ชีวิตต้องสู้ ‘หญิงไทย’ สามีฝรั่ง ‘ดิ้นรน-ปรับตัว’ ถึงจะรอด

ชีวิตต้องสู้ ‘หญิงไทย’ สามีฝรั่ง ‘ดิ้นรน-ปรับตัว’ ถึงจะรอด

“สามีฝรั่ง” ยังคงเป็นภาพฝันของผู้หญิงไทยหลายคน เป็นค่านิยมที่มีอยู่จริง จนหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตกอยู่ในสภาพหมู่บ้านเขยฝรั่ง หลากหลายความเชื่อและความคาดหวัง ว่าสามีฝรั่งจะช่วยยกระดับชีวิตและครอบครัวได้ จะเป็นหน้าเป็นตาแก่วงศ์ตระกูล และอีกต่างๆ นานา

ในความเป็นจริงอาจไม่สวยหรูอย่างที่คิด และยิ่งในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลกด้วย สถานการณ์อาจเปลี่ยน

จงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์ ประธานเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป เผยสถิติคนไทยในยุโรป จากข้อมูลจำนวนคนไทยในต่างประเทศ ปี พ.ศ.2564 ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พบคนไทยพำนักในยุโรป จำนวน 321,431 คน

เมื่อแยกประเทศที่คนไทยพำนักมากที่สุด 7 อันดับ จากข้อมูลจำนวนคนไทยในต่างประเทศ ประจำปี 2563 ของกรมการกงสุล พบว่าอันดับ 1 สวีเดน จำนวน 74,101 คน, อันดับ 2 เยอรมัน จำนวน 59,130 คน, อันดับ 3 สหราชอาณาจักร จำนวน 41,431 คน, อันดับ 4 นอร์เวย์ จำนวน 31,387 คน, อันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 23,000 คน, อันดับ 6 ฝรั่งเศส จำนวน 19,267 คน และอันดับ 7 เดนมาร์ก จำนวน 12,941 คน

Advertisement

จงเจริญ กล่าวว่า ข้อมูลข้างต้นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไทยที่ไปอยู่ต่างแดน ส่วนมากออกไป เพราะต้องการใช้ชีวิตครอบครัวกับสามีฝรั่ง พอมีครอบครัวแล้วเรื่องการทำงานก็ตามมา

“ตลอด 2 ปีที่โควิด-19 ระบาด ทั่วโลกเผชิญกับความยากลำบาก หญิงไทยในยุโรปก็เผชิญเช่นกัน อย่างเรื่องการประกอบอาชีพ ที่มีทำงานตามออฟฟิศ รับทำเอกสารเดินทาง วีซ่า ทำเรื่องตั๋วเครื่องบิน รับแปลเอกสาร พบว่าหญิงไทยบางคนตกงาน บางคนได้รับค่าจ้างลดลง ส่วนอีกหลายคนเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ เช่น ร้านนวด ร้านอาหาร ต้องทยอยปิดตัวลง โดยเฉพาะร้านนวดต้องปิดไปเลย ส่วนร้านอาหารหากปรับตัวให้มีเดลิเวอรี ก็พอไปได้”

อย่างไรก็ดี มีหญิงไทยหลายคนที่สามารถเอาตัวรอดได้ดี จากฝีมือการทำอาหาร มีทั้งทำอาหารส่งขายตามซุปเปอร์มารเก็ต เช่น ปั้นซูชิ ทำเบเกอรี่ ฯลฯ รวมถึงทำอาหารแปรรูปส่งขายทางไปรษณีย์ บางคนก็ไปขายอาหารตามตลาดเปิด จากมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล

Advertisement

ส่วนเรื่องชีวิตและครอบครัว ผู้หญิงไทยและครอบครัวมีความเครียด เนื่องจากต้องใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น ทั้งการดูแลเด็กที่เรียนออนไลน์ สามีที่เวิร์กฟรอมโฮม แต่การระบาดระลอกหลังๆ รัฐบาลแต่ละประเทศค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการ เนื่องจากผู้คนได้รับวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ จะเข้าสถานที่ใดไม่ต้องมาสแกนวัดอุณหภูมิร่างกาย แต่สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเช็กว่าฉีดวัคซีนหรือยัง

“ที่น่าจับตาคือ ช่วงนี้เป็นปรากฏการณ์สามีฝรั่งเสียชีวิต จากโควิด-19 และโรคชรา คือต้องบอกว่าหญิงไทยส่วนใหญ่สมรสกับสามีฝรั่งที่มีอายุมากกว่า ยกตัวอย่างหากสามีอายุ 70 ปี ภรรยาจะอายุประมาณ 50 ปี หากสามีอายุ 50 ปี ภรรยาจะอายุประมาณ 30 ปี เนื่องจากผู้ชายฝรั่งเมื่อถึงวัยเกษียณหรือมีอายุมากแล้ว อยากได้ภรรยาคนเอเชียที่มาดูแล โดยเครือข่ายได้ช่วยหญิงไทยทำเอกสาร เพื่อขอรับเงินบำนาญตกทอดของสามีฝรั่งที่เสียชีวิตแล้วถึง 10 เคส ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา”

นางจงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์

ไม่เพียงปัญหาดังกล่าว เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป ยังช่วยให้คำปรึกษาให้ผ่านพ้นสารพัดปัญหา ตั้งแต่เรื่องการทำวีซ่าและสิทธิพำนัก การสมรสหย่าร้าง จัดการมรดก บุตรบุญธรรม เกณฑ์ทหาร ตลอดจนการติดต่อขอความช่วยเหลืออื่นๆ ระยะหลังที่มีโควิด-19 ระบาด ได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนการเดินทางกลับประเทศไทย เป็นภารกิจช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน ทำโดยไม่มีค่าตอบแทน ขับเคลื่อนโดยพลังจิตอาสา ซึ่งในยุโรปมีเครือข่ายจิตอาสากระจายใน 18 ประเทศ

เธอยังถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวที่มีสามีฝรั่ง และประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือหญิงไทยในต่างแดน ต่อมายาคติการมีสามีฝรั่ง เหมือนการขุดทอง เป็นชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ อาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคน

“ต้องคิดว่าในกุหลาบมีหนามซ่อนอยู่ การขุดทองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีอาวุธขุด ซึ่งหมายถึง ปัญญา ความรู้ ภาษา สิทธิพำนัก ทองคือต้องทำงานเพื่อจะมีเงินส่งให้ครอบครัวที่ไทย แต่ไม่ง่าย หากไม่ได้ภาษา และมีทักษะอะไรหลายอย่าง บางคนบอกอยู่มาหลายปีแล้ว ขับรถไม่ได้ ทำอะไรไม่ค่อยได้เลย กระทั่งจะขอความช่วยเหลือยังไม่รู้จะติดต่อที่ไหน”

“ชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ขุดทอง เกิดขึ้นได้กับคนที่มีต้นทุนชีวิตติดตามไป ที่ไปถึงตรงนั้นเหมือนติดลบหรือเริ่มต้นใหม่ เราต้องไปเทียบวุฒิการศึกษา สอบวัดระดับภาษา คือจะบอกว่าเราต้องช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด ต้องอ่านออกเขียนได้ ปรับตัว ทำให้เขายอมรับให้ได้”

“ไม่อยากบอกว่าไม่ควรไปหรอก แต่เรื่องนี้มันไม่ใช่สำหรับทุกคน ยิ่งความคิดที่ว่าไปตายเอาดาบหน้า สมัยนี้ไม่มีแล้ว เขาจะตายเอาดาบนี้เลย อย่าเชื่อง่าย อย่าหวังสูง ต้องฝากอนาคตกับตัวเอง อย่าฝากอนาคตกับสามี เพราะการมีสามีฝรั่งใช่ว่าประสบความสำเร็จทั้งหมด ผิดหวังก็มี”

ส่วนกรณีจะหวังพึ่งเงินสามีฝรั่งมาส่งเสียครอบครัวที่ไทยนั้น จงเจริญบอกว่า อย่าไปมองว่าอยู่ต่างชาติแล้วจะมีเงินทอง สามีเป็นตู้เอทีเอ็ม จริงอยู่ว่าเขาอาจมีเงินอยู่บ้าง แต่ก็หมายได้หมายความว่ามีไม่จำกัด ต้องบอกว่าเขาได้เปรียบเพราะเขามีรัฐสวัสดิการที่ดี มีเงินบำนาญให้ใช้หลังเกษียณ แต่ของไทยหวังพึ่งเงินบำนาญอย่างเดียวคงไม่พอ ก็อยากให้ครอบครัวที่ไทยเข้าใจ อย่าไปกดดัน เพราะเคยมีกรณีหญิงไทยตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะเรื่องนี้มาแล้ว

ทั้งนี้ หากอยากส่งเงินกลับบ้าน หญิงไทยจะต้องดิ้นรนทำงานหาเงินเอง อย่าไปเพราะมุ่งปอกลอก จะทำให้เกิดภาพลบแก่ผู้หญิงไทย

สนใจสอบถามการย้ายถิ่นฐานไปยุโรป ติดต่อเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป ทางเฟซบุ๊ก facebook.com/twne.europe และไลน์ @twne

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image