สร้างรายได้จาก ‘แก่นฝาง’ พืชท้องถิ่นที่ช้างไม่ปลื้ม สู่วัตถุดิบดับกระหาย ทางเลือกเพื่อสุขภาพ

ฝาง

สร้างรายได้จาก ‘แก่นฝาง’ พืชท้องถิ่นที่ช้างไม่ปลื้ม สู่วัตถุดิบดับกระหาย ทางเลือกเพื่อสุขภาพ

“ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานเป็นแนวคิดทฤษฎีที่ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ ซึ่ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.)” ได้น้อมนำมาใช้ในการแก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมในภาคตะวันออก เพื่อให้ประชาชนที่ประสบปัญหาช้างบุกรุกสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยการสร้างป่าในรูปแบบวนเกษตร ป่าครอบครัว ซึ่งพืชที่ปลูกเป็นชนิดที่ช้างป่าไม่กิน หนึ่งในนั้นคือ “ไม้ฝาง” พืชไม้ถิ่นที่โตไว ดูแลไม่ยาก ทั้งยังมีสรรพคุณในตำยาพื้นบ้าน

บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” ระหว่าง  ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) เพื่อนำแก่นฝางมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ภายใต้แนวคิดสนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้ “ไม้ฝาง” เป็นหนึ่งในพืชสร้างรายได้ของชุมชนในอีกทางหนึ่งด้วย ณ นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาว องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมถ์ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี

  นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ดอยคำฯ  กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแก่นฝางในระบบวนเกษตรเป็นวัตถุดิบในภาคตะวันออก ส่งให้กับบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยไม่เบียดเบียนป่าธรรมชาติ แต่จะเป็นวิธีในการสร้างป่าที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน โดยแก่นฝางในพื้นที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ดอยคำจะนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เป็นน้ำสมุนไพร โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้กับทุกคน ปีพ.ศ.2565 นี้

ฝักไม้ฝาง
ไม้ฝาง
ทวีศักดิ์-พิพัฒพงศ์-รักษา-ม.ร.ว.วรากร ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการ ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย

ด้าน นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) เปิดเผยว่า ดอยคำพัฒนาคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับแก่นฝาง ดอยคำได้พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์โดยใช้แก่นฝางเป็นวัตถุดิบเพื่อพัฒนาเป็นนำสมุนไพร วางแผนจำหน่ายในเดือนเมษายนนี้ โดยเล็งเห็นว่าแก่นฝางมีสารสำคัญ จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ พบว่ามีสารสำคัญจำนวน 4 ชนิด โดยตัวหลักคือ สารบราซิลลิน (Brazilin) ซึ่งมีความสามารถในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสรวมถึงเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ ขณะเดียวกันฝางมีรสจืด ทางทีมวิจัยของดอยคำฯ ได้นำมาผสมกับสมุนไพรตัวอื่น ได้แก่ ดอกคำฝอย มะลิ ใบเตย และรากบัว โดยใช้วิธีต้มสกัดเพื่อคงคุณค่าของสมุนไพรไว้ด้วย

Advertisement

ขณะที่ นายรักษา สุนินทบูรณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ กล่าวว่า เพราะช้างป่าบุกรุกทำให้พืชผลของชาวบ้านเสียหาย จึงต้องหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ประกอบกับส่วนตัวสนใจในพืชไม้ฝางเป็นพิเศษเพราะพบในตำรายาพื้นบ้าน และทำการค้นคว้ามาตลอด กระทั่งส่งอีเมล์ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ช่วยวิจัยสารสำคัญในไม้ฝาง และพบว่ามีสารสำคัญถึง 4 ชนิด จึงได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ อาทิ สบู่ฝาง ข้าวหอมมะลิเคลือบฝาง น้ำสมุนไพรฝางสกัดบริสุทธิ์และผสมใบชะมวง ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทว่าพอมีโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวหาย ชาวบ้านขาดรายได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากดอยคำและนำมาสู่ความร่วมมือกันในวันนี้

ปิดท้ายด้วย นางรุ่งทิวา ยางนอก อายุ 47 ปี เกษตรกรชาวจันทบุรีที่ดำเนินตามศาสตร์พระราชา เลี้ยงกบ ปลูกพืชสวน และปลูกไม้ฝางด้วย กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า ตนปลูกไม้ฝางได้ประมาณ 1 ปีแล้ว ดูแลไม่ยากและโตไว ดีใจที่ดอยคำเข้ามาสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากไม้ฝาง เพราะเป็นพืชถิ่นที่ชาวบ้านนำมาต้มรับประทานอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้มกินเพื่อขับน้ำนม และบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน อยากให้ไม้ฝางเป็นที่รู้จักเยอะๆ

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
รุ่งทิวา ยางนอก กับต้นฝาง
รุ่งทิวา ยางนอก กับต้นฝาง

Advertisement
ทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์
ผลิตภัณฑ์จากไม้ฝาง ของวิสาหกิจชุมชนรักษ์ช้างฯ
ฝาง

ทางเลือกเพื่อสุขภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image