เปิดไอเดียแก้ปัญหา “คนไร้บ้าน” แชร์ค่าที่อยู่อาศัย-รถบัสโฮมเลส

เปิดไอเดียแก้ปัญหา "คนไร้บ้าน" แชร์ค่าที่อยู่อาศัย-รถบัสโฮมเลส

เปิดไอเดียแก้ปัญหา “คนไร้บ้าน” แชร์ค่าที่อยู่อาศัย-รถบัสโฮมเลส

ในยุคโรคระบาดที่มีปัญหาข้าวยากหมากแพงซ้ำเติมอย่างนี้ หลายคนอาจไม่ได้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงรอบข้าง หนึ่งในนั้นคือ “คนไร้บ้าน” (homeless) ที่นับวันออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะชั่วคราวกันมากขึ้น

ถือเป็นสถานการณ์น่าห่วง หากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือและดูแลอย่างทันท่วงที ภายใน 1 ปี พวกเขาจะเริ่มกลายสภาพเป็น “คนไร้ที่พึ่ง” หรือคนที่ใช้ชีวิตที่สาธารณะถาวร หรืออธิบายให้เห็นภาพคือ คนที่เนื้อตัวมอมแมมเดินไปตามท้องถนน คุ้ยถังขยะหาสิ่งของ อาศัยนอนหลับใต้สะพานลอยหรือสวนสาธารณะ เมื่อนั้นการทำงานแก้ไขปัญหาจะยากยิ่งขึ้น

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือ “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉิน บนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน (กลุ่มนำร่อง)” ซึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน อาทิ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมดำเนินการ

 นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดี พส.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า คนไร้บ้านบางคนอาจมีบ้านอยู่ก็ได้ อย่างคนต่างจังหวัดที่เดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ ผ่านมาวันหนึ่งไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ จึงไม่มีเงินค่าเช่าห้อง อีกทั้งบางคนมาแล้วแต่ไม่มีทักษะพร้อมทำงาน เมื่อออกมาแล้วกลับบ้านไม่ได้ เดี๋ยวไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง ขณะที่บางคนถูกล่อลวงเอาทรัพย์สิน บางคนออกมาเพราะรักอิสระ

Advertisement

เหล่านี้ทำให้มีคนออกมานอนตามที่สาธารณะ ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรง ได้ทำให้คนไร้บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เคยสำรวจไว้ 3-4 จุด พบคนไร้บ้าน ประมาณ 1,400 คน คาดว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 300-400 คน

เปิดไอเดียแก้ปัญหา “คนไร้บ้าน”
เปิดไอเดียแก้ปัญหา “คนไร้บ้าน”

เดิมที พส.ประกาศเชิญชวนคนไร้บ้านและคนไร้ที่พึ่ง ให้เข้ามารับบริการทางสังคม และรับการดูแลในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ด้วยต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบ เช่น เข้าออกเป็นเวลา เมื่อขาดอิสระ ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไป จึงต้องปรับวิธีการช่วยเหลือ ทำอย่างไรให้คนไร้บ้านยังสามารถอยู่อาศัยที่เดิมได้ ด้วยวิธี “แชร์ค่าที่อยู่อาศัย” โดยเฉพาะคนไร้บ้านที่ตกงานฉับพลัน จากเดิมต้องจ่ายค่าเช่าเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จ่ายเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 60 เปอร์เซ็นต์ พส.และภาคีเครือข่ายช่วยสมทบให้

นายอนุกูลกล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านย่านหัวลำโพง พบว่าจริงๆ พวกเขาหากมีเงิน ก็อยากนอนที่พักดีๆ ตรงนี้อาจไม่ใช่โรงแรม แต่เป็นห้องราคาถูกที่พวกเขาเคยนอน ในอาคารแห่งหนึ่งบริเวณวัดดวงแข ตกคืนละ 60 บาท ตอนแรกที่พูดคุยมีคนไร้บ้านตอบรับเข้าร่วมโครงการถึง 60 คน แต่พอบอกเงื่อนไขว่าเราไม่จ่ายเป็นเงินสดให้เขา แต่นำไปจ่ายตรงให้ผู้เช่า ทำให้มีคนถอนตัวไปเรื่อยๆ จนเหลือ 8 คน แต่เราก็ยังเดินหน้าโครงการ เข้าใจว่าคงมีการบอกปากต่อปาก ทำให้ขณะนี้มีคนไร้บ้านมาร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 20 คนแล้ว

Advertisement

“ความช่วยเหลือตรงนี้ไม่ใช่เพียงการแชร์ค่าที่อยู่อาศัย แต่เราวิเคราะห์เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นรายเคส เช่น ช่วยหางานให้ ช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่ยืดหยุ่นตามสภาพจริงของเขา สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เริ่มทำมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะประเมินผลเป็นระยะ ขณะที่ระยะยาวผมมองถึงการส่งเสริมการออมของคนไร้บ้าน เพราะไม่ว่าสุดท้ายจะกลับบ้าน หรือวาดฝันชีวิตอย่างไร พวกเขาจะต้องเดินต่อไปได้ ไม่กลับมาเป็นอย่างนี้”

โดยจากผลการดำเนินมากว่า 2 เดือน อธิบดี พส.เล่าฟีดแบ๊กว่า คนไร้บ้านมีความพึงพอใจต่อบริการนี้ ร้อยละ 80 และมีวินัยในการสมทบจ่ายค่าที่พักอาศัย จนนำไปสู่การขยายผลโครงการจัดบริการที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน เฟส 2  ซึ่งมีคนไร้บ้านรายใหม่สนใจเข้าร่วม 9 ราย โดยคาดว่าจะเริ่มจัดบริการให้เข้าอยู่ได้ในเดือนเมษายน 2565 จำนวน 5 ห้อง และจะขยายผลไปยังจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ กาญจนบุรี และขอนแก่นต่อไป

นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดี พส.
เปิดไอเดียแก้ปัญหา “คนไร้บ้าน”

ไม่เพียงเท่านั้น ปีนี้ พส.ยังเตรียมนำวิธีแก้ปัญหาคนไร้บ้านในต่างประเทศ มาปรับใช้ในไทยเป็นครั้งแรก นั่นคือ “รสบัสโฮมเลส” เบื้องต้นกำลังหารือกับภาคเอกชน ขอใช้รถประจำทางปลดระวางมาแปลงสภาพ ทำเป็นที่นอน ที่เก็บของ ขับไปจอดตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีคนไร้บ้านอยู่จำนวนมาก ไปพร้อมรถห้องน้ำเคลื่อนที่ ตรงนี้จะเป็นเสมือนบ้านเคลื่อนที่ ที่ให้ทั้งความปลอดภัย มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน นำไปสู่ความช่วยเหลือต่างๆ ฟื้นฟูจนกว่าเขาจะช่วยเหลือตัวเองได้

“รสบัสโฮมเลส จะเป็นสัญลักษณ์ว่าที่นั่นมีคนไร้บ้านนะ พวกเขาจะได้รับการดูแล จากที่ผ่านมาเคยนอนริมถนน ต่อไปจะมานอนบนรถ ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการแยกแยะและให้บริการช่วยเหลือที่เข้ากับเขาได้” นายอนุกูลกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image