คุกในโบลิเวีย ผุดโครงการอ่านหนังสือเพื่อลดโทษ แก้ปัญหานักโทษล้นคุก !!!

คุกในโบลิเวีย ผุดโครงการอ่านหนังสือเพื่อลดโทษ แก้ปัญหานักโทษล้นคุก !!!

ทุกปัญหามี ‘ทางออก’ แถมบางครั้งยังเจอ ‘ทางออกสวยๆ’ ด้วย

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก ที่เรือนจำ 47 แห่งในโบลิเวีย หรือ รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย ประเทศในทวีปอเมริกาใต้นำมาใช้อยู่ระหว่างนี้ ที่ใช้ หนังสือ เป็นเครื่องมือ ผ่านโครงการชื่อว่า ‘Books behind bars’ หรือ ‘ หนังสือหลังซี่ลูกกรง’ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขัง มีโอกาสพ้นโทษ ออกจากคุกได้เร็วขึ้น ด้วยการขยันอ่านหนังสือ

รอยเตอร์ รายงานว่า เรือนจำในโบลิเวียได้แรงบันดาลใจจากโครงการหนึ่งในประเทศบราซิล ที่ต้องการเสริมสร้างการอ่านออก เขียนได้แก่ผู้ต้องขัง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความหวังให้แก่บรรดานักโทษ ที่เฝ้ารอการพิจารณาคดีที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า กินเวลายาวนานด้วย

 

Advertisement

จากข่าวเล่าว่า ที่โบลิเวีย ไม่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษประหารชีวิต แต่การฝากขังก่อนเริ่มพิจารณาคดีสามารถกินเวลายาวนานหลายปี เนื่องจากระบบตุลาการที่ดำเนินไปอย่างช้ามาก

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่าระหว่างนี้มีการนำร่องใช้โครงการ ‘Books behind bars’ในเรือนจำ 47 แห่งที่ขาดเงินสนับสนุนด้านการศึกษา สันทนาการ หรือโครงการช่วยเหลือทางสังคมสำหรับผู้ต้องขัง โดยตอนนี้ มีผู้ต้องขัง 865 รายที่เข้าร่วมโครงการ หาเวลาอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน และการเขียน หนึ่งในนั้นมี แจ๊กเกอลีน ที่อ่านหนังสือไปแล้ว 8 เล่มภายในเวลา 1 ปี และสอบผ่านทักษะด้านการอ่านไปแล้ว 4 ครั้ง

Advertisement

“มันยากลำบากสาหัสมากสำหรับคนอย่างเรา ที่ไม่มีรายได้ ไม่มีครอบครัวอยู่ข้างนอก ยกตัวอย่างที่นี่ ยังมีผู้ต้องขังที่เพิ่งเรียนรู้หัดอ่าน หัดเขียนหนังสือกันในนี้ “แจ็กเกอลีน เล่า

นาเดีย ครูซ เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของโครงการ’Books behind bars’ว่าจริงๆแล้ว ต้องการสนับสนุน ปลุกขวัญกำลังใจแก่ผู้ต้องขังระหว่างรอคอยการพิจารณาคดี โดยว่า” นี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะโทษที่ได้ลดนั้น ว่ากันจริงๆก็น้อยมาก ผู้ต้องขังบางรายอาจได้ลดโทษเป็นแค่จำนวนชั่วโมง หรือหลายวัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ ” ครูซ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์

ด้วยค่าแรงวันละ 8 โบลีเวียโน ราว 40 บาท ผู้ต้องขังในเรือนจำที่โบลิเวียต้องทำงานเพื่อแลกอาหารและจ่ายค่าพิจารณาคดีในศาลที่สูงมากเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว

ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่าทัณฑสถาน เรือนจำในโบลิเวีย มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ยัดเยียด ขาดสุขอนามัยที่ดีมาเป็นเวลาช้านาน กระทั่งเคยมีผู้ต้องขังประท้วงเรื่องขาดการดูแล รักษาพยาบาลมาแล้ว

ดังนั้นท่ามกลางปัญหาความยากลำบากต่างๆเหล่านั้น การได้มีโอกาสหัดเขียน หัดอ่านหนังสือ จึงเปรียบเหมือนการได้หลุดออกจากกำแพงคุก อย่างน้อยก็ด้านจิตใจ

เหมือนที่ มิลเดรด ผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงในเมืองลา ปาซ บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า “เมื่อฉันอ่านหนังสือ ฉันรู้สึกเหมือนได้เชื่อมโยงกับจักรวาลทั้งหมด ตอนนั้นทั้งกำแพงและซี่ลูกกรงต่างหายวับไปหมด “

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image