อ่านมุมมอง “ผู้ชาย” คิดแบบ “เฟมินิสต์” ไม่ว่าเพศไหนก็ ‘คนเท่ากัน’

อ่านมุมมอง “ผู้ชาย” คิดแบบ “เฟมินิสต์” ไม่ว่าเพศไหนก็ ‘คนเท่ากัน’

ต้องยอมรับว่าหลากหลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากฐานความคิด “ชายเป็นใหญ่” จึงทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การบังคับใช้อำนาจ นำมาสู่ความรุนแรง การละเมิดสิทธิ และการเพิกเฉยต่างๆ

ปรากฏในการเรียกร้องผ่านการชุมนุมทางการเมือง และรณรงค์สร้างความรับรู้ในโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ประเด็นสมรสเท่าเทียม ยกเลิกภาษีและจัดสวัสดิการผ้าอนามัย สิทธิการทำแท้ง เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ถูกกฎหมาย ฯลฯ
แน่นอนเป็นประเด็นที่ผู้หญิงและคนหลากหลายทางเพศ (แอลจีบีทีคิว) ออกมาเรียกร้องหนักมาก

ทว่าพวกเธอไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดาย แต่มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ผู้ชายที่มีแนวคิดเฟมินิสต์ “ (feminist) อธิบายง่ายๆ คือ ผู้ชายที่เห็นคนเท่ากัน มีความเข้าใจในมุมมองผู้หญิง และความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ผู้ชายเรียกร้อง ‘ผ้าอนามัย’ ให้ผู้หญิง

เริ่มที่ ผู้ชายที่ออกมาเรียกร้องเรื่องผ้าอนามัยให้ผู้หญิง แม้จะออกตัวว่าไม่ตนเองไม่ใช่ผู้ชายแฟมินิสต์ แต่เพียงใส่ใจเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ จึงเป็นที่มาของการออกตัวเรียกร้องให้ “ยกเลิกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัย จัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีให้เด็กผู้หญิงจนถึงชั้น ม.6” กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

เขาคือ ปภาณษิณ ปิ่นแก้ว หรือบุ๊คนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หัวหน้ากลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตคือ การได้อ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นปี พ.ศ.2559 เรื่อง “หญิงชั่วในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์-พ.ศ.2477” ผลงานของ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล จากคณะศิลปศาสตร์ มธ. ซึ่งเล่าต้นตอความเหลื่อมล้ำทางเพศ ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เรื่อยมาจนสมัยกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ทำให้เขาได้เปิดโลกเลย

นักศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. รายนี้ เล่าว่า สมัยอยุธยาเราได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ แนวคิดนี้ถูกนำมาจัดทำในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งกดขี่ทางเพศผู้หญิง อย่างผู้หญิงที่ทำความผิดเรื่องทรัพย์สิน ร่างกายและชีวิต และความผิดเรื่องเพศ จะปรากฏคำเรียกผู้หญิงเหล่านี้ว่า “หญิงชั่ว หญิงแพศยา หญิงดอกทอง” พร้อมกำหนดบทลงโทษที่หนักกว่ากว่าผู้ชาย ตลอดจนกำหนดบทบาทผู้หญิงให้ต้องรักนวลสงวนตัว ห้ามไปหา ไปจีบผู้ชายก่อน

“ปัจจุบันแม้ไม่มีกฎหมายตราสามดวงแล้ว แต่รากคิดชายเป็นใหญ่ที่ยังสืบทอดอยู่ ก็ยังผลิตระบบระเบียบที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ เช่น ป.กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1453 ระบุว่า หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เพื่อพิสูจน์ว่าลูกเป็นลูกใคร ส่วนผู้ชายสามารถจดทะเบียนใหม่ได้ทันที เช่นเดียวกับธรรมชาติของผู้หญิงที่มีประจำเดือน ต้องเสียเงินเฉพาะในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม กับการซื้อผ้าอนามัย เป็นจำนวนเงินระหว่าง 6 หมื่นถึง 2 แสนบาทต่อคน แต่ผู้ชายไม่มี ก็ไม่ต้องเสียอะไร”

Advertisement

“บนข้อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ที่ทุกเพศต้องเท่ากัน ผมมองลึกไปกว่านั้น คือการคำนึงถึงความแตกต่างทางเพศ และให้คุณค่าคนเท่ากัน ด้วยการที่รัฐจะสนับสนุนเรื่องผ้าอนามัยแก่ผู้หญิง”

หนุ่มวัย 21 ปียืนยันว่า หากรัฐได้ตอบสนองข้อเรียกร้อง ผู้หญิงไทยทุกกลุ่มจะได้รับประโยชน์แน่นอน จากผลลัพธ์การทำโครงงานเพื่อสังคม ในวิชา TU100 มี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นผู้สอน ซึ่งเขาและกลุ่มเพื่อนได้พยายามหาผ้าอนามัย วางแจกฟรีตามห้องน้ำหญิงในมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าผลตอบรับดีมากทั้งจากนักศึกษาและอาจารย์ผู้หญิง ที่หลายคนมีเงินแต่บางครั้งประจำเดือนมาไม่ทันตั้งตัว อย่างน้อยเดินเข้าห้องน้ำแล้วมีผ้าอนามัยวางแจกฟรี พวกเธอก็รู้สึกอุ่นใจ ก่อนมาคิดถึงความยั่งยืนว่า นี่เป็นปัญหาเชิงระบบ เราจะต้องขับเคลื่อนในภาพใหญ่

“ทำเรื่องนี้ตอนแรกอาจเขินๆ บ้าง เพราะเพื่อนในกลุ่มเป็นผู้หญิงหมด แต่พอการพูดคุยโฟกัสไปที่เป้าหมายเป็นหลัก ผมจึงไม่เขิน กระทั่งตอนยื่นข้อเรียกร้อง ก็โหวตกันในกลุ่มว่าให้เป็นผม เพราะอยากให้เป็นภาพว่ามีผู้ชายที่เข้าใจเรื่องผ้าอนามัยนะ เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ความเป็นธรรม”

ปภาณษิณ ปิ่นแก้ว นำกลุ่มฯยื่นหนังสือถึง กมธ. กิจการเด็กฯ

ครอบครัวจุดเริ่มต้นความเท่าเทียม

ถัดมาที่ ผู้ชายที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้ผู้หญิงอยู่ตลอด จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งหลายคนยกให้เป็นผู้ชายเฟมินิสต์ตัวพ่อ

จะเด็จ เล่าว่า ผมเป็นผู้ชายเฟมินิสต์ที่มีมุมมองว่า ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ไม่เพียงผู้หญิง แต่รวมถึงทุกเพศ และไม่จำเป็นต้องแบ่งว่าเป็นเฟมินิสต์แบบไหน เช่น มาร์กซิสต์ โซเชียลลิสต์ คัลเจอรัล ฯลฯ ที่กำลังมีอยู่มากมายในขณะนี้

เขาตระเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะถูกหล่อหลอมจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่ ที่มอบหน้าที่ให้ช่วยทำงานบ้านงานเรือน

“ครอบครัวผมไม่เหมือนครอบครัวอื่น ผมมีพ่อเป็นทหาร แต่ในครอบครัวมีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และแม่ที่จะไม่เลี้ยงลูกๆ แบบสปอย ฉะนั้นผมจึงได้ทำงานบ้าน ตั้งแต่หุ้งข้าวเตาถ่าน ซักผ้าเอง รีดผ้าด้วยเตาถ่าน ซึ่งแต่ละอย่างมีกรรมวิธีของมัน ทำให้ผมได้เรียนรู้ ได้เข้าใจถึงความละเอียดอ่อน และเข้าใจผู้หญิงมากขึ้น จะไม่ดูถูกผู้หญิงว่างานง่ายๆ แบบนี้ผู้ชายไม่ทำหรอก ให้ผู้หญิงทำไป ตามประสาคนที่มองการทำอาหารเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องของผู้หญิง จู่จี้จุกจิก เพราะจริงๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ อดทน เรียนรู้ ทำให้เราเติบโต และไม่มองอย่างดูถูกเรื่องเพศ”

จนเมื่อเติบโตมามีครอบครัว เขาก็ยังคงทำงานบ้าน งานครัวเอง เมื่อเป็นพ่อป้ายแดง ก็มีโอกาสลางาน 1 เดือนเต็มๆ มาช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ได้ซักผ้าอ้อมให้ลูก ล้างและต้มขวดนมเป็นครั้งแรก จึงทำให้เข้าใจผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดตามลำพัง ว่าทำไมถึงเครียด ซึมเศร้า และทำร้ายลูก เพราะเป็นภาระที่หนักมากจริงๆ ฉะนั้นจึงเห็นด้วยอย่างจริงที่ผู้ชายจะมีสิทธิลางานไปช่วยเลี้ยงดูบุตร

บทเรียนประเทศแถบสแกนดิเนเวียดีถึงไทย

คล้ายๆ แนวทางของประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ที่ผู้ชายมีมุมมองเรื่องคนเท่ากันมากลำดับต้นๆ ของโลก จุดเริ่มต้นมาจากการทำให้ผู้ชายเข้าใจงานบ้าน งานครัว งานเลี้ยงลูก ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้ชายได้ลงมือทำ และมีกฎหมายรองรับ จะสามารถปรับทัศนคติผู้ชายได้ ซึ่งดีกว่าการพูดรณรงค์ว่าผู้ชายต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ เหมือนบางประเทศ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ถึงเป็นต้นแบบประเทศที่มีความเท่าเทียมสูงในโลก

ย้อนดูประเทศไทย จะเด็จมองว่า แม้ความเท่าเทียมหญิงชาย จะมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การที่ผู้ชายต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท เช่น รัฐธรรมนูญอาจระบุว่าผู้หญิงผู้ชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมถึงมีกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงเรื่องความรุนแรงและคุกคามทางเพศ ตรงนี้อาจดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรมารองรับให้ผู้ชายสามารถเปลี่ยนแปลงบทบาทได้เลย เช่น ผู้ชายสามารถลาเลี้ยงบุตรได้ 15 วัน แต่เอาเข้าจริงสามารถลาได้หรือไม่ แม้จะเป็นข้าราชการก็เถอะ

“การให้ผู้ชายได้ลองปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองผ่านการได้ทำงานบ้าน จะนำไปสู่การยอมรับศักดิ์ศรีของผู้หญิงมากขึ้น ว่าจะไม่ปฏิเสธ ไม่รังเกียจ”

คนไทยกับมุมมองคนเท่ากัน

ปัจจุบันแม้คนไทยเจนเนอเรชั่นเบบี้บูมและเอ็กซ์ จะยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุ 35 ปีลงมา เริ่มกล้าพูดกล้ายอมรับว่าตนเองมีแนวคิดเฟมินิสต์ เป็นเฟมทวีต แม้กระทั่งผู้ชายด้วยกัน จากที่แต่ก่อนไม่มีใครกล้าพูด เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นศัตรูกับผู้ชาย

จะเด็จเชื่อว่ากระแสนี้จะทำให้ประเด็นสิทธิความเท่าเทียมต่างๆ ในอนาคตขับเคลื่อนสนุกแน่นอน อย่างเรื่องกฎหมายทำแท้งที่กลุ่มเฟมินิสต์เคยออกมาเคลื่อนไหว ให้ยกเลิกการเอาผิดทางอาญาต่อผู้หญิง เพราะมองว่าผู้หญิงควรมีสิทธิจัดการในเนื้อตัวร่างกายเองได้ แม้สุดท้ายกฎหมายฉบับแก้ไขได้ออกมาประกาศแล้ว และไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องได้ แต่อย่างน้อยได้พบว่ามีคนที่พร้อมจะเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น เข้าใจผู้หญิงมากขึ้น หลายคนยังกล้าที่จะออกมาช่วยส่งเสียง ซึ่งมีความหมายมากต่อการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนใครที่เริ่มสนใจและอยากลองเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มองคนเท่ากัน จะเด็จ แนะนำว่า เริ่มต้นง่ายๆ จากการทำงานบ้าน งานครัวก่อนเลย เพราะการทำงานบ้าน ทำให้เกิดการเรียนรู้ และยอมรับว่างานบ้านงานครัวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากนั้นค่อยๆ เรียนรู้เรื่องความรัก คือการยินยอม เข้าใจต่อกันและกัน ให้เกียรติกัน ความทุกข์ร่วมสุข รับผิดชอบร่วมกัน เผชิญปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องการใช้อำนาจต่อกัน ต้องครอบครองกัน และความรักไม่ใช่มีเพียง 2 เพศ แต่ยังมีความรักท่ามกลางความหลากหลายทางเพศ เหล่านี้จะทำให้ปัญหาความรุนแรง ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ค่อยๆ หมดไป

จะเด็จ เชาวน์วิไล

ผู้ชายที่มองคนเท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image