‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ใน ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ ยูเอ็น ยกย่อง ความยั่งยืนทางแฟชั่น

‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ใน ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ ยูเอ็น ยกย่อง ความยั่งยืนทางแฟชั่น

จากการน้อมนำแนวพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หมู่บ้าน” ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดให้เป็น “หมู่บ้านที่ยั่งยืน” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นความมุ่งมั่น (Commitment) ที่ต้องการให้เกิดการ Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 65 ล้านคนให้สำเร็จก่อนเป้าหมายที่ทุกประเทศสมาชิก UN ตั้งเป้าไว้ในปี 2573 ในทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,058 หมู่บ้าน

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้นำ อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และคณะผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่บ้านเกาะหมู่ที่ 5 ต.โก่งธนู และวัดญาณเสน ต.โก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อ.เมือง จ.ลพบุรี

Advertisement

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พื้นที่บ้านเกาะ หมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู แห่งนี้ เป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเพื่อความยั่งยืนโดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” โดยนำพื้นที่สาธารณะมาปลูกไม้ผลเต็มพื้นที่ และต่อมาด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงน้อมนำเอาสิ่งที่เป็นความสำเร็จของต.โก่งธนู คือ ความมั่นคงด้านอาหาร และน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ -อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา

ในเรื่องของการนำเอาภูมิปัญญาผ้าไทย มาส่งเสริมก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทรงเชื้อเชิญดีไซเนอร์และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะทำงาน และขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือกับ UN เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนได้บริหารจัดการขยะดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ทุกครัวเรือนได้คัดแยกขยะโดยคัดแยกขยะเปียก (Food Waste) เพื่อลงสู่ถัง “ขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งเป็นแนวคิดของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ต่อยอดการหมักปุ๋ยในลักษณะระบบเปิด คือ ทำเสวียน สู่การทำถังขยะระบบปิด ต่อมาจึงเรียกว่า “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน”

“ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงองค์รวมของคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย พระองค์จึงพระราชทานโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และทรงอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยน้อมนำไปขับเคลื่อน โดยมีแรงหนุนเสริมสำคัญจากคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย และคณะ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่ครอบครัวพี่น้องประชาชนในเชิงคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือ ประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง” สุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement
อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา

ด้าน อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนที่นี่ ซึ่งประทับใจอย่างมาก การมาครั้งนี้ทำให้เข้าใจการทำงานในระดับท้องถิ่น ส่วนตัวมีความสนใจเกี่ยวกับการประเมินระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของการผลิตผ้าไทย และวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตของผ้า ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อันจะส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดไปสู่การผลิตผ้าไทยในรูปแบบสีเขียวและได้รับการยอมรับในระดับโลกต่อไป

การมาครั้งนี้ยังได้ติดตามพระกรณียกิจโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่ทรงฟื้นฟูการทอผ้าแบบโบราณ ฟื้นฟูการย้อมสีธรรมชาติ การใช้เส้นใยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไหมหรือฝ้าย โดยมีกลุ่มทอผ้าต้นแบบจาก 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค อาทิ ภาคอีสาน การย้อมสีธรรมชาติจากฮ้อม จาก Donkoi Sustainability Village โครงการที่พระราชทานเป็นต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืน ที่เป็นแนวทางให้พัฒนาทั้งระบบจนประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน มีรายได้รวมต่อเดือนราว 1.7 ล้านบาท ภาคกลาง กลุ่มเยาวชนทอผ้าจากอำเภอเนินขาม จ.ชัยนาท ที่ได้รับพระราชทานแนวทางการพัฒนาสีจากหนังสือเทรนด์บุค มาฟื้นฟูภูมิปัญญาสีธรรมชาติจากบรรพบุรุษ ซึ่งทาง UN เรียกโครงการเหล่านี้ว่า Fashion Sustainability หรือ ความยั่งยืนทางแฟชั่น ที่เกิดจากแนวพระดำริทั้งระบบเพื่อสร้างความยั่งยืนรอบด้าน ในการนำประสบการณ์ด้านแฟชั่นส่วนพระองค์ มาพระราชทานให้กับประชาชน ก่อให้เกิดรายได้และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทยในการทำให้ SDGs สามารถขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น การสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานระดับภูมิภาค และการเสริมสร้างความร่วมมือกับสหประชาชาติจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยและทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคต่อไป” อาร์มิดา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image