ดร.สุเมธ เผยทบทวนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ‘ในหลวง ร.9’ ทรงเตือนถึง 3 ครั้ง ให้คนไทยพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

ดร.สุเมธ เผยทบทวนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ‘ในหลวง ร.9’ ทรงเตือนถึง 3 ครั้ง ให้คนไทยพร้อมรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ ปีที่ 6 “ในหลวงผู้ทรงสถิตในดวงใจ” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ช่วงเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 50 รูป จากนั้นมีพิธีถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล นำกล่าวสดุดี และถวายความอาลัย ซึ่งมีบุคลากรโรงพยาบาลศิริราช ประชาชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาเทิดพระเกียรติ หัวข้อ เศรษฐกิจพอเพียง ความตอนหนึ่งว่า เป็นครั้งที่ 6 ที่ผมมาบรรยายเนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม แต่ละปีที่ผ่านไปผมจะทำสิ่งหนึ่งคือ ทบทวนคำสอนของพระองค์ที่เคยผ่านมาแล้ว ปฏิบัติแล้ว มาดูอีกทีว่าได้เรียนรู้อะไรมากกว่าที่รู้หรือเปล่า ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าได้ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดเวลา สามารถใช้ได้กว้างขวางและทุกมิติ

อย่างประโยคพระราชทานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ความว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

Advertisement

“ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช่ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม

“ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

Advertisement

ดร.สุเมธ บรรยายอีกว่า ผมได้อธิบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้ประธานไอเอ็มเอฟฟัง ระหว่างการเดินทางมาประชุมที่ไทย เมื่ออธิบายเสร็จเขาบอกว่าใช่เลยๆ โลกทุกวันนี้กำลังจนมุมแล้ว ทรัพยากรหายไป 1 ใน 3 แล้ว ประชากรเพิ่มขึ้นมา ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกัน ทั้งนี้ ในคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงข้างต้น 13 บรรทัด ทรงเตือนถึง 3 ครั้งคือ ทรงเตือนครั้งที่ 1 เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ แต่ระวังให้ดีพวกเราชอบสับสนตามโลกาภิวัฒน์ พระองค์ทรงสอนให้รู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์ เพราะโลกเปลี่ยน มีทั้งดีและเลว อันที่ไม่ดีไม่ต้องตาม ส่วนอันดีเราตาม เพราะถ้าไม่ตาม เราก็จะถูกดิสรัปชั่น

ทรงเตือนครั้งที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน จะเห็นว่าเมืองนอกและในไทยก็เปลี่ยน อย่างวันนี้เด็กคุยกับผู้ใหญ่ไม่รู้เรื่องแล้ว เพราะเราไม่ได้เตรียมการรับเลย ไม่มีการเชื่อมต่อเลย พ่อแม่ไปทำงานทิ้งเด็กไว้หน้าจอ เวลานี้ต้องยอมรับว่าเลี้ยงลูกยากขึ้นทุกที อย่าว่าแต่การเมือง ลำพังในบ้านเรายังไม่พูดกันเลย

และทรงเตือนครั้งที่ 3 การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งก็จริงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิด ทำให้เกิดความขาดแคลนแย่งชิงหน้ากากอนามัยกัน ทำให้เครื่องบินหายไปจากท้องฟ้า ก็ต้องชมเชยเราที่ตั้งตัวอย่างรวดเร็ว และจริงๆ น่าจะเร็วกว่านี้ หากไม่มานั่งเถียงกัน และการที่ทรงตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาขึ้นมา เพื่อทำในสิ่งที่ราชการทำไม่ได้ คือการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพราะราชการต้องทำตามขั้นตอน ไม่ทำก็ผิด อย่างการช่วยเหลือโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดเราเปิดเว็บไซต์ใหม่ เป็นอีเมอร์เจนซีเว็บไซต์ ทุกอย่างผ่านเว็บหมดเลย ผมเข้าเว็บไซต์ไปอ่านรายละเอียด จากนั้นโทรปรึกษาหมอที่เชี่ยวชาญว่าสมควรให้ไหม แล้วอนุมัติผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ก่อนนำไปสู่การจัดเตรียมของจัดส่งได้ในช่วงตอนเช้า และถึงโรงพยาบาลเลยในช่วงบ่าย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ดร.สุเมธ บรรยายต่ออีกว่า ทรงเขียนด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ไม่ว่าประกอบอาชีพอะไร เราต้องทบทวนจะได้มาสังเคราะห์ให้เห็นเหตุและผลอะไรมากขึ้น จริงๆ ทรงสอนไว้มากมาย อย่างพระราชนิพนธ์ต้องอ่านหลายรอบๆ ยกตัวอย่างพระราชนิพนธ์ ‘ติโต’ ทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ ผู้คนสามารถเห็นต่างกันได้ ส่วนพระราชนิพนธ์ ‘นายอินทร์’ ทรงสอนการปิดทองหลังพระ

สิ่งที่ผมพูดเป็นคำสอนที่ทรงเมตตาพระราชทานมา เพื่อประเทศไทย ผมเป็นสื่อหรือเครื่องอัดเสียง ก็จะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงสอนมาจนไม่รู้จะสอนอะไรแล้ว เหลืออย่างเดียวคือ นักเรียนอย่างพวกเราจะเริ่มปฏิบัติตามบทเรียนที่พระองค์สอนหรือยัง เพื่อตัวเราเองจะได้อยู่รอดในแผ่นดินนี้ มีความสุขพอประมาณ ส่งต่อแผ่นดินให้รุ่นลูกหลานเรา” ดร.สุเมธกล่าว

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image