เปิดใจ “หมู พลพัฒน์” 14 ปี อาซาว่า กรุ๊ป ความท้าทายหลัง “โควิด” ความหรูหราในชีวิตประจำวัน

หมู อาซาว่า

เปิดใจ “หมู พลพัฒน์” 14 ปี อาซาว่า กรุ๊ป ความท้าทายหลัง “โควิด” ความหรูหราในชีวิตประจำวัน

คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นไทยมา 14 ปีเต็ม จนสามารถเรียกได้ว่า “หมู อาซาว่า” หรือ “พลพัฒน์ อัศวะประภา” ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป (Asava Group) เป็น “ตัวพ่อ” ของวงการแฟชั่นเมืองไทย ที่ทรงอิทธิพลของเมืองไทย ผู้ปลุกกระแสเสื้อผ้าแบรนด์ไทยสไตล์โก้หรู

หมู อาซาว่า

ชื่อเสียงของอาซาว่า “โลดแล่นอย่างโดดเด่น” มาโดยตลอด เป็นที่ยอมรับและรู้จักดีในวงการแฟชั่นไทยและต่างประเทศ

เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชุดประกวดนางงามไทยบนเวทีโลก ไปจนถึงผลงานออกแบบชุดผ้าไหมไทยให้กับนักร้องสาวชื่อดัง “ลิซ่า – ลลิษา มโนบาล” แห่งวง BLACKPINK เป็นกูรูด้านแฟชั่นเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย และนายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ คนปัจจุบัน

ลิซ่า

ภายใต้การนำของพลพัฒน์ อาณาจักรอาซาว่า กรุ๊ป ศูนย์กลางแห่งไลฟ์สไตล์ ประกอบไปด้วยแบรนด์หลากหลายในเครือ แบ่งออกเป็นแบรนด์แฟชั่น 5 แบรนด์ คือ Asava (อาซาว่า), Asv (เอเอสวี), Uniform by Asava (ยูนิฟอร์ม บาย อาซาว่า), WHITE Asava (ไวท์ อาซาว่า), MOO (หมู) และร้านอาหารอีก 3 ร้าน ได้แก่ Sava Dining (ซาว่า ไดนิ่ง) Co Limited (โค ลิมิเต็ด) และ Co Unilimited (Co Unlimited) ร้านอาหารที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้

Advertisement

“อาซาว่า ก่อตั้งมาครบ 14 ปีแล้ว เราเพิ่งครบรอบไปเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ที่ผ่านมา ถ้านับการทำงานในวงการแฟชั่นเมืองไทย ก็ทำงานมา 15 ปี แต่ถ้ารวมที่อเมริกาและอิตาลีด้วยน่าจะ 20 ปี” พลพัฒน์ หรือ หมู อาซาว่า เผยถึงการเดินทางบนถนนสายแฟชั่น

 

DNA ของ อาซาว่า

Advertisement

สำหรับ DNA ของแบรนด์ ประกอบด้วย “ปรัชญา 5 คำ” ที่มาจากคาแรกเตอร์ ความชอบ ประสบการณ์ต่างๆ วิธีคิด มุมมอง ปรัชญา ของพลพัฒน์  ได้แก่ Urban , Sophisticated, Realistic, Authentic และ Inteligent

“เป็น 5 คำที่เราใช้ตลอดในการทำงาน” หมู อาซาว่าย้ำ

เป็น “ความชัดเจน” ในการทำงานของอาซาว่าที่ “ไม่ไหล” ไปตามกระแส “ฟาสต์แฟชั่น” ที่สมัยนี้ ทุกอย่างต้อง “เร็ว”

“ทุกวันนี้ ทุกอย่างคือการบริโภค ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าใจผิดระหว่างความงามกับความเร็ว ตอนนี้ มันเหมือน คนที่ใส่ก่อน ถ่ายรูปก่อน ลงไอจีก่อน ลงโซเชียลก่อน คือ สวยก่อน เปรี้ยวกว่า โลกมันเปลี่ยนไปแบบนั้น คือ คนที่ได้ซื้อของเร็ว ต้องไปเข้าคิวซื้อของ เพื่อที่จะถ่ายรูปกับของชิ้นนี้ เพื่อจะได้บอกว่า ฉันมีแล้ว ใส่ก่อน กลายเป็นว่า คนพวกนี้เก๋ คือ คนสวย”

“แต่พอเรามองย้อนกลับไปในเรื่องของความงาม มันไม่น่าจะเกี่ยวกับคำว่าสปีด (Speed) หรือความเร็ว จริงๆ ของสวยมันน่าจะเกี่ยวกับคำว่า ไทม์เลส (Timeless) ไร้กาลเวลา ของดี ของสวย แม้ 10 ปีก็ยังสวย หรือ บางที 100 ปี ก็ยังสวย”

อาซาว่า
อาซาว่า

“ฉะนั้น บริษัทแฟชั่นนี้ไม่ได้เชื่อในเรื่องของความเร็วแนวระนาบ แต่เชื่อในแนวดิ่ง ในแนวของการเข้าไปถึงตัวตนของแบรนด์ ของผู้หญิงที่ทำงานด้วย และสุดท้าย หยั่งรากลึกเข้าไปเป็นตัวตนของผู้หญิงคนนั้น เข้าไปนั่งในใจของผู้หญิง เป็นท็อป ออฟ มายด์ (Top of mind) เป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้หญิง”

“ซึ่งตลอด 14 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดคือ ในช่วงโควิดที่ได้รับผลกระทบในบางส่วน แต่เราก็ยังโชคดี เพราะกลุ่มก้อนของเราค่อนข้างชัดเจน และเหนียวแน่นกับเรา ถึงแม้ยอดขายจะลด แต่ธุรกิจก็ยังดำเนินต่อมาได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีช่วงที่กราฟลงบ้าง แต่ภาพรวมของเราก็ถือว่าดีมาก โดยเฉพาะปี 2022 ทุกอย่างมันอัพๆ หมด โดยครึ่งปีแรกของเราดีกว่าปี 2019 ด้วยซ้ำ”

“และปีนี้ เราคิดว่าเราจะจบดีกว่า ปี 2019 ก่อนเกิดโควิด ซึ่งนี่เป็นผลของสิ่งที่เราสร้าง และตอกย้ำมาโดยตลอดว่าเราทำงานกับใคร อยากอยู่กับใคร เรากำลังพูดกับใครอยู่ ผมเชื่อว่า การค่อยๆ พูด ไม่ตะโกน ไม่บีบคั้น ไม่บีบบังคับ มันอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ก็ให้ผลชัดเจนมากกับองค์กร ซึ่งโควิดตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์”

 

ความท้าทายหลัง “โควิด” 

สำหรับพลพัฒน์ วิกฤตโควิด-19 แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ยาก แต่ไม่ยากที่สุด

  “โลกกำลังเปลี่ยนแปลง โควิดเป็นตัวเร่งให้เรามองเห็น จุดเด่นขององค์กร จุดด้อยขององค์กร ผมคิดว่า โลกในวันข้างหน้า เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายหลายๆ อย่าง แน่นอนที่สุด ในเรื่องของเทคโนโลยี จาก web 2 เป็น web 3 เรื่องของการสื่อสารทั้งหมด”

“ทุกครั้งที่มีเรื่องของการปฏิวัติอุตสาหกรรม มันจะต้องมีคนที่สูญเสีย และคนที่ได้รับประโยชน์ เมื่อโควิดมาเป็นสิ่งบอกเหตุแล้ว ถ้ายังไม่ปรับตัว ไม่ขยับตัว ยังไม่รู้ว่า คุณควรจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของโลก ผมว่า ความท้าทายใหม่กำลังก้าวเข้ามา ซึ่งเผลอๆ อาจจะยากกว่าโควิดด้วย เพราะมันเป็นโลกใหม่ที่เราอาจจะไม่คุ้นชิน และถ้าคุณยังทำงานเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม ธุรกิจของคุณก็จะช้าลง เหมือนจะกลายเป็นคนแก่ มันก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เหมือนไดโนเสาร์ ว่าง่ายๆ”

หมู อาซาว่า

 

WHITE เจ้าสาวของอาซาว่า

WHITE Asava (ไวท์ อาซาว่า) เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ของอาซาว่า กรุ๊ป ที่ พลพัฒน์ เล่าว่า เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากลูกค้าประจำที่อยู่ในวัยแต่งงาน และขอให้อาซาว่าทำชุดให้ นับแต่นั้นก็เกิดเป็น “ไวท์ อาซาว่า” ที่ตอบโจทย์ความฝัน ความต้องการ และจิตวิญญาณของผู้หญิงในวันที่สุดแสนพิเศษ ที่มีตั้งแต่เจ้าสาวที่มีความสนุกสนาน อ่อนหวาน เฟมินีน ไปจนถึงเจ้าสาวในสไตล์เรียบโก้คลาสสิก

เจ้าสาวของอาซาว่า มีตั้งแต่ลูกค้าของแบรนด์ทั้งไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงคนเด่นคนดัง ดารา เซเลบบริตี้ทั้งไทยและเมืองนอก อาทิ ก้อย รัชวิน , มิว นิษฐา , รถเมล์ คะนึงนิจ และรวมไปถึงราชวงศ์ต่างประเทศด้วย

“ถ้าใครเคยมาทำงานกับไวท์ อาซาว่าจะรู้เลยว่าละเอียดทุกขั้นตอน เหมือนการสร้างบ้าน บางตัวคือตัดแล้วตัดอีก บางคนคิดว่ากำไรมหาศาล แต่บางทีไม่มีกำไรเลย เพราะเรารื้อแล้วรื้ออีก ด้วยความที่เป็นผ้าขาวเนื้อละเอียด เป็นผ้าไหม บางทีมีรอยนิดหนึ่ง เราก็ทิ้งเปลี่ยนชิ้นเลย”

การตัด “ชุดเจ้าสาว” จึงเป็นอะไรที่พลพัฒน์บอกว่า ไม่ง่าย! เพราะเป็นความฝันของผู้หญิง เดือนไหนต้องตัด 7-8 ชุด คือ สลบ และน้ำหนักลด 2-3 กิโล

หมู อาซาว่า
WHITE Asava 2022 Collection

“เราต้องให้เวลากับมัน ฟิตติ้งเอง คุยกับลูกค้าเอง เหมือนการสร้างบ้าน เพราะทุกอย่างคือคนๆ นั้น อย่างการวัดตัว เราฟิตติ้งบนผ้าดิบ ค่อยๆ วัด ค่อยๆ จัด บางทีเจ้าสาวต้องยืน 3-4 ชั่วโมง แล้วเราก็ค่อยๆ เย็บบนตัวเจ้าสาว ซึ่งอาชีพช่างแพทเทิร์น เป็น 1 ใน 3 ศาสตร์ นอกจากช่างทำนาฬิกาคลาสสิก และสถาปนิก ที่วิวัฒนาการน้อยมากในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เสื้อผ้าเรดดี้ ทูแวร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยังใช้คอมพิวเตอร์เขียนแพทเทิร์นได้ แต่ชุดเจ้าสาวเขียนมือทั้งหมด ปักมือทั้งหมด”

สำหรับ คอลเลกชั่นชุดเจ้าสาวใหม่ “WHITE Asava 2022” ความหลากหลายของนิยามและภาพลักษณ์ของผู้หญิงในแบบฉบับไวท์ อาซาว่า ในซีซั่นนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านซิลูเอทที่มีความหลากหลายและแปลกใหม่ในเชิงโครงสร้าง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิงในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ซิลูเอทที่มีความเฟมินีนอย่างเดรสเปิดไหล่, เดรสเกาะอกทรงบอลกาวน์, เดรสสายเดี่ยวทรงเอไลน์, ไปจนถึงซิลูเอทที่มีความเรียบโก้คลาสสิก

ความพิเศษสำหรับคอลเลกชั่นนี้ คือการเลือกใช้เนื้อผ้าที่มอบความเรียบหรูและผิวสัมผัสที่แตกต่าง ให้เจ้าสาวได้เลือกแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นผ้าที่ให้ผิวสัมผัสเรียบหรูอย่าง ผ้าไหม ผ้าไหมดัสเชส ผ้ามิคาโด้ ผ้าเครป ผ้าชีฟอง ผ้าลูกไม้ฝรั่งเศสในหลากหลายดีไซน์ ตลอดจนการคัดสรรวัสดุใหม่ เช่น คริสตัลจากสวารอฟสกี้ และขนนกกระจอกเทศที่บรรจงปักทีละช่อเพื่อช่วยเพิ่มความพลิ้วไหว และช่วยขับเน้นภาพลักษณ์ความสนุกสนานร่าเริง หากแต่ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบโก้ในแบบฉบับไวท์ อาซาว่า ได้อย่างลงตัว

 

ความสุข-คุณค่า-ยูโทเปีย

พลพัฒน์ บอกว่า เราโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่โมเมนต์ตอนที่ทำ มันไม่ค่อยสุขหรอก ส่วนใหญ่เป็นความเครียดมากกว่า แต่ก็ถือว่าโชคดี เพราะอย่างน้อยถือเป็นความเครียดที่เลือกแล้ว อย่างน้อยเป็นสิ่งที่มีความสุข

“เวลาทำเสื้อผ้าสำหรับผม มันอาจไม่ใช่โมเมนต์ใดโมเมนต์หนึ่ง เพราะวัตถุประสงค์ของผมอาจเป็นเรื่องของภาพใหญ่ การที่เรามีโอกาสปรับเปลี่ยนทัศนคติของคน ให้เห็นว่าความงามคืออะไร สิ่งที่สวยมันควรจะเป็นอะไร มันน่าจะมีความสำคัญมากกว่า เหมือนองค์กรที่ฝังรากวิธีคิดชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมูจิ อิเกีย แน่นอนยอดขายก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทของเรามีคุณค่ากับคนไหม ทำให้ชีวิตคนมีความสุขขึ้นไหม มันอาจจะเป็นยูโทเปียมากกว่าสำหรับผมในการทำงาน”

หมู อาซาว่า

 

ความหรูหราในชีวิตประจำวัน

นิยามที่ “อาซาว่า” อยากส่งต่อ “มุมมอง” ออกไป แล้วส่งอิทธิพลทางวิธีคิด วิถีชีวิต ของผู้คน คือ “นิยามของความหรูหราที่อยู่ในชีวิตประจำวัน Ordinary Luxury”

“Ordinary Luxury คือ ความมีคุณภาพของวัสดุ ของวิธีคิด ของกระบวนการผลิต สุดท้ายแล้วของที่ธรรมดาๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นมาอย่างหรูหรา อย่างซับซ้อน อย่างใช้วัสดุชั้นดี มีชั้นเชิง มันควรจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในทุกๆ วัน”

“ไม่อยากให้คนมองว่า ความหรูหราเป็นสำหรับวันพิเศษ สำหรับวันแต่งงาน สำหรับวันจบการศึกษา สำหรับวันเกิดเท่านั้น แต่กู้ด ดีไซน์ (Good Design) หรือ Good and Ordinary Look มันควรอยู่ในทุกๆ วันของชีวิต และถ้าคุณรู้จักว่า สิ่งไหนมันมีคุณค่า และคุณลงทุนกับสิ่งนั้น การลงทุนกับสิ่งของที่อาจจะราคาสูง แต่เป็นตัวตนที่ชัดเจนของคุณ และมีคุณภาพที่ดี มันอาจจะอยู่กับคุณไป 20-30 ปีเลยก็ได้”

 

5 คำ “หัวใจ” แห่งความสำเร็จ

14 ปีแห่งความสำเร็จของอาซาว่า กว่าจะ “ยืนหนึ่ง” อย่างโดดเด่นเฉกเช่นทุกวันนี้ ต้องผ่านบทพิสูจน์และวิกฤตต่างๆ มามากมาย ทุกประสบการณ์ที่พลพัฒน์ “ตกผลึก” จึง “ล้ำค่า” หากใครฝันอยากเป็นเช่นเขา พลพัฒน์ แนะนำว่า แบรนด์ที่ดีมี 2 ส่วน

  1.ดีเอ็นเอที่ชัดเจน ตัวตนที่ชัดเจน ในสายตาของผู้บริโภคจะต้องรู้ว่าเราคือใคร มาเจอเราทำไม มาเจอเราแล้วเกิดอะไรขึ้น มันทำให้ชีวิตเค้าดีขึ้นอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถเป็น ท็อป ออฟ มายด์ ของผู้บริโภคได้ ในที่สุดแล้วแบรนด์เราก็จะไม่สามารถดำเนินอยู่ได้

“สิ่งที่มันซ่อนอยู่ในความชัดเจน คือ ความต่อเนื่อง การตอกย้ำวิธีคิด การตอกย้ำมุมมอง การตอกย้ำผลลัพธ์ของงาน มันคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์มีความชัดเจน เพราะฉะนั้น แบรนด์ที่ดี ต้องมีความสม่ำเสมอและดำเนินไปได้เรื่อยๆ”

2.ความออแกนิก การทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารัก มันถึงจะดำรงอยู่ได้เรื่อยๆ เพราะสุดท้ายมันเป็นธรรมชาติของเรา เป็นธรรมชาติของวิธีคิด ธรรมชาติของการดำเนินชีวิต ธรรมชาติของการหยิบจับอะไรสักอย่าง พอทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติ มันจะเกิดขึ้น และทุกอย่างมันเป็นวินัย มันก็จะเหมือนมุมมองการดำเนินชีวิต จะไม่รู้สึกว่าทุกอย่างมันถูกบังคับ จับวาง”

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมองหา 2 สิ่งนี้ให้เจอ ความออแกนิก และเอาความออแกนิกมาพัฒนา จนเป็นดีเอ็นเอของแบรนด์ที่มีความชัดเจน 2 อย่างนี้ก็จะช่วยเอื้อให้สุดท้ายแล้วแบรนด์พัฒนาไปได้เรื่อยๆ มีวิวัฒนาการไปได้เรื่อยๆ ถ้าขาด 2 สิ่งนี้ก็ลำบาก”

WHITE Asava 2022 Collection

นอกจาก “ดีเอ็นเอที่ชัดเจน” และ “ทำในสิ่งที่ชอบที่รัก” แล้ว อีก 3 คำ ที่ต้องมีคือ “ใฝ่ ฝัน วินัย”

“วาทกรรมที่คนไทยใช้เยอะคือเรื่องความฝัน แพชชั่น แรงบันดาลใจ ซึ่งก็สำคัญ แต่สำหรับผมขอหยิบยกคำไทย คำนี้มาเสริม ผมชอบคำว่า ความใฝ่ฝัน อย่าฝันอย่างเดียว ในทุกๆ อาชีพ ทุกอย่างที่เราทำ ทุกอย่างที่เราฝัน ถ้าเราไม่ “ใฝ่” ก็จบ”

“คำว่า ใฝ่ในที่นี้มีได้หลายอย่าง ใฝ่ทำ ศึกษาด้วยตัวเอง ใฝ่เรียนรู้ ใฝ่พัฒนา คือ คนฝันอย่างเดียวที่ปราศจากความ ใฝ่ มันเติบโตลำบาก สิ่งที่จะทำให้เราตามหาความฝันของเราเจอ คือ ฝัน กับ ใฝ่ ต้องมาควบคู่กัน”

  “สุดท้าย วินัย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่มีวินัยในการทำงาน ไม่มีวินัยในการคิด ไม่มีวินัยในการใช้ชีวิต มันก็ย่อมจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีไม่ได้” 

“เพราะฉะนั้น 3 คำนี้ เป็นคำที่ผมให้ความสำคัญมากในชีวิตการทำงาน ใฝ่ ฝัน วินัย”

 

5 ชุดที่ “ชอบที่สุด”

สร้างอิมแพคทางความงามผ่าน “งานดีไซน์” ออกแบบชุดให้คนดังมามากมาย หากมี 5 ชุด ที่หมู อาซาว่า บอกว่า ชอบที่สุด และมีความหมายกับเขามากที่สุด

ชุดแรก เป็นชุดที่ทำตอนอายุ 13 ปี เมื่อครั้งเรียนวิชาตัดเย็บ ซึ่งเป็นชุดแรกที่ตัดส่งครู และเป็นชุดแรกที่ปักเข้าไปในหัวใจว่า “ชอบเสื้อผ้า อยากทำเสื้อผ้า”

ชุดสอง เป็นชุดที่ทำให้แม่ ในวันแต่งงานพี่ชาย ตอนนั้นยังอยู่อเมริกา ยังเรียนแฟชั่นอยู่ ก็ส่งสเก็ตทางแฟกซ์และส่งผ้ามาให้แม่ที่เมืองไทย

ชุดที่สาม เป็นชุดแม่อีกหนึ่งชุดที่เพื่อนรักของคุณแม่แห่งห้องเสื้อ Noriko เป็นคนตัด เป็นชุดสีฟ้าที่มีเคปด้านหลัง เรียกว่า ชุดซูปเปอร์แมน

ชุดที่สี่ คือ ชุดทักซิโด้ที่เตรียมให้พ่อก่อนเสียชีวิตเพื่อมาร่วมงาน 10 ปีอาซาว่า ซึ่งเหมือนเป็นงานแต่งงานของเรา ก็เลยจัดชุดทักซิโด้ให้พ่อ แล้วพ่อก็ยอมใส่ และในงานเดียวกันนั้น ก็จัดชุดทักซิโด้ให้ลูกชายด้วย ซึ่งเป็นชุดที่ 5 ที่ชอบ

“ทุกชุดเป็นชุดสำหรับคนใกล้ตัว เพราะสุดท้าย ของที่มีคุณค่ากับชีวิตเรา ก็คือคนที่มีคุณค่ากับชีวิตเรา พ่อแม่ คนที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด” พลพัฒน์กล่าว

ASAVA

 

ความฝันอันสูงสุด

อาซาว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนกลายเป็นองค์กรแฟชั่นเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย อนาคตหลังจากนี้ นับเป็นความท้าทายหลังโควิดที่ยังเป็น “ความฝันอันสูงสุด” ที่เขาอยากเดินไปให้ถึง

“อยากให้องค์กรเติบโตและขยับขยาย โดยสิ่งสำคัญที่สุด อยากให้มุมมองปรัชญาชีวิตของเราออกไปสู่คนหมู่มากให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับอีก 2 อย่าง คือ ความสุขของตัวเอง อยากจะทำงานนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวเราเองยังมีความสุขอยู่”

“สุดท้าย เราอยากให้ตัวเราและองค์กรเรา มีคุณค่ากับคนอื่น มีประโยชน์กับสังคม มีประโยชน์กับคนรอบข้าง มีประโยชน์กับคนที่เป็นลูกค้า มีประโยชน์กับคนที่ไม่ใช่ลูกค้า แม้สิ่งที่เราทำจะไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่มาก เราทำเสื้อผ้า เราทำของขาย เราไม่ได้ทำมูลนิธิ องค์กรพิทักษ์โลก แต่เราก็ยังเชื่อว่า ในสิ่งที่เราทำและมันดูเหมือนไม่มีสาระ แต่ว่าเราก็ทำให้มีสาระได้ ทำให้มันเป็นประโยชน์กับชีวิตคนอื่นได้ ทำให้กับสังคมที่เราอยู่ได้ หรือสังคมที่เราไม่อยู่ได้”

  “เป็นคนฝันใหญ่” พลพัฒน์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image