ครบ 2 ปีกฎหมายทำแท้งในไทย ผู้หญิงยัง ‘เจ็บ-อาย’ เข้าไม่ถึงบริการปลอดภัย

ครบ 2 ปีกฎหมายทำแท้งในไทย ผู้หญิงยัง ‘เจ็บ-อาย’ เข้าไม่ถึงบริการปลอดภัย

เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบ 2 การบังคับใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 หรือ กฎหมายทำแท้งใหม่ ที่เปิดให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถตัดสินใจขอเข้ารับบริการทำแท้งปลอดภัยได้

อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถขอรับบริการได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ส่วนอายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ สามารถทำแท้งปลอดภัยได้ ภายใต้เงื่อนไข ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่เสี่ยงได้รับอันตรายต่อสุขภาพ, การตั้งครรภ์คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ, การตั้งครรภ์ที่ทารกจะคลอดออกมาพิการอย่างร้ายแรง, การยืนยันยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนดฯ

หากมองตัวกฎหมาย หลายคนมองเป็นความก้าวหน้าของวงการสิทธิสตรี แต่ในกลุ่มคนทำงานให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม มองต่าง!

ครบ 2 ปีกฎหมายทำแท้งในไทย
นางสาวสุไลพร ชลวิไล

เป็นที่มาของ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับกลุ่มทำทางรวมตัวไปเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งปลอดภัย และพิธีกรวดน้ำคว่ำขัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ณ บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

Advertisement

นางสาวสุไลพร ชลวิไล นักวิชาการกลุ่มทำทาง กล่าวว่า กุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบ 2 ปีกฎหมายทำแท้งใหม่ จริงๆ เป็น 2 ปีที่ควรเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ปรากฏว่าปัญหาที่เคยมีก่อนมีกฎหมาย ก็ยังมีเหมือนเดิม สำคัญคือ สธ.ไม่แจ้งว่ามีสถานพยาบาลของรัฐที่ไหนให้บริการบ้าง คนไม่รู้ว่าจะไปใช้ที่ไหน ตัวสถานพยาบาล 100 กว่าแห่งที่ให้บริการปัจจุบันก็ไม่มีเพิ่ม

กล่าวคือกฎหมายมีความก้าวหน้า แต่ทางปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้นŽ สุไลพรสรุปภาพรวม 2 ปีของกฎหมายทำแท้ง

เครือข่ายพยายามสะท้อนเคสผู้หญิงท้องไม่พร้อมหลายราย ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย บางรายเสียชีวิตที่หอพักหลายวันไม่มีใครรู้ บางรายเสียชีวิตบนรถประจำทางหลังเดินทางไปทำแท้งเถื่อนและไม่สำเร็จ ทั้งที่เทคโนโลยียุติการตั้งครรภ์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก มีความปลอดภัย และแทบไม่มีการเสียชีวิตอีกแล้ว เพียงแต่พวกเธอเข้าไม่ถึงบริการเหล่านั้น

Advertisement
ครบ 2 ปีกฎหมายทำแท้งในไทย

ส่วนยอดผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมบาดเจ็บและเสียชีวิตมีเท่าไหร่นั้น สุไลพรบอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างครอบคลุม ฉะนั้นจึงไม่สามารถตอบในภาพรวมได้ แต่มีข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากการสนับสนุนงบแก่ผู้ใช้บริการยุติการตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อราย ตามสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ พบว่าตัวเลขเสียชีวิตมีหลักหน่วย และช่วงหลังไม่มีการเสียชีวิตจากการทำแท้งแล้ว

ไม่เพียงปม 2 ปีมีกฎหมายทำแท้ง แต่ไม่ปฏิบัติ ทางเครือข่ายยังพุ่งเป้าไปที่นายอนุทิน ที่ล่าสุดเซ็นตัดงบ สปสช. 3,000 บาทข้างต้น จากเดิมที่เบิกจ่ายให้คนทุกกลุ่ม เป็นให้เฉพาะผู้ถือสิทธิใน สปสช. ส่วนแรงงานผู้ถือสิทธิในระบบประกันสังคม และข้าราชการถูกตัดออก

กระทบแรงงานที่ใช้สิทธิประกันสังคมแน่นอนŽ นางสาวสุไลพรกล่าว และเปิดอัตราค่าบริการยุติตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5 พันบาท หากอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ แต่หากอายุครรภ์มากกว่านั้น ก็ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

ครบ 2 ปีกฎหมายทำแท้งในไทย

เครือข่ายยังยื่น 4 ข้อเรียกร้องให้ สธ. ดังนี้

1.ขอให้ สธ.ประกาศรายชื่อสถานบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และรายชื่อหน่วยงานให้การปรึกษาทางเลือกทั่วประเทศให้ประชาชนรับทราบ

2.กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัด สธ. จัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานบริการ

3.กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจัดตั้งหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย มีหน้าที่ส่งต่อผู้รับบริการไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามระบบ

และ 4.สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในฐานะที่เป็นบริการสาธารณสุขพื้นฐานที่จำเป็น ที่จะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

ยื่น 4 ข้อเรียกร้องให้ สธ.

2 ปีที่ผู้หญิงยังคงเจ็บ-อาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image