เมื่อคำว่า ‘พร้อม’ แต่ละคนไม่เท่ากัน รู้จักสิทธิ-สวัสดิการวัยเจริญพันธุ์ ท้องไม่พร้อม-แท้งปลอดภัย

ภาพประกอบจาก pixabay

เมื่อคำว่า ‘พร้อม’ แต่ละคนไม่เท่ากัน รู้จักสิทธิ-สวัสดิการวัยเจริญพันธุ์ ท้องไม่พร้อม-แท้งปลอดภัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมไทยยังคงมี “มายาคติ” ที่มองว่า “ท้องไม่พร้อม” เป็นเรื่องของวัยรุ่น ทว่าในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “พลังสตรีลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี : ท้องไม่พร้อม แท้งปลอดภัย” ผ่านระบบ Zoom Meeting จัดโดยสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ได้เปิดมุมมองในเรื่องดังกล่าวให้กว้างขึ้น และมีหลากหลายมิติที่น่าสนใจ เริ่มต้นไปทีละประเด็นจากบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดในด้านของการ “ยุติการตั้งครรภ์”

นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จังหวัดน่าน กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหมอที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ในพื้นที่ประสบปัญหาจริงจะทราบว่าความรุนแรงกับผู้หญิงเป็นสิ่งที่มาคู่กัน ซึ่งท้องไม่พร้อมก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งที่ความจริงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เกิดได้กับผู้หญิงทุกวัยเพราะ “ความพร้อม” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน และจากตัวเลขสถิติเกี่ยวกับการท้องไม่พร้อมพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ที่เป็นวัยรุ่น แต่ที่เยอะที่สุดคือหญิงวัยเจริญพันธุ์ ช่วงอายุ 20 – 35 ปี

กระทั่งในกลุ่มหมอสูติฯก็มีคำกล่าวว่า “การท้องไม่พร้อมเหมือนโรคหวัดทางสูติกรรม คือเจอได้เรื่อยๆ แต่ประเด็นอยู่ที่่ว่าเมื่อท้องไม่พร้อมแล้วทำอย่างไรต่อไป”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์จริงที่พบหลังจากทำหน้าที่นี้คือแววตาของพวกเธอหลังจากยุติการตั้งครรภ์ ได้สะท้อนพื้นอารมณ์ทั้งหมดเหมือนกับว่าปัญหาทุกอย่างที่พวกเธอแบกรับมาตลอดหลายๆ เดือนที่่ผ่านมามันได้สิ้นสุดลง แม้ว่าหลังจากนี้เธอจะต้องเจอปัญหาอื่นๆ ตามมาก็ตาม เพราะการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ก็เหมือนเป็นเพียง “ยอดของปัญหา” เท่านั้น เป็นบริบทของชีวิตแต่ละคนที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิตของตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวว่าเธอรักหรือไม่รักตัวอ่อนในครรภ์ แต่ส่วนหนึ่งที่ยอมยุติความตั้งครรภ์เพราะยอมประคับประคองตัวเอง ครอบครัวหรือลูกคนอื่นๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ส่วนตัวผมมองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องระหว่างผู้รับบริการผู้หญิงกับหมอ เรียกว่าเป็นบริการทางการแพทย์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้รับรองแล้วว่า การยุติการตั้งครรภ์คือบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็น” นพ.นิธิวัชร์กล่าว

นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

รู้จักสิทธิ-สวัสดิการวัยเจริญพันธุ์
เพื่อให้ทุกการเกิดมีคุณภาพ

ด้าน นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของกฏหมายพระราชบัญญัติการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ ฉบับนี้ดูแลวัยรุ่นทั้งหมดในเรื่องของสิทธิของวัยรุ่น และพูดถึงกฏกระทรวงของแต่ละกระทรวง อย่างกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บริการเรื่องของการฝังคุมกำเนิด ใส่ห่วงอนามัยฟรีสำหรับวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีทุกคนทุกที่ ถ้าหากเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาตามกฏกระทรวงสาธารณสุข มีหมวดของอนามัยเจริญพันธุ์ข้อ 10 และข้อ 11 โดยเฉพาะข้อ 11(6) พูดถึงเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่ต่ำกว่า 20 ปี (10 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี) ได้เลย ยกเว้นต่ำกว่า 15 ปีที่ต้องให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอม

Advertisement

ทั้งนี้เมื่อการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สามารถทำได้อย่างถูกกฏหมายตามขั้นตอน ทว่าทั่วประเทศยังคงมีหน่วยบริการยุติการทำแท้งราวๆ 40 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีหน้าที่ที่จะจัดบริการให้คำปรึกษาทางเลือก ปูพรมไปมุกหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง และจะจัดหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ตามมติข้อสังเกตของกรรมการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรให้มีหน่วยยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง แต่จะทำ MOU กับเขตรับผิดชอบที่ 9 “นครชัยบุรินทร์” ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ในส่วนนี้จะให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ครอบคลุมทั้งในส่วนของรพ.ชุมชน รพ.จังหวัด หรือแม้แต่รพ.ทั่วไป โดยแบ่งตามอายุครรภ์ ถ้าอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์เข้ารับบริการได้เลยที่รพ.ชุมชน ถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไปซึ่งต้องใช้ศักยภาพของบุคลากรและสถานที่จะเป็นหน้าที่ของรพ.ทั่วไปที่จะมาคอยกำกับดูแลหรือรับส่งต่อ ถ้าอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ขึ้นไปก็เป็นบทบาทของโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งตอนนี้กำลังผลักดันให้แล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อเอื้อให้ผู้มารับบริการยุติการตั้งครรภ์รับบริการได้อย่างปลอดภัย

นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์

อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อคำถามที่ว่า หากต้องการยุติการตั้งครรภ์ด้วยเหตุจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามารถเข้ารับบริการได้เลยหรือต้องรอให้คดีเสร็จสิ้นก่อนนั้น

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง กล่าวว่า คำตอบคือถ้าจะรอให้คดียุติคงคลอดก่อนแล้ว ฉะนั้นเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศแม้จะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ก็สามารถแจ้งแพทย์เพื่อขอรับการยุติการตั้งครรภ์ได้ด้วยในกฏหมายระบุว่า กฏหมายไม่ได้เรียกร้องว่าหญิงนั้นจำต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมให้เสร็จสิ้นก่อนแต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อเข้าแจ้งความเสร็จก็เข้ารับบริการได้เลย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะวัยรุ่นแต่ผู้ที่ “ท้องไม่พร้อม” ในทุกกรณีสามารถแจ้งขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ทำบัตรคนไข้ ตรวจอายุครรภ์ ประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว ตรวจสอบเงื่อนไขทางกฏหมาย ฯลฯ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง

ขณะเดียวกันกับข้อสงสัยที่ว่าเมื่อ ท้องไม่พร้อมและเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์แล้ว สามารถทำอีกครั้งได้หรือไม่

นพ.พีระยุทธ กล่าวว่า จริงๆ เมื่อทำแล้วไม่อยากให้ทำซ้ำ เพราะไม่มีใครตั้งใจตั้งครรภ์เพื่อไปทำแท้ง เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเหมือนกินยาแล้วหาย การทำแท้งค่อนข้างทรมานในตัว ถึงแม้ว่าผลข้างเคียงจะต่ำแต่โดยหลักการจะให้เด็กที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์เข้าถึงการคุมกำเนิดที่เหมาะสม ตั้งแต่กึ่งถาวรระยะยาว (ยาฝังคุมกำเนิด) ซึ่งคุมกำเนิดได้ 3-5 ปี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนให้ความรู้กับตัวเด็กและผู้ปกครองในการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำด้วย

เพื่อให้ทุกการเกิดมีคุณภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image