วิล สมิธ ทำให้ ความรักกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ ของความรุนแรง

วิล สมิธ ทำให้ ความรักกลายเป็น 'แพะรับบาป' ของความรุนแรง

วิล สมิธ ทำให้ ความรักกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ ของความรุนแรง

คอลัมน์ สรรหามาเล่า

พฤติกรรมรุนแรงของ วิล สมิธ บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม ที่กลายเป็นข่าวดังกระฉ่อนโลก เมื่อพระเอกฮอลลีวู้ดวัย 53 เดินขึ้นไปบนเวทีตบหน้า คริส ร็อก นักแสดงตลกชื่อดังอย่างแรง หลังจากร็อกพูดแซวทรงผมสกินเฮดของ เจดา พิงเก็ตต์ ภรรยาของสมิธที่ป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม กระทั่งตัดสินใจโกนศีรษะ

หลังจากนั้นเมื่อสมิธเดินขึ้นไปรับรางวัลออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง คิง ริชาร์ด สมิธได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเวทีด้วยน้ำตาประโยคหนึ่งว่า “ความรักทำให้เราสามารถทำอะไรที่บ้าบอ” และว่าเขาต้องปกป้องครอบครัว มีนักจิตวิทยามองว่าเป็นการสื่อสารที่ ‘อันตราย’

วิล สมิธ ตบ คริส ร็อก (รอยเตอร์)

โจ หว่อง  ศาสตราจารย์และหัวหน้าแผนกให้คำปรึกษาและจิตวิทยาการศึกษามหาวิทยาลัยอินเดียนา ยูนิเวอร์ซิตี บลูมมิงตัน ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนต้องเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่มันเป็น อย่าปล่อยให้ วิล สมิธ เอาตัวรอดด้วยการอ้างว่ามันเป็นการกระทำเพราะความรัก ทุกครั้งที่เราเอาความรักไปเปรียบเทียบกับการทำร้ายร่างกายหรือความก้าวร้าว มันมีอันตรายที่คำพูดเหล่านั้นสามารถคลุมเครือ สับสนได้”

Advertisement

หว่องให้ความเห็นถึงผู้ชายที่แสดงพฤติกรรมความเป็นชายไม่เหมาะสม อย่างเช่นใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เวลาเห็นคนในครอบครัวถูกทำร้ายว่า ที่จริงผู้ชายเหล่านั้นรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกหยามเกียรติ “ครอบครัว โดยเฉพาะสามีภรรยา มักมองอีกฝ่ายคือส่วนหนึ่งของตน ดังนั้น การดูถูกภรรยา ดูถูกลูกๆ ก็เท่ากับดูถูกตัวเขาเองด้วย”

จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติด้านการวิจัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข พบว่า คำพูดของสมิธบนเวทีออสการ์ คือประโยคที่เหยื่อผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัวต่างคุ้นเคย เพราะมีผู้ชายไม่น้อยที่อ้างว่า ความรุนแรงที่พวกเขากระทำไป เป็นเพราะความรักที่ผ่านมา ความรักจึงกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ ของความรุนแรง

หว่องแนะถึงวิธีทำลายวงจรพฤติกรรมที่ผู้ชายถูกปลูกฝังว่า การแสดงความรุนแรง คือการแสดงออกถึงความเป็นผู้ชายว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งคือ ผู้ผ่านไปมาที่เห็นเหตุการณ์ต้อง ‘ประณาม’ การกระทำที่รุนแรง ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเชิงบวกของผู้ดู

Advertisement

“เป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้ชายต้องบอกว่า พวกเขาจะไม่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำเหล่านั้น นี่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง ที่จะช่วยกันทำลายการแสดงพฤติกรรมความเป็นชายที่ไม่ถูกต้อง”

วิล สมิธ (เอเอฟพี)

โรนัลด์ เลแวนต์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแอครอน ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า ควรมีการปลูกฝังความคิดที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก โดยว่า ที่ผ่านมาเด็กผู้ชายมักถูกสอนจาก พ่อแม่ ครู คนดูแลว่า อย่าร้องไห้ หรือห้ามแสดงอารมณ์ ความรู้สึก แต่ที่จริง “พวกเขาต้องรู้ว่าไม่จำเป็น และพวกเขาสามารถเป็นตัวเอง มันไม่มีชุดของบุคลิกภาพที่ถูกตั้งไว้ล่วงหน้าที่พวกเขาต้องทำตาม”

เลแวนต์บอกว่า ทั้งเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง มีสิทธิแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกได้เท่าเทียมกัน

ขณะที่ วิซดอม พาวเวลล์ รองศาสตราจารย์จิตเวชศาสตร์ที่ยูคอนน์ เฮลธ์ ในฟาร์มิงตัน รัฐคอนเนตทิคัต แนะนำว่า ผู้ใหญ่จำเป็นต้องสอนเด็กผู้ชายให้รู้วิธีแสดงความอ่อนแอ และการใช้คำพูดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งมากกว่าใช้กำลัง

วิล สมิธ กับ เจดา พิงเก็ตต์ สมิธ ภรรยา (รอยเตอร์)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image