่เรื่องของการผูกมัด จะให้กันทั้ง 2 ฝ่ายยิ่งดี และเอามารวม แล้วยกให้ลูกไปตั้งตัว ถึงจะเรียกว่า เสมอภาค แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ผูกมัด”

“เพราะคอนเซ็ปต์ของสถาบันครอบครัวไม่เกี่ยวกับสินสอดทองหมั้นเลย แต่เป็นคอนเซ็ปต์ที่ไม่มีความรุนแรง มีความรักใคร่เคารพซื่อสัตย์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำมาหากินเลี้ยงดูลูก สร้างชีวิต ไม่โกหก ไม่มีคนอื่น”

ทั้งนี้ ประเทศไทยมี “กฎหมาย” เกี่ยวกับสินสอด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1437 วรรคสาม ระบุว่า “สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”

“ถ้ามีการยกเลิกระบบสินสอด ก็ควรจะมีการแก้กฎหมาย หรือ ยกเลิกกฎหมายไปเลย เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เช่นเดียวกับที่แก้กฎหมายเรื่องการนอกใจ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ”

สะท้อน “โครงสร้างสวัสดิการรัฐ”

ขณะที่ ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรโปรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องสินสอด โดยระบุว่า สินสอดเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้หญิงกับครอบครัวผู้หญิง ที่ผู้ชายเกี่ยวข้องโดยตรง อาจกล่าวได้ว่า สินสอดคือส่วนหนึ่งของความคาดหวังจากครอบครัวและสังคมที่มีต่อคนที่จะอยู่ด้วยกันว่าจะต้องมีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร

“ในวัฒนธรรมไทย ครอบครัวจะมีการตั้งค่าเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรัก ดังในเรื่องของสินสอด ที่อาจจะเรียกสินสอดเพื่อหยั่งเชิงว่าผู้ชายสถานภาพทางสังคมที่เพียบพร้อมและมั่นคงมากแค่ไหน เป็นการประเมินความอยู่รอดของครอบครัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังที่จะสังเกตได้ว่าในครอบครัวชนชั้นสูงที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน ปัญหาเรื่องสินสอดมักจะไม่เกิดขึ้น”

ฉะนั้นเรื่องสินสอดจึงกลายเป็นเรื่องของ “สถานภาพทางด้านสังคม” (Social Status) ดังที่หลายครอบครัวมักจะอวดกันว่าลูกของฉันได้สินสอดกันเท่าไหร่ แต่ถามว่าเท่าไหร่ถึงจะมาก-น้อย คุณค่าของความรักถูกนำไปยึดโยงกับระบบทุนนิยม ทั้งๆ ที่สถานภาพทางสังคมรวยหรือจนไม่ได้เป็นมาตรวัดเดียวที่ “การันตีชีวิตแต่งงาน” ว่าดีหรือไม่ดี

“เรื่องสินสอด มาถกเถียงกันว่าควรมีหรือไม่มี อาจจะไม่มีทางจบ ต้องย้อนกลับไปคุยกับเรื่องเชิงโครงสร้างสวัสดิการของรัฐไทยที่ไม่เอื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในยามบั้นปลาย ครอบครัวจึงต้องหาทางออกเอง ด้วยการคาดหวังความมั่นคงจากการรับสินสอด เป็นตัววัดว่าคู่รักจะอยู่ด้วยกันรอดในทางหนึ่ง”

“แถมคู่รักสมัยนี้ ตัดสินใจไม่ได้ว่าใครจะอยู่บ้านเลี้ยงลูก เพราะทั้งคู่ต้องออกไปทำงานหาเงิน ด้วยรัฐไม่ได้มีสวัสดิการที่เอื้อให้เลี้ยงลูกอยู่บ้าน แล้วมีเงินเดือนจากรัฐ ชนชั้นกลางก็ต้องจ้างคนมาเลี้ยงลูก ซึ่งปกติ ‘งานบ้าน’ ก็ไม่ได้รับการให้คุณค่าตราบใดที่ยังไม่ต้องจ้าง แม่ยายและป้าของเรา ดูแลมาตลอดชีวิตไม่เคยได้สวัสดิการจากตรงนี้ เพราะฉะนั้นความรักความสัมพันธ์ของคนในสมัยนี้จึงผูกโยงกับระบบทุนนิยมอย่างมีนัยยะสำคัญ” ปรานมกล่าว

“ในประเด็นที่ชายไทยรายหนึ่งบอกว่า จ่ายสินสอดมาแล้ว ก็ต้องได้ภรรยาที่มีสกิลทำแกงส้มได้ คิดแบบนี้ก็ผิด อยากกินแกงส้มซื้อเอาก็ได้ ไม่ต้องมีภรรยา จุดนี้ผู้ชายกลับมองเหมือนการลงทุน เป็นความรักภายใต้ทุนนิยมมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องถามกันเยอะๆ ว่า ความรักในทุนนิยมแบบนี้ เป็นความรักที่เรามองหากันหรือไม่” ปรานมกล่าวทิ้งท้าย

อ่าน : หนุนก้อย ‘ยกเลิกสินสอด’ ชี้ด้อยอำนาจผู้หญิง ฟาด ‘ผู้ชายให้ทำแกงส้ม’ เป็นรักภายใต้ระบบทุนนิยม

ปรานม สมวงศ์

คุณค่าผู้หญิงไม่ได้อยู่ที่สินสอด

เรืองรวี ให้แง่คิดว่า คนที่ยังยึดติดกับสินสอด มาจากฐานความคิดชายเป็นใหญ่ ฉันเป็นเจ้าของชีวิตของเมีย โดยเฉพาะคนที่สินสอดแพง ก็จะต้อง ปฏิบัติตัวรับใช้ให้สมกับคุณค่าที่แลกมา รวมทั้งบริการและความรัก ฉันผูกเธอไว้เลย เป็นการผูกด้วยสินสอด อันนี้ เป็นความคิดที่ไม่เสมอภาค เป็นความคิดที่ขัดกับแนวคิดใหม่ๆ คอนเซ็ปต์ใหม่ๆ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องคุณค่า ศักดิ์ศรีผู้หญิง

“ตัวผู้หญิงเองก็อย่าไปติดกับคำว่าสินสอด จะต้องคุยโอ้อวดว่า ฉันมีสินสอดทองหมั้นนะ ฉันมีราคามากกว่า อันนี้เป็นการตีคุณค่าที่ผิด เพราะแค่เกิดมาเป็นผู้หญิงก็มีค่าแล้ว ไม่ต้องไปเอาเงินมารองรับความมีค่าของตัวเอง เพราะฉะนั้น ผู้หญิงก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เงินสินสอดทองหมั้นจะสูงส่งกองเท่าภูเขาเลากา ก็ไม่ทำให้คุณความเป็นมนุษย์ หรือคุณค่าของคุณเพิ่มขึ้นจากตรงนั้น”

“คุณค่าของคุณก็มีอยู่แล้ว เท่าเทียมกับคนอื่นๆ และคนที่ไม่มีสินสอดก็ไม่ต้องรู้สึกด้อยค่าเลย คุณผงาดยืนหยัดได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวว่า คุณจะแต่งงานกับใครหรือรักกับใคร” เรืองรวีทิ้งท้าย


ส่องธุรกิจเช่าสินสอด
ราคาเท่าไหร่?

คู่รักหลายคู่มีปัญหาเรื่อง “ค่าสินสอด” จากช่องโหว่ตรงนี้ จึงเกิดเป็น “ธุรกิจเช่าสินสอด” ขึ้นมา เพราะคนในสังคมไทยยังยึดคติที่ว่า “เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้”

หลักๆ ก็จะเป็น “เงิน” เริ่มตั้งแต่หลักแสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาท จากนั้นก็ตามมาด้วย ทองแท่ง , ทองรูปพรรณ มีให้เช่าแม้กระทั่งพ่อแม่ เพื่อน หรือแม้แต่เจ้าบ่าว เจ้าสาว รวมไปถึง รถหรู ก็ยังมี

โดยแต่ละเจ้าของธุรกิจจะคิด “ค่าเช่าสินสอด” แตกต่างกันออกไป

อย่างเจ้าหนึ่งคิดเป็นแพคเกจ จ่าย 20,000 ได้ 500,000 บาท จ่าย 35,000 ได้ 1,000,000 บาท ทองแท่ง ทองรูปพรรณ มีหมด

อีกเจ้า ให้เช่าเงินสด 3-5 แสน คิด 30,000 บาท , เงินสด 1 ล้าน เช่า 50,000 บาท , เงินสด 5 ล้าน เช่า 150,000 บาท , เงินสด 10 ล้าน เช่า 250,000 บาท รถเบนซ์ติดโบว์ 15,000 บาท

ในช่วงโควิด-19 ก็มีโปรลดราคาให้เช่าสินสอดในราคาถูกลง อาทิ เงินสด 1 แสน ให้เช่า 4-5 พันบาท เงิดสด 2-5 แสน ให้เช่า 9 พัน-2 หมื่นบาท, เงินสด 1-2 ล้าน ให้เช่า 3-5 หมื่นบาท ส่วนราคาทองคำแท่ง บาทละ 1-2 พันบาท ทองคำรูปพรรณ บาทละ 2-3 พันบาท เป็นต้น

โดยทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ 100%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image