แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา

แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา

แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา ปรับมุมมองไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล-ออกมาตรการป้องกัน

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่อนุสาวรีย์ชัยมรภูมิ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการข่มขืน คุกคามทางเพศ ในหัวข้อ “ผีเสื้อผู้กล้า…เราจะยืนเคียงข้างเธอ” ภายในงานมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปกป้องผู้เสียหาย  คนผิดต้องถูกลงโทษ” รวมถึงเสวนา และอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการข่มขืน และการคุกคามทางเพศ

โดย นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์ประเด็นความรุนแรงทางเพศ และข้อมูลผู้มาใช้บริการมูลนิธิฯ พบข้อมูลสอดคล้องกันว่า ปัญหาข่มขืนพบมากที่สุดในปัญหาความรุนแรงทางเพศ ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งถูกกระทำจากคนรู้จักในจำนวนใกล้เคียงกับคนแปลกหน้า สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำอย่างชัดเจน ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่

“ถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องกำหนดจริยธรรมทางเพศให้ชัดเจน และมีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้น เพราะนักการเมืองมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ จะต้องชัดเจนในการไม่ใช้อำนาจในการเอาเปรียบทางเพศ หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อผู้อื่น รวมถึงองค์กรและสถาบันอื่นๆ ด้วย เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรฐานความเท่าเทียมทางเพศในสังคมร่วมกัน” นางสาวจรีย์กล่าว

แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา
แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา
แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา

ภายในงานเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายในคดีล่วงละเมิดทางเพศได้มาบอกเล่าเรื่องราวและการลุกขึ้นต่อสู้ อย่าง เอิน-นลินรัตน์ ตู้ทับทิม ผู้เสียหายคดีล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเคยไปนั่งแสดงข้อความ “หนูถูกครูทำอนาจาร รร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” กล่าวว่า มีคำถามมากมายว่าดิฉันก้าวข้ามผ่านเวลานั้น และลุกขึ้นสู้ได้อย่างไร เพื่อที่จะบอกคนอื่นๆ ว่านักเรียนคนหนึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศจากครูในโรงเรียน ก็อยากบอกว่าวันแรกที่ลุกขึ้นมา เอินก็ไม่เคยก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวดนั้นได้เลย ยังคงตั้งคำถามถึงคุณค่าตัวเองเท่าเดิมไหม เกียรติของผู้หญิงมีค่าอยู่หรือเปล่า กระทั่งเพิ่งก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ได้ในไม่กี่เดือนมานี้เอง ทั้งที่เอินปรากฏตัวตั้งแต่ปี 2563 เพราะการลุกขึ้นมาของคนที่สู้เรื่องนี้มาก่อน ทำให้รู้ว่าไม่ได้มีแค่เอินคนเดียว อีกทั้งเอินเคยถูกทักแชทมาลดทอนเกียรติและศักดิ์ศรีมากมาย ก็ทำให้เอินตอบโตมาเป็นคนที่เอินชอบในวันนี้

Advertisement

ส่วน แอนนา-หทัยรัตน์ วิทยพูม หนึ่งในผู้เสียหายคดีล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหากับ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้กระทำ กล่าวว่า เมืองไทยยังคงพูดว่าเดี๋ยวกฎแห่งกรรมก็ทำหน้าที่ของมันเอง เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ทำหน้าที่ คนทำผิดยังไม่ได้รับผิด ซึ่งมันไม่ถูกต้อง กฎแห่งกรรมไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า เพราะคนกระทำผิด ยังไม่ได้รับการลงโทษ การล่วงละเมิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะผู้กระทำคิดว่ามีอำนาจเหนื่อกว่าจึงกระทำได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าวันนี้จะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะแสงสว่างจากเทียนในมือของพวกเรา มันจุดติดแล้ว กำลังสว่างไสวไปทั่ว

“แอนออกมาตรงนี้ไม่ใช่ในฐานะเหยื่อ แต่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา วันแรกที่แสดงตัวจนถึงวันนี้ไม่เคยอายเลย แต่คนที่อายคือคนที่มีอำนาจที่กระทำเรา เมื่อได้ทำผิดก็ต้องรับการลงโทษ กฎหมายจึงศักดิ์สิทธิ์ ไม่งั้นคนกระทำผิดก็ยังกล้ากระทำผิด ก็อยากให้กำลังใจผู้เสียหายทั้งหลาย ทั้งที่สู้อยู่ สู้เสร็จแล้ว มีพลัง มีชีวิตที่มีความสุขในทุกวัน กลับมาเป็นคุณในเวอร์ชั่นที่มีความสุขที่สุด เชื่อว่าวันนั้นมีอยู่จริง สังคมก็พร้อมโอบกอดคุณด้วย” แอนนา-หทัยรัตน์กล่าว

แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา
แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา
แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา

ด้าน ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดๆ ในสังคมไทยมีหลายเรื่อง อย่างคนบางส่วนที่คิดว่า เมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ แทนที่จะตั้งคำถามคนกระทำผิดให้พิสูจน์ตัวเอง ถามว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ แต่มาตั้งคำถามต่อผู้เสียหายว่าเป็นสาเหตุให้ถูกล่วงละเมิด ตั้งแต่การแต่งตัว การไปตรงนั้นได้อย่างไร สมยอมหรือเปล่า ก็อยากบอกว่าคนที่คิดและแสดงออกอย่างนี้ คุณคือคนที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ ยังดำรงอยู่ในสังคม สังคมเองต้องออกมาช่วยพูดและชี้หน้าคนที่ยังคิดเห็นอย่างนี้

Advertisement

มีคำถามว่าคนล่วงละเมิดผู้อื่นมีภาวะอารมณ์ชั่ววูบ หรือมีอาการทางจิตหรือไม่ ก็อยากบอกว่าคนส่วนใหญ่ที่ล่วงละเมิดผู้อื่นไม่ใช่โรคจิต แต่ปัจจัยที่ทำให้คนกระทำคือ เขาอยู่ในสถานะที่ทำได้ ไม่ว่าจะด้วยเป็นเพศชาย กำลังร่างกาย อายุ สถานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น หัวหน้า ครู อาจารย์  สถานะทางสังคม เช่น ผู้มีชื่อเสียง นักการเมือง

“คนที่อยู่ในสถานะจะล่วงละเมิดทางเพศ เขาคือคนตัดสินใจกระทำ สังเกตจากข่าวล่วงละเมิดทางเพศ มันมีกระบวนการคิด ใคร่ครวญ เลือกเข้าหาคน หาประเด็นมาหลอกล่อ หาสถานที่นัดหมายเพื่อกระทำการ เป็นการคิดใตร่ตรอง ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ”

ดร.วราภรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัจจัยที่ทำให้คนล่วงละเมิดทางเพศยังคงกระทำซ้ำๆ คือ ทำแล้วไม่ต้องรับผลจากการกระทำของตัวเอง ไม่ต้องรับผิด ทำแล้วยังลอยนวล ฉะนั้นต้องสังคมต้องช่วยทุบทำลายวัฒนธรรมการลอยนวลเหล่านี้ให้หมดไป ให้ผู้กระทำต้องรับโทษ ไม่งั้นจะเกิดวงจนอุบาทว์ ปัญหาจะเกิดในสังคมซ้ำๆ

จากนั้นเปิดให้ตัวแทนผู้จัดงานอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการข่มขืน และการคุกคามทางเพศ เรียกร้อง 6 ข้อถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สะท้อนด้วยกรณีผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายกว่า 15 คนเข้าร้องทุกข์ เพราะถูกอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองรายหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดังนี้

1.รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่ยุติปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ชัดเจน ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริง และจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำเนินงานอย่างเพียงพอ

2.หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สำนักตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.)ต้องร่วมมือกัน เร่งปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ให้สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การเสริมศักยภาพบุคลากรให้มีความตระหนัก เข้าใจสภาพปัญหา และมีวิธีปฏิบัติที่ตอบสนองต่อคดีความรุนแรงทางเพศด้วยความละเอียดอ่อน เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้เสียหาย ถือเอาผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งมีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

3.รัฐบาล โดยความร่วมมือระหว่าง ยธ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ควรจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้าน ให้มีหน้าที่สนับสนุนและคุ้มครองผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศให้ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และได้รับการเยียวยาทางสังคมและสุขภาพที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ

4.ทุกภาคส่วนของสังคม ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในหน่วยงาน จากการกระทำของบุคลากรในสังกัด หรือเกิดกับกลุ่มประชากรที่หน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ไม่มองเป็นปัญหาส่วนบุคคล ควรกำหนดมาตรการทั้งเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของบุคลากรที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ออกระเบียบว่าด้วยการจัดการปัญหาและลงโทษผู้กระทำผิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศอย่างชัดเจนและเหมาะสม จัดตั้งกลไกรับเรื่องร้องเรียนและสอบสวนข้อเท็จจริง และมีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง

5.กระทรวงศึกษาธิการควรยอมรับความจริง และให้ความสำคัญต่อการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ตั้งแต่วัยเด็ก

และ 6.ทุกภาคส่วนของสังคม ต้องช่วยกันหยุดยั้งวัฒนธรรมการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นการกล่าวโทษและตีตราผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศ ควรส่งเสริมทัศนคติไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศ ตลอดจนทัศนคติและวิถีปฏิบัติที่สะท้อนถึงการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันของสมาชิกของสังคม

แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา
แอนนา ร่วมเสวนาต่อต้านข่มขืน องค์กรเด็กสตรี ออกแถลงการณ์ให้ รบ.จริงจังแก้ปัญหา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image