เปิดใจ ’ผู้หญิงถูกเผา’ พิษหึงหวง ผ่านมา 7 เดือน ชีวิตพังทลาย ปัญหาโครงสร้างไร้รัฐเหลียวแล

เปิดใจ ’ผู้หญิงถูกเผา’ พิษหึงหวง ผ่านมา 7 เดือน ชีวิตพังทลาย ปัญหาโครงสร้างไร้รัฐเหลียวแล

อย่าชินชากับคำด่า คำต่อว่า หรือแรงปะทะกันภายในครอบครัว มันไม่ใช่เรื่อง “ลิ้นกับฟัน” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง สะสมรอวันระเบิด

ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นแล้ว ความเสียหายต่างๆ อาจสายเกินกว่าจะเยียวยาและแก้ไข เหมือนเหตุการณ์ของ ‘อุ๋ม-สุรัตนา’ ผู้หญิงที่ถูกอดีตสามีราดน้ำมันและจุดไฟเผาตามร่างกาย โดยอ้างเหตุหึงหวงภรรยา

จากข่าว – ผัวโหดราดน้ำมันใส่เมียจุดไฟเผาพรึบก่อนซิ่งเก๋งหนี

Advertisement

แม้เธอจะรอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นได้ แต่ร่างกายของเธอก็เสียหายอย่างหนัก ผิวหนังชั้นนอกตั้งแต่บริเวณใบหน้า ช่วงตัว ช่วงแขน และมือเสียหายหนัก ต้องพันผ้าขาวปกปิดบาดแผลไว้ตลอด

 

ชีวิตพังทลายในพริบตา

Advertisement

เป็นเวลากว่า 7 เดือน ที่เธอต้องอยู่ในสภาพคล้ายมัมมี่ ที่ต้องพันผ้าก๊อซตั้งแต่หัวไหล่จนถึงเอว รวมทั้งแขนและมือทั้งสองข้าง  แทบขยับตัวไม่ได้ แน่นอนทำให้เธอไม่สามารถกลับไปทำงานหารายได้ได้เหมือนเก่า แต่ภาระต่างๆ ยังถาโถมเข้ามาเหมือนเดิม มิหนำซ้ำยังมีค่ารักษาตัวเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ต้องหามาให้ได้

สุรัตนา เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ทุกวันนี้ได้ลูกชาย ‘น้องเบส’ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง คอยดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำ ทำแผล เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ อีกทั้งมีลุงข้างบ้าน น้องสาวแม่มาช่วยดูแลแทนในวันที่เบสต้องไปเรียน

“ชีวิตพังทลาย สงสารทุกคน ไม่อยากเป็นตัวที่ทำให้เขาต้องเดือดร้อน นึกถึงวันนั้นทีไรก็เจ็บปวด”

“ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ควรเกิดขึ้น เรากำลังสร้างครอบครัวให้มั่งมี ทำมากับมือของเราเอง ลูกก็กำลังส่งเรียน ตอนนี้มองไปข้างหน้าไม่มีจุดหมาย และยังรู้สึกเจ็บทรมานกับบาดแผลตามร่างกาย”

อุ๋ม-สุรัตนา

จากแม่ค้าขายอาหารทะเล วันนี้ต้องมานอนติดเตียง แผลจากไฟไหม้ต้องล้างแผลวันเว้นวัน ทุกครั้งที่ล้างแผลทรมานมาก ปวดแสบปวดร้อนไปทั้งตัว ใช้เวลาในการล้างนาน 2-3 ชั่วโมง เมื่อล้างแผลเสร็จก็ต้องพันผ้าก๊อซ ซึ่งแผลจะเจออากาศร้อนไม่ได้ ทำให้ต้องอยู่ในห้องแอร์ตลอด เพราะถ้าเจออากาศร้อนจะทำให้คัน และอยากเกา ซึ่งถ้าเกาก็จะเป็นแผลอีก

“ทุกข์ทรมานมาก” เธอว่า

ไม่เพียงแผลไฟไหม้ร่างกายครึ่งท่อนบน รวมทั้งใบหน้า แต่หนักที่สุดคือตรงแขนกับมือที่ขยับและช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ ขาก็ใช้การไม่ได้ เนื่องจากกระดูกแตกจากการพยายามกระโดดหนี เงินทองที่หามาได้ก็นำมารักษาตัวจนหมด ซึ่งตอนนี้ แทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว

และแม้จะได้พูดคุยกับครูเอี้ยง-ดวงจิตต์ เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวที่เคยถูกสามีจุดไฟเผาเช่นกัน ที่มาแบ่งปันประสบการณ์การรักษาและใช้ชีวิตว่า หากรักษาอย่างต่อเนื่องสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติภายใน 2 ปี แต่เมื่อมารู้ค่ารักษาที่ต้องใช้เงินถึง 3 ล้านบาท ก็ทำให้เธอแทบหมดกำลังใจ

“มันไกลตัวมาก ตอนนี้ไม่มีรายได้เลย เงินเยียวยาที่ได้มาจากศาล ตอนนี้ก็เหลือใช้จ่ายค่าต่างๆ ในบ้านและค่ารักษาได้อีก 3-4 เดือน พ้นช่วงเวลานั้นไปแล้วก็ไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน” สุรัตนากล่าวน้ำเสียงสะอื้น 

กำลังใจที่เหลืออยู่ตอนนี้ จึงเป็นลูกชายที่คอยดูแล และเป็นแรงผลักดันอยากให้เธอลุกขึ้นอีกครั้ง พยายามขยับตัวไม่ให้ตัวเองเป็นแผลกดทับ พยายามขยับขาเพื่อให้แตะใช้มือถือได้

 

ลูกกตัญญูกับอนาคตที่มองไม่เห็น

เบส ลูกชายของสุรัตนา กล่าวว่า ตอนนี้ต้องดูแลแม่และเรียนไปด้วย โชคดีว่าได้รับทุน กยศ.เป็นค่าใช้จ่ายเล่าเรียน ส่วนเทอมแรกท่านมาเรียนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ จึงดูแลแม่ได้เต็มที่ เว้นหากวันไหนต้องออกไปข้างนอก ก็จะป้อนข้าว ป้อนน้ำ ทำแผลให้แม่ก่อน แล้วพยายามกลับมาหาแม่ให้ทันตอนเที่ยง หรือหากไม่ทัน ก็จะฝากลุงข้างบ้าน หรือน้องสาวแม่มาป้อนอาหาร

ทั้งนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะเทอม 2 ที่กำลังจะเปิด เรียนออนไซด์เป็นส่วนใหญ่ ไหนจะค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีต่อเดือนเป็นหลักหมื่น กับเงินเยียวยาที่กำลังหมดไป ไม่รู้จะทำยังไงจริงๆ

เบสขอความช่วยเหลือพวกอุปกรณ์ทำแผลไฟไหม้ แพมเพิส ผ้าก๊อซรองแผล เพื่อมาทำแผลให้แม่ และหากจะมีใครอยากบริจาคเงินค่ารักษา ก็จะขอบพระคุณมากๆ

ภาพประกอบ

 

ผู้หญิงถูกเผา-ถูกใช้ความรุนแรงตลอด

ด้าน สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งให้การช่วยเหลือสุรัตนา และอีกหลายๆ เคสที่ถูกคู่ชีวิตจุดไฟเผา เล่าว่า กรณีสุรัตนาเป็นความรุนแรงที่ถูกทำซ้ำๆ จนถูกเผาสภาพปางตาย วันนี้เธอดูแลตัวเองไม่ได้ โชคดีมีลูกชายคอยดูแล จะเรียกร้องให้สามีผู้กระทำเยียวยา ก็ไม่มีเงินจ่าย และติดคุกไปแล้ว จะเรียกร้องกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้ามาช่วย ก็อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่

“สุรัตนาไม่ใช่เคสแรกที่ถูกไฟเผาเพราะหึงหวง ยังมีผู้เสียหายอีกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะเป็นเมีย ที่ไม่ยอมกลับไปคืนดีกับสามี ก่อนถูกเผา”

“นี่เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ แสดงความเป็นเจ้าของ โดยมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด อย่างเคสสุรัตนา พบว่าสามีชอบทำร้ายทุบตีมาก่อนแล้ว มีการด่าทอ แล้วโยนความผิดด้วยข้อกล่าวหาว่าคบชู้ โมโหก็ราดน้ำมันใส่ จุดไฟเผา บางเคสไม่เพียงเผาตัวผู้เสียหาย ยังเผาบ้านผู้เสียหายด้วย”

 

รัฐต้องดูแลผู้เสียหายจนกว่า ‘รักษาหาย-จบคดี’

เคสสุรัตนาเป็นข่าวดังเมื่อ 7 เดือนก่อน ช่วงแรกหลายหน่วยงานเข้าไปให้การช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น มอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือครอบครัว มอบสิ่งของยังชีพ

แต่วันนี้ความช่วยเหลือขาดหายไป ไม่มีการติดตามเคสหลังให้การช่วยเหลือ ว่ารักษาบาดแผลหายหรือยัง คดีความจบหรือยัง ซึ่งสุเพ็ญศรีอยากให้ภาครัฐ มีระบบติดตามประเมินผลหลังให้การช่วยเหลือด้วย

“กรณีสุรัตนา ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ลงไปเยี่ยมผู้เสียหาย 2 ครั้งแล้วจบเลย ทั้งที่ตัวสุรัตนายังต้องรักษาตัว ไหนจะค่าเดินทาง ค่ารักษา ค่าเสื้อสำหรับใส่แผลไฟไหม้ซึ่งตัวนึง 2 พันบาท ค่าน้ำ ค่าไฟ แล้วตัวลูกที่เป็นผู้ดูแลอีก จะเรียนอย่างไร ในเวลา 2 ปีของการรักษาเหยื่อไฟเผากว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้ ซึ่งรัฐควรต้องมีระบบติดตามประเมินผล เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายและผู้ดูแลให้ตลอดรอดฝั่ง”

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

 

กฎหมายมีแล้ว แต่ทำงานไม่เป็นมืออาชีพ

นอกจากทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายรายเคส สุเพ็ญศรีพยายามตั้งคำถามว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะกฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมีแล้ว ความรุนแรงทางเพศมีแล้ว แต่ทำไมเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นตลอด

สุเพ็ญศรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายดูแลเรื่องพวกนี้ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมาย ยังไม่มีการทำงานแก้ปัญหาด้วยสติ และบูรณาการกัน เรายังไม่ทำงานแบบมืออาชีพ

“ยกตัวอย่างกรณีมูลนิธิเด็กเอกชนแห่งหนึ่ง ทุบตีทารุณกรรมเด็ก ทั้งร่างกายและจิตใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานแบบมืออาชีพหรือยัง หรือการแก้ปัญหาครบวงจร เพื่อจะคุ้มครองสวัสดิภาพและป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง มันไม่ใช่เพียงออกคำสั่งปิดมูลนิธิ หรือคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเท่านั้น”

สุเพ็ญศรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวเลขความรุนแรงจะลดลงได้อย่างไร ในเมื่อคนตีกันมากขึ้น ฉะนั้นต้องมีบริการทางเลือกให้คนได้เข้าปรึกษา ขอความช่วยเหลือ ก่อนการใช้หรือถูกใช้ความรุนแรง อย่างสิ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรม สค.ทำ คือการประกาศนโยบายศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เป็นงานรณรงค์ให้ความรู้ตลอด

ภาพประกอบ

แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการป้องกันเยียวยา ไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า งานนี้ต้องลงทุน ต้องมีคนที่มีใจพร้อม มีประสิทธิภาพทำงาน แล้วสนับสนุนให้เขาทำงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image