สารพัดขวากหนาม ‘เหยื่อข่มขืน’ จริยธรรมผู้นำ กับหนทางสู่ความยุติธรรม

สารพัดขวากหนาม 'เหยื่อข่มขืน' จริยธรรมผู้นำ กับหนทางสู่ความยุติธรรม

สารพัดขวากหนาม ‘เหยื่อข่มขืน’ จริยธรรมผู้นำ กับหนทางสู่ความยุติธรรม

ไม่ง่ายเลยกับการก้าวข้ามความบอบช้ำ ทัศนคติกล่าวโทษเหยื่อของคนในสังคม แล้วออกมาเรียกร้องหามาความยุติธรรม ด้วยความหวังให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ

เป็น ‘ความกล้าหาญ’ ที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากขององค์กรสตรี แต่ก็ยังไม่เพียงพอในเส้นทางที่เรียกว่า ‘กระบวนการยุติธรรม’ ที่มีสารพัดขวากหนาม ถูกตีแผ่ในงานเสวนาหาทางออกเชิงนโยบาย “จริยธรรมของผู้นำ กับหนทางสู่ความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดทางเพศ” จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ โดยสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และภาคีเครือข่าย ณ ห้องประชุมจิตติติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

คีย์เวิร์ดภายในงานพูดถึง ‘จริยธรรมของผู้นำ’ ซึ่ง นางสุนี ไชยรส รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า หมายถึงนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และผู้มีอำนาจ กับบทเรียนการละเมิดทางเพศ ซึ่งกำลังเป็นเรื่องราวที่คนในสังคมพูดถึง มาสร้างความรับรู้และความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ ความจริงในกระบวนการยุติธรรม มุ่งหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

สารพัดขวากหนาม ‘เหยื่อข่มขืน’ จริยธรรมผู้นำ กับหนทางสู่ความยุติธรรม

สารพัดขวากหนามเรียกร้องความยุติธรรม

Advertisement

เริ่มที่ เอ็นจีโอหญิงแกร่งทำงานช่วยเหลือเหยื่อข่มขืนมาหลายสิบปี สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ยกเรื่องราวสุดอึ้งที่ทำเอาเหยื่อหลายคนถึงกับถอดใจ หลังจากไปแจ้งความ

“คุณมีหลักฐานหรือเปล่า คำถามจากพนักงานสอบสวนถึงผู้เสียหายที่ไม่ได้ไปแจ้งความในทันทีหลังเกิดเหตุ พบว่าหลายครั้งผู้เสียหายต้องไปรวบรวมหลักฐานเอง บางรายต้องโทรกลับไปหาผู้กระทำหลอกล่อให้พูดความจริง บางรายติดกล้องกระดุมแอบถ่ายและโดนข่มขืนซ้ำ ทั้งที่ตรงนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจ”

สุเพ็ญศรี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยยอมความไม่ได้ แต่บางสถานีตำรวจที่ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิง ก็ยังมีความพยายามไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายยอมความอยู่ อย่างคำว่า “คุณอายุเกิน 18 ปีแล้ว ผู้กระทำก็อายุเกิน 18 ปี คดีนี้ยอมความได้นะ” บางรายก็ทำเหมือนรับแจ้งความ แต่ไม่ลงเลขคดี

Advertisement

บางเคสที่ที่ผู้กระทำและครอบครัวมีอำนาจและหน้าที่การงานในสังคมสูงกว่า เหยื่อถูกคำพูดท้าทายว่า “ลองคิดดูนะ หากไปแจ้งความ ตำรวจจะเชื่อใคร” เพราะเขามั่นใจว่าตำรวจกับศาลเป็นลูกน้องเขา

กระทั่งเหยื่อที่เป็นคนพิการไปแจ้งความ แต่ไม่มีล่ามช่วยสื่อสารบนโรงพัก เช่น คนหูหนวก ซึ่งเคยเจอกรณีเขียนในคำให้การว่าขอสละสิทธิไม่ดำเนินคดี ทั้งที่เขาสื่อสารไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นเวลาไปแจ้งความแนะนำว่า ให้แจ้งว่าต้องการพนักงานสอบสวนหญิง หากไม่มีก็ติดต่อหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง และคนที่ไว้วางใจ ไปนั่งข้างๆ ด้วย

“จะดีมากหากสถานีตำรวจจะปฏิบัติอย่างเป็นมิตรกับผู้เสียหาย คอยแนะนำขั้นตอน พูดคุยอย่างเข้าใจและระมัดระวังความละเอียดอ่อน และหยุดได้แล้วกับการตั้งข้อสงสัยในตัวเหยื่อ เช่น เรื่องเกิดนานแล้ว ทำไมเพิ่งมาแจ้งความ ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้เสียหายยังคงกล้าหาญและมีกำลังใจต่อสู้ จนสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เมื่อนั้นคนก็จะเกรงกลัวกฎหมายและไม่กล้าทำผิด” สุเพ็ญศรีกล่าว

 

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

 

ปัญหาข่มขืนแก้ไม่สำเร็จเพราะรัฐไม่จริงใจ

ส่วนปัญหาความรุนแรงและความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยที่ยังไปไม่ถึงไหน อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมาจากความไม่จริงใจของภาครัฐ อย่างคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ ไม่สามารถออกนโยบายและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง

นางอุษา กล่าวว่า อย่างเวลามีข่าวข่มขืนแล้วสังคมตื่นตัว รัฐจะตอบสนองนิดหน่อย อย่างปีก่อนพยายามรณรงค์ข่มขืนเป็นวาระแห่งชาติ แต่เป็นการรณรงค์ชั่วครั้งชั่วคราว อย่างนี้ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

อุษาโฟกัสไปที่ ‘ศูนย์โอเอสซีซี’ ตามโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นอีกด่านที่ผู้เสียหายต้องเข้าไปตรวจร่างกายหาร่องรอยการถูกใช้ความรุนแรง ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเท่าที่ควร ปัจจุบันให้บริการเพียงในวันและเวลาราชการ และต้องรอแพทย์เข้าเวรถึงได้ตรวจ แม้ สธ.จะประกาศยกระดับให้เป็นวันสต๊อปเซอร์วิส ผู้เสียหายก็ยังคงต้องเดินทางติดต่อประสานกับตำรวจเองอยู่ดี ก็เป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง

 

ผู้นำต้องมีจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป

ส่วน ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ยอมรับว่าสิ่งที่นางอุษาพูดถึง สทพ.คือเรื่องจริง แต่จากนี้ที่ได้ประธานเป็นคนใหม่ เตรียมจะเสนอให้ขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมกว่านี้ ก่อนจะฉายภาพให้เห็นความสำคัญ ‘ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง’ จะต้องมีจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป เพราะการเป็นบุคคลสาธารณะทำอะไรจะต้องระมัดระวังเสมอ

ดร.ถวิลวดี ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ เวลามีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น เขาพยายามแก้ไขกฎหมาย รวมถึงให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่รัฐสภาเรื่องการคุกคามทางเพศ และมาตรฐานทางจริยธรรมต้องทำอย่างไร และทุก 2 ปีจะต้องอบรมอีกครั้งและติดตามผล แต่ในรัฐสภาไทยไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่

ส่วนในพรรคการเมืองเอง จะต้องมีมาตรฐานจริยธรรมสำนักความรับผิดชอบความเสมอภาคระหว่างเพศ และป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ความเสียหายต่อพรรค และประเทศ หากคนๆ นั้นไปทำงานระดับตัดสินใจระดับประเทศ รวมถึงพรรคการเมืองจะต้องมีความรับผิดชอบ ต่อการเข้าไปทำงานของตัวแทนพรรคในฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะการติดตามตรวจสอบนโยบาย ติดตามงบประมาณ ตลอดจนการสรรหาคนที่จะมาเป็นผู้แทนของประชาชน

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.)

ให้อัยการช่วยอำนวยความยุติธรรม

ด้าน ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด เสนอว่าหากให้อัยการทำหน้าที่ตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวน ปัญหาหลายอย่างจะเบาบางลง

ดร.น้ำแท้ อธิบายว่า เพราะอัยการรู้ว่าเวลาต่อสู้ในชั้นศาล จำเลยต้องสู้เรื่องอะไรบ้าง ฉะนั้นหากเอาคนที่มีประสบการร์ในชั้นศาลมาสอบตั้งแต่แรก จะช่วยลดการพูดซ้ำไปซ้ำมา หรือลดการทำร้ายจิตใจเหยื่อ

ทั้งนี้ อยากเสนอให้มีการสืบพยานล่วงหน้า เหมือนการสอบพยานเด็ก ไม่ต้องรอให้จับผู้ต้องหาได้ก่อนถึงค่อยมาสืบพยาน เพราะการสืบพยานไว้ก่อนแล้วมีการบันทึกไว้ เวลาจับตัวผู้ต้องหาได้ ก็สามารถเอาเทปนั้นมาเปิดได้ ไม่ต้องให้ผู้เสียหายมาฉายซ้ำเรื่องราว เช่นเดียวกับพยานหลักฐาน ก็จะถูกเก็บไว้ ไม่หายไปตามกาลและเวลา จริงๆ ในต่างประเทศได้ให้อัยการมาร่วมในชั้นสืบสวนสอบสวน เป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก

“ส่วนตัวเคยเจอคดีจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว แต่ตัวผู้หญิงไม่กล้ามาเบิกความ เพราะกลัวพ่อแม่รู้ ตามแล้วตามอีกก็ยังไม่มา ทำให้ผู้ต้องหาลอยนวลไป ส่วนอีกรายแต่งงานไปแล้ว มีลูกมีครอบครัวไปแล้ว เหตุการณ์ผ่านไป 5 ปี ก็ไม่อยากมาเบิกความแล้ว เพราะไม่อยากให้สามีรู้ การหน่วงเวลาทำให้ผู้ต้องหาในคดีได้ประโยชน์ ผู้เสียหายเสียประโยชน์ และยิ่งกระบวนการเอาผู้เสียหายมาสืบ หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นไปหลายปี เป็นการสะกิดแผลผู้เสียหาย ฉะนั้นจะต้องออกแบบกฎหมายให้เหมาะสม”

เพื่อลดจุดอ่อนในกระบวนการยุติธรรม ล่าสุดสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และ สธ. ในเรื่องการค้นหาความจริง ซึ่งจะทำให้อัยการสามารถประสานงาน เพื่อค้นหาพยานหลักฐานในทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ หรืออัยการสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน และรับพยานหลักฐานจากผู้เสียหายได้

“จากการทำแบบสอบถามถึงอัยการทั่วประเทศถึงการทำคดีอาญาดังกล่าว พบปัญหาอันดับ 1 ที่ตอบกลับมามากที่สุดคือ การไม่ได้รับความจริงในสำนวน เพราะถูกส่งมาในเวลากระชั้นชิด สอบสวนเพิ่มเติมไม่ได้ อัยการถูกตัดตอนออกจากความจริง จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว” ดร.น้ำแท้กล่าวทิ้งท้าย

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image