สื่อสารตรงๆ แบบสง่างาม ‘คัมภีร์โยนี’ หักล้างทุกมายาคติบิดเบี้ยว

สื่อสารตรงๆ แบบสง่างาม คัมภีร์โยนี (The Vagina Bible) หักล้างทุกมายาคติบิดเบี้ยว

คัมภีร์โยนี “แด่ผู้หญิงทุกคน ที่เคยได้ยินผู้ชายบางคนบ่นเรื่องโยนีของผู้หญิงว่า น้ำมากเกินไป แห้งเกินไป ดำไม่สวย ย้วยเกินไป หลวมโพรกเกินไป ตีบเกินไปดันไม่เข้า มีเซ็กซ์แล้วเลือดออกเยอะเกินไป หรือกลิ่นแรงเกินไป”

ตัวอักษรคำโปรยบนหน้ากระดาษ โบกมือชวนให้ “เหล่าผู้มีโยนี” ที่เจ็บช้ำกับถ้อยคำเหล่านี้ เข้าไปทำความรู้จักกับอวัยวะติดตัวและเรื่องราวโดยรอบให้มากขึ้น แหวกมายาคติ เสริมพลังอำนาจด้วยความรู้ความเข้าใจ

ยามที่มีคนกล่าวถึง “อวัยวะเพศหญิง” และผู้พูดเป็นผู้หญิง เธอมักจะถูกมองว่าเป็นคน “ก๋ากั่น” ต้องผ่านสมรภูมิด้านเซ็กซ์มานับไม่ถ้วน สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมยังมี “มายาคติ” ที่ยึดโยงอวัยวะเพศหญิงเข้ากับ “ความเร้นลับ” เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องอนาจาร เป็นสิ่งที่ต้องกระมิดกระเมี้ยนเวลาเอื้อนเอ่ยถึง

Advertisement

แม้ว่าอวัยวะเพศส่วนนี้จะมีฟังก์ชันหลากหลาย ทั้งในการให้กำเนิด และเป็นหนึ่งในร่างกายมนุษย์ ทว่าฟังก์ชันในการร่วมสังวาส กลับถูกกล่าวถึงมากกว่า และก็เลวร้ายลงไปอีกเมื่อถูกลดทอนไปใช้เป็นคำด่า

หนังสือ คัมภีร์โยนี (The Vagina Bible)
วันเปิดตัวหนังสือคัมภีร์โยนี ฉบับภาษาไทย

มายาคติ กลุ่มก้อนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสังคมไทย แต่ในสังคมของชาวอเมริกันที่ดูเหมือนว่าจะเปิดกว้างเรื่องสิทธิและเพศมากกว่าไทยก็เผชิญกับกำแพงนี้เช่นกัน ดังเช่นหนังสือของ พญ.เจ็น กันเทอร์ ผู้เขียน “คัมภีร์โยนี” (The Vagina Bible) ที่พยายามทุบกะลามายาคติดังกล่าวให้หมดไป ทันทีที่คัมภีร์โยนีฉบับภาษาอังกฤษวางขายสังคมออนไลน์ในอเมริกาก็เจอกับเสียงครหาว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะสมที่จะวางขายได้หรือไม่ เพราะมี คำว่า “วะจายนา” (Vagina) เป็น “คำหยาบ” อยู่บนปกหนังสือ

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ หนังสือของหมอกันเทอร์กลับติดจรวดพุ่งขึ้นเป็นหนังสือขายดีอันดับ 1 ในแคนาดา ทั้งยังติด 1 ใน 5 อันดับขายดีในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยบนหน้ากระดาษ 656 หน้าที่เผยทุกข้อมูลเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงได้ “หักล้างทุกมายาคติบิดเบี้ยวเกี่ยวกับโยนีและช่องโยนี”

Advertisement
พญ.เจ็น กันเธอร์ ผู้เขียนคัมภีร์โยนีต้นฉบับ (ภาพจากทวิตเตอร์ @DrJenGunter)

ในฉบับภาษาไทยตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แม็กพาย แปลโดย “นิธินันท์ ยอแสงรัตน์” ที่พูดถึงการแปลผลงานชิ้นนี้ว่า “สนุกเป็นบ้าเลย” พร้อมเล่าถึงเหตุผลที่ตั้งชื่อว่า “คัมภีร์โยนี” ด้วยไม่ต้องการใช้คำเลี่ยงตามเจตนารมณ์ของผู้เขียน

กล่าวคือในไทยมีคำเรียกอวัยวะเพศหญิงแต่ปัจจุบันมีสถานะเป็นคำหยาบ เช่นเดียวกับคำว่า “วะจายนา” (Vagina) ในภาษาอังกฤษก็ถูกมองว่าเป็นคำหยาบ น่าอาย จึงมีการเลี่ยงไปใช้คำอื่น ไม่ว่าจะเป็น หอย น้องสาว จิ๊มิ อิปิ๊ ซึ่งหมอกันเทอร์ได้เรียกร้องให้ใช้คำเรียกอย่างตรงไปตรงมาเพื่อยืนยันคุณค่าและความสง่างามของอวัยวะเพศหญิง

ทั้งนี้ผู้แปลได้เลือกใช้คำว่า “โยนี” แทนคำเรียกอวัยวะเพศหญิงในภาษาไทย ยืนยันว่าไม่ใช่คำเลี่ยง แต่มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความหมายว่าอวัยวะเพศหญิงและทุกส่วนของอวัยวะเพศหญิง เป็นแหล่งกำเนิดปัญญา และใช้คำว่า “ลึงค์” แทนอวัยวะเพศชาย ไม่ใช้คำว่า “องคชาติ” เพราะเป็นการเชิดชูเพศชายเกินเหตุ

จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในเชิง “ภาษาศาสตร์” ก็ยังมีมายาคติด้านเพศครอบงำความหมาย จึงเป็นการต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศในทางหนึ่ง

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้แปลคัมภีร์โยนี

เมื่อเปิดคัมภีร์จะเจอคำอธิบายการแพทย์อ้างถึงงานวิจัยและข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ลบล้าง “ความรู้” บางอย่างที่ “เชื่อ” มาตลอด อาทิ

“คริตอริสมีขนาดใหญ่กว่าตาเห็นด้วยตามาก และเป็นอวัยวะเดียวที่มีหน้าที่เพื่อความสุขเท่านั้น”

“ภายใน 2 ปีหลังจากรับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ผู้ชายข้ามเพศอาจมีตกขาวและรู้สึกเจ็บช่องโยนี”

ในหนังสือระบุไว้ในบทของความสุขทางเพศ ตอนหนึ่งว่า เป็นเรื่องยากที่จะคุยเรื่องเซ็กซ์แบบมีเหตุผล ทำให้ฝ่ายหญิงมักเสียเปรียบเสมอ นอกจากจะโดนสังคมตราหน้าว่าร่างกายสกปรกแล้ว ยังต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นว่าควรหรือไม่ควรทำอย่างไรให้น่ารักตาม มาตรฐานสังคมชายเป็นใหญ่

ด้วยเหตุนี้จึงมีมายาคติทางเพศมากมายที่บั่นทอนความสุขทางเพศของผู้หญิงให้เหลือเพียงความสุขทางเพศตามมาตรฐานของเพศชาติ อาทิ

ด้วยความเชื่อที่ปลูกฝังมานานว่าผู้หญิงสามารถถึงจุดสุดยอดทางช่องโยนี แต่ความจริงมีผู้หญิงเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่สามารถถึงจุดสุดยอดโดยสอดใส่ลึงค์เพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากคิดว่าตัวเองผิดปกติในการตอบสนองทางเพศ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมผู้หญิงหลายคนแกล้งถึงจุดสุดยอดกับคู่นอนเพศชาย

มายาคติเรื่องเพศก็ส่วนหนึ่ง ยังมีมายาคติเรื่องสุขภาพ ระบุไว้ในบทของตำนานที่ต้องหักล้างเกี่ยวกับโยนี ยกตัวอย่างหัวข้อ “กินยาคุมกำเนิดทำให้อ้วน” เป็นเรื่องไม่จริง อิงจากผลการศึกษาที่ระบุตรงกันว่าการกินยาคุมกำเนิดกับจำนวนน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นไม่เกี่ยวข้องกัน

“ไข่หยกช่องโยนี สอดเข้าไปในช่อง ซึมซับพลังหญิงที่แท้จริง” โฆษณาสินค้าโดยนักแสดงฮอลลีวู้ดที่สะท้อนทัศนคติบรรทัดฐานรักต่างเพศแบบเดิมๆ ที่สอดคล้องกับแนวคิดชายเป็นใหญ่อย่างน่าสิ้นหวัง เพราะช่องโยนีไม่ได้ทำให้ผู้หญิงเป็นผู้หญิง แต่ความรู้สึกข้างในต่างหากที่ทำให้เป็นหญิง ไข่หยกไม่ได้ช่วยเสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้หญิงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดชายเป็นใหญ่และยาปลอมรักษาโรคครอบจักรวาลยังคงมีอิทธิพลครอบงำสังคม แต่ชัดเจนว่าผู้หญิงสามารถติดอาวุธความรู้ด้านสุขภาพเพื่อเสริมพลังอำนาจและรู้เท่าทันเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอคติทางเพศและข้ออ้างทางการแพทย์ได้

และนี่คือ “วาระว่าด้วยเรื่องโยนี”

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้แปลคัมภีร์โยนี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image