พม.ชวนสังคมหยุดกล่าวโทษเหยื่อยั่วยุให้ถูกข่มขืน เดินหน้าสร้างความเข้าใจสิทธิเนื้อตัวร่างกาย

พม.ชวนสังคมหยุดกล่าวโทษเหยื่อยั่วยุให้ถูกข่มขืน เดินหน้าสร้างความเข้าใจสิทธิเนื้อตัวร่างกาย

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเสวนา เรื่อง “คุกคาม ข่มขืน…ภัยอันตรายจากอำนาจในสังคมไทย” ว่า จากกรณีผู้เสียหายความรุนแรงทางเพศทั้งการถูกข่มขืนกระทำชำเรา (Rape) และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทย ทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) การใช้อำนาจและตำแหน่งในหน้าที่การงาน ซึ่งอาจมีการให้คุณให้โทษเพื่อใช้เป็นเหตุในการกระทำความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ ยังมีการตีตราและการกล่าวโทษต่อผู้เสียหาย (Victim Blaming) ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นๆ

พม.โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) มีเจตนารมณ์ที่ไม่ยอมรับและไม่นิ่งเฉยกับการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ จึงมี 5 แนวทางการแก้ไขปัญหาทำความรุนแรงทางเพศต่อสตรี ดังนี้ 1.สร้างความตระหนักว่าการคุกคามทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตน 2.สังคมต้องยุติวัฒนธรรมการกล่าวโทษผู้เสียหาย (Stop Victim Blaming) ว่ามีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้น เช่น การยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงทางเพศโดยการแต่งตัวของผู้ถูกกระทำ หรือการตั้งข้อสงสัยต่อผู้ถูกกระทำที่ไม่ต่อสู้ขัดขืนเมื่อถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น

3.คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยเฉพาะการเยียวยาทางจิตใจของผู้เสียหาย รวมทั้งระบบส่งต่อที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และผู้เสียหายจากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศสามารถเข้าถึงศูนย์ให้คำปรึกษาและการเยียวยาทางจิตใจ โดยทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ทางสายด่วน พม. โทร. 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคมของกระทรวง พม. แอพพลิเคชั่น Line : @linefamily เว็บไซต์ระบบเพื่อนครอบครัว www.เพื่อนครอบครัว.com ของ สค. บริการ 24 ชั่วโมง 4.ปรับเจตคติในเรื่องความเสมอภาค ให้ยอมรับความแตกต่าง เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และไม่กระทำการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

และ 5.ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันยุติการกระทำความรุนแรงทางเพศในทุกรูปแบบ การล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาเชิงสังคมในเรื่องทัศนคติความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงในระบบการศึกษา ทำให้ประชาชนทั่วไปคิดว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นความผิดทางอาญา และเป็นประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อคนในสังคมสำหรับการรับรู้และเข้าใจต่อการคุกคามทางเพศและสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ทั้งในที่ทำงาน ที่สาธารณะ และโลกออนไลน์อีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวง พม. ขอรับรองว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกระทำทุกคน โดยสามารถขอรับความคุ้มครองช่วยจากกระทรวง พม. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image