ครอบครัวไทยเดอะแบก! อ่อนแอเพราะโควิดถาโถม หรือรัฐไม่เหลียวแล

ครอบครัวไทยเดอะแบก! อ่อนแอเพราะโควิดถาโถม หรือรัฐไม่เหลียวแล

ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ด้านประชากร ตั้งแต่สังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ อัตราหย่าร้างสูงขึ้น เมื่อสถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งทางตรงและทางอ้อม สุดท้ายคือประเทศชาติอ่อนแอ

ชวนขบคิดและหาทางออก ในงานประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว : สร้างสุข ทุกพื้นที่ปลอดภัย” จัดโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ที่ประชุมสมัชชาครอบครัวโฟกัสสถานที่สำคัญ 4 แห่งคือ บ้าน สถานศึกษา สถานที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะ หากส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นมิตรกับครอบครัว จะช่วยสร้างความเข้มแข็งได้

ภาพประกอบ

 

Advertisement

  บ้านต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัว

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดี สค. กล่าวว่า การประชุมสมัชชาครอบครัวแห่งชาติจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมรับฟังการสะท้อนปัญหาครอบครัวจากพื้นที่ต่างๆ ก่อนสรุปและผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งปีนี้ต้องถือว่าครอบครัวยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงความกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเครียด และความรุนแรงในครอบครัวตามมา

อธิบดี สค.ย้ำถึงบ้านควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด แต่จากสถิติความรุนแรงพบว่า บ้านเป็นสถานที่เกิดเหตุความรุนแรงสูงสุด โดยมีคนรัก เช่น สามี ภรรยา เป็นผู้กระทำ สร้างบาดแผลทางกายและใจแก่ผู้ถูกกระทำและคนในครอบครัว ฉะนั้นทำอย่างไรบ้านถึงจะปลอดภัย รวมถึงสถานศึกษา ยังคงมีการบูลลี่เพื่อนนักเรียนจนตัดสินใจโดดอาคารเรียน และการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนในโรงเรียน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หากสามารถจัดการดูแลให้ 4 สถานที่นี้ มีความปลอดภัยและมีความเป็นมิตร เชื่อว่าจะทำให้เรียนหรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง ฉะนั้นขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันเปลี่ยนแปลง เริ่มจากตัวเอง

นางจินตนา จันทร์บำรุง

  ครอบครัวไทยเดอะแบก

ด้าน ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งคำถามชวนคิดว่า ครอบครัวไทยจะเข้มแข็งได้อย่างไร หากยังต้องอยู่ในสถานะเดอะแบกทุกอย่าง ทั้งแบกรับการดูแลลูก แบกรับค่าเทอมแพงๆ หากอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ หรือหากอยากให้เรียนโรงเรียนรัฐดีๆ ก็ต้องแย่งกันเข้า

อีกทั้งยังต้องดูแลพ่อแม่ของตัวเองคือ ปู่ย่าตายาย ยิ่งหากมีใครคนใดคนหนึ่งล้มป่วย ก็เหมือนโดมิโน่ที่ล้มกันไปหมด ส่วนตัวมีคนไข้หลายคนที่พอปู่ย่าตายายป่วย ต้องลาออกจากงานมาดูแล ทำให้ตัวเองไม่มีรายได้ ลูกก็ต้องออกเรียนกลางคันเพื่อมาทำงาน

ไหนจะการทำงานสมัยนี้ที่เรียกร้องสูงจนพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก การเป็นพ่อแม่จึงเครียด เหนื่อย เพราะต้องแบกรับภาระหลายอย่าง นี่เป็นเหตุผลทำให้คนตัดสินใจไม่มีลูก หรือหากจะมีลูกก็ต้องกัดฟันสู้กับทุกอย่าง แน่นอนคนพร้อมมีลูกก็มี อาจ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย ที่เหลือก็ลุ่มๆ ดอนๆ ที่อาจไม่พร้อมเต็มที่

ฉะนั้นถ้าจะถามว่าแล้วครอบครัวต้องการอะไร คือต้องการความช่วยเหลือจากโครงสร้างที่ดูแลครอบครัว อย่างการลาคลอดบุตร 6 เดือน แบบที่ยังจ่ายเงินเดือนเต็ม เพื่อจะได้มีเวลาเลี้ยงลูก หรือมีพื้นที่เรียนรู้ดีๆ ค่าบริการไม่แพง หรือมีสวนสาธารณะให้เด็กวิ่งเล่น มีหนังสือนิทานดีๆ ราคาไม่แพง บางครั้งเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวสร้างเองไม่ได้ ต้องพึ่งรัฐซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นรัฐลงทุนกับการสร้างคน ทั้งที่เป็นการลงทุนกับชาติที่มีความหมายที่สุด

ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าวอีกว่า อยากส่งเสียงไปถึงภาครัฐ เห็นความสำคัญการลงทุนด้านครอบครัว อย่าปล่อยให้ครอบครัวต้องกัดฟันสู้เพียงลำพัง ท่ามกลางสถานการณ์สังคมสูงวัย ที่คนสูงอายุไม่มีเงินเก็บ ไม่มีรายได้ ใครจะแบกรับภาระเหล่านี้ นั่นคือพ่อแม่วัยแรงงาน สุดท้ายประเทศไทยจะไปรอดได้อย่างไร

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

  รัฐบาลต้องจัดสวัสดิการครอบครัว

เช่นเดียวกับ นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็มองเช่นเดียวกัน กับสถานการณ์ในประเทศไทยที่เกิดมาหลายสิบปี ไม่ว่าพ่อแม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน หากลูกอยากเรียนโรงเรียนดีๆ ต้องเดินทางไกล ทิ้งปู่ย่าตายายไว้ที่บ้านเลี้ยงเด็กหลังคลอดจนโต อย่างนี้จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็งได้อย่างไรกัน

นางสาวณัฐยา กล่าวว่า จากสถานการณ์ประชากรปี 2564 ที่อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี สะท้อนว่าเราไม่มีทางรณรงค์ให้คนมีลูกเพื่อชาติได้ หากไม่ทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีครอบครัว อย่าง สสส.ที่ทำงานสร้างสุขในที่ทำงานมาตลอด หนึ่งในความสุขนั้นคือ การทำงานและมีครอบครัวที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง อย่างในต่างประเทศที่นางจ้างจัดเดย์แคมป์ให้บุตรของลูกจ้างมาทำกิจกรรมช่วงปิดเทอม โดยมีรัฐบาลคอยสนับสนุนและให้คูปองแก่เด็กๆ ใช้ทำกิจกรรมในเดย์แคมป์ สุดท้ายเป็นการจัดสวัสดิการร่วมกัน ทั้งสวัสดิการเด็ก สวัสดิการแรงงาน และสวัสดิการครอบครัว ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบใหม่ เป็นกิจการเพื่อสังคม

จริงๆ ตัวอย่างดีๆ ในประเทศไทยมีเยอะ อย่างบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ที่ให้สิทธิลาคลอดได้ 6 เดือน โดยให้ค่าจ้างเต็มจำนวน และมีนโยบายซัพพอร์ตครอบครัวพนักงานต่างๆ พบผลลัพธ์ความอยู่ดีมีสุขของพนักงานดีขึ้น พนักงานทุกคนสามารถทำงานแบบไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ทั้งนี้ ใช่ว่านายจ้างจะทำอย่างนี้ได้ทั้งหมด พวกเขายังต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

นางสาวณัฐยา แนะนำว่า สค.ควรเป็นผู้ประสานงานหน่วยงานและองค์กร เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดเรื่องเองนี้ เพราะหากปล่อยให้เขาทำตามศักยภาพ สุดท้ายภาพรวมก็ไม่ได้ผลอยู่ดี

 

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

 

  มติสมัชชาครอบครัว ปี 2565

การประชุมสมัชชาครอบครัวปี 2565 ได้สรุปข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้มีการส่งเสริมให้ครอบครัว ในทุกช่วงวัย มีสัมพันธภาพที่ดี ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน มีพื้นที่ ในการเรียนรู้ของครอบครัวปกติ และครอบครัวเปราะบาง เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

2.ขอให้มีมาตรการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว ส่งเสริมเจตคติและค่านิยมที่ถูกต้อง รวมทั้งปลูกฝังมายาคติ เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งมีกฎหมายส่งเสริมสถาบันครอบครัว

3.ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และนำเสนอสื่อประชาสัมพันธ์ ด้านครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ ทันสมัย และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้และการจัดการความรู้ด้านครอบครัว และ การสื่อสารเชิงบวกกับครอบครัว

4.ส่งเสริมให้มีการศึกษาและการวิจัย ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งครอบครัว การพัฒนาสถาบันครอบครัว สอดคล้องกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

และ 5.ขอให้บรรจุประเด็นด้านครอบครัว ในเทศบัญญัติของท้องถิ่น เพื่อให้มีการพัฒนากลไกชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ องค์ความรู้ในท้องถิ่น

ภาพประกอบ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image