รู้จักวิถี 4 เจเนเรชั่นในที่ทำงาน และ “ตัวตน” ที่ร่วมงานได้กับทุกวัย

รู้จักวิถี 4 เจเนเรชั่นในที่ทำงาน และ “ตัวตน” ที่ร่วมงานได้กับทุกวัย

เพราะมนุษย์กับการอยู่ร่วมกันเป็น “สังคม” นั้นเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก และยังอุดมไปด้วย “ความหลากหลาย” ซึ่งแต่ละสังคม แต่ละคนก็มักจะมีวิถีการปรับตัวเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

โดยเฉพาะกับสถานที่ที่เรียกว่า “ที่ทำงาน” ซึ่งมีความหลากหลายอยู่มาก โดยเฉพาะ “ช่วงวัย” ที่ส่งผลให้หลายคนรู้สึกถึงความ “แตกต่าง” กระทั่งมีการหยิบยกคำมาอธิบายว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะ “ช่องว่างระหว่างวัย” (generation gap)

ทั้งนี้ การได้ทำความรู้จักกับแต่ละช่วงวัยในที่ทำงานมากขึ้น ว่าด้วยสภาพแวดล้อม สังคม ณ วัยนั้นๆ เติบโตมา ส่งผลให้มีลักษณะนิสัย ตลอดจนแนวคิดเป็นอย่างไร อาจจะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในที่นี้มิได้เหมารวมถึงทุกคนแต่เป็นเพียงการอธิบายโดยพิจารณาตามวัฒนธรรมการสื่อสารในบริบทที่เจเนเรชั่นนั้นๆ เติบโตมาว่ามีความสัมพันธ์ต่อแนวคิดการทำงานอย่างไร

ซึ่งใน มหิดล พอดแคสต์ รายการ Well-Being สุขภาพดี ชีวิตดี สร้างได้ หัวข้อ “ทลายกำแพงต่างวัยในออฟฟิศ” ดำเนินรายการโดย อ.เต้ – ดร.ระพี บุญเปลื้อง อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อ.ป็อป ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์  เข็มทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ

Advertisement

ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เผยว่า ปัจจุบัน “ช่วงวัย” หรือ “เจเนเรชั่น” (generation) แบ่งออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ดังนี้ 1.เบบี้ บูมเมอร์ (Baby boomer) อายุมากกว่า 60 ปี เกษียณเกือบ 5 ปีแล้ว 2.เจนเอ็กซ์ (Gen-X) ช่วงอายุ 40-60 ปี ยังทำงานอยู่เป็นรุ่นซีเนียร์ในองค์กร 3.เจนวาย ช่วงอายุ 24 ปีขึ้นไป (Gen-Y) 4.เจน (Gen Z) ช่วงอายุ 8-24 ปี

รู้จักวิถี 4 เจเนเรชั่นในที่ทำงาน และ “ตัวตน” ที่ร่วมงานได้กับทุกวัย

  “เจนวาย เติบโตมาในยุคมิลลิเนียม ยุคที่คอมพิวเตอร์ไวขึ้น ทันสมัยขึ้น เจนแซดมาพร้อมกับมือถือที่เล็กลงมากๆ ส่วนเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมคลายกันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ดีด ทีวี เป็นต้น” ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์กล่าว

ขณะเดียวกัน อ.เต้ ตั้งข้อสังเกตว่า เกี่ยวกันหรือไม่ที่หลายคนมักจะกล่าวว่าคนที่มีการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัลจะมีความสามารถในการอดทนรอได้ดีในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันคนที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล ส่วนใหญ่จะรอไม่เป็น

Advertisement

อ.ป็อป ตอบว่า มีความเกี่ยวข้องกัน ด้วยสิ่งใดก็ตามที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจะมีความใจร้อน มีความคาดหวังสูง อารมณ์ต้องทำให้เสร็จ ได้ผลเห็นผลเร็ว ขณะเดียวกันจะขาดวิธีการสื่อสารที่อ่อนโยน สื่อสารประสบการณ์ชีวิตไม่ค่อยได้ เพราะรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็รีบเร่งเหมือนกัน

ทั้งนี้ กับปัญหาในที่ทำงานเช่น ทำงานมานานทำไมยังไม่เลื่อนขั้นสักที ขณะที่หลายคนเพิ่งเข้ามาทำงานแต่กลับเลื่อนขั้นทุกปี กับเรื่องนี้มีวิธีจัดการหรือปรับความคิดอย่างไร?

อ.ป็อป กล่าวว่า “ไม่ต้องจัดการอะไร” โดยอธิบายถึง พื้นฐานด้านการทำงานของแต่ละช่วงวัยที่มีความแตกต่างกันไว้ว่า อย่างเช่น

“เจนเอ็กซ์” เป็นเจเนเรชั่นประเภทวันแมนโชว์ สามารถทำงานคนเดียวได้ ไม่ค่อยอยากเป็นหัวหน้าใคร ทำงานเองได้จะภูมิใจมาก ขณะเดียวกันก็มีความบ้างาน และต้องการความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว สุขภาพ เวลาพักผ่อน เป็นต้น

   ขณะที่เจนที่มีความต้องการเลื่อนขั้น หรือเป็นหัวหน้าสูงคือ “เจนแซด”

เหตุผลที่ “ไม่ใช่เจนวาย” เพราะเจนวายเป็นเจนที่มีความวิตกกังวล ลังเลสงสัย จะเป็นหัวหน้าทำไม แค่นี้ก็งานยุ่งอยู่แล้ว เจนวายจะชอบการมีหัวหน้างาน ชอบการมีเสาหลัก เป็นหัวหน้าแทนแต่จะทำตามไม่ทำตามอาจจะเป็นอีกเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเจนนี้รักอิสระ

รู้จักวิถี 4 เจเนเรชั่นในที่ทำงาน และ “ตัวตน” ที่ร่วมงานได้กับทุกวัย

ขณะเดียวกัน ในประเด็นที่คนสนใจถึงความแตกต่างระหว่าง “หัวหน้า” กับ “โค้ช(สอนงาน)” ตรงนี้ก็ตอบโจทย์เพราะคนเจนวายมีความต้องการที่จะให้หัวหน้างานเป็นโค้ชด้วย กล่าวคือ ในเวลาที่เขาวิตกกังวล เขาต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาในด้านสุขภาพจิตด้วย ฉะนั้น คนเจนวายจึงมีความต้องการหัวหน้าที่เป็นโค้ชได้ หรือโค้ชที่สามารถเป็นหัวหน้านำทางเขาได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ “เจนแซด” จึงเป็นเจนที่เรียนรู้จากเจนเอ็กซ์และเจนวายแล้วก็จะปรับปรุงตัวเองให้ดีกว่าเอ็กซ์และวาย ในด้านการทำงานคนเจนนี้จะปรับตัวได้ไว ขณะเดียวกันด้วยความที่คนเจนนี้ “รักความยุติธรรม” ทุกคนเท่าเทียมกัน ในบางคราวจึงไม่มีหัวหน้า ไม่มีโค้ช ทุกคนจะได้เป็นหัวหน้าเฉพาะเรื่องที่ถนัด เจนแซดสนใจคนที่สร้างแรงบันดาลใจ มีประสบการณ์ชีวิต และค้นหาเบบี้ บูมเมอร์ หรือเจนเอ็กซ์ที่มาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เจเนเรชั่น เป็นเพียงสิ่งที่บอกเพียงให้รู้ว่าเราอยู่ในเจนไหน ด้วยที่สุดทุกเจเนเรชั่นมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ปัจจุบันจึงมีคำใหม่ว่า “SELF” หรือ “ตัวตน” กล่าวถึง ทุกวัย ไม่สนใจว่ามาจากเจนไหน เรียนรู้เรื่องของ S : Social (สังคม), E : Emotional (อารมณ์), L : Learning (เรียนรู้) และ F: Flow (ยืดหยุ่น) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่ว่าจะกับเจนไหนก็สามารถทำงานด้วยกันได้

อ.ป็อป กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อสมองและจิตใจสมดุล คิดบวก คิดยืดหยุ่น อารมณ์ดีไปกับทุกๆ วันได้ มีกิจกรรมร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ระหว่างคนต่างวัย ทำให้เกิดการสื่อสารในทางบวก อารมณ์ลบมาโฟลวไปให้เป็นอารมณ์บวก ซึ่งไม่ใช่การเก็บกด ทว่าเป็นการสร้างพื้นที่ทำงานให้เป็นเหมือนบ้าน เป็นพื้นที่ที่ไว้อกไว้ใจกันได้ SELF จึงเป็นจิตวิทยาทางบวกอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้

ทลายกำแพงระหว่างวัย

รู้จักวิถี 4 เจเนเรชั่นในที่ทำงาน และ “ตัวตน” ที่ร่วมงานได้กับทุกวัย
อ.เต้ – ดร.ระพี บุญเปลื้อง
ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image