‘บาติก โมเดล’ ต้นแบบแฟชั่นยั่งยืน ยูเอ็นชื่นชม ‘ผู้นำสตรีหญิงใต้’ มีส่วนช่วยงานภาครัฐ

‘บาติก โมเดล’ ต้นแบบแฟชั่นยั่งยืน ยูเอ็นชื่นชม ‘ผู้นำสตรีหญิงใต้’ มีส่วนช่วยงานภาครัฐ

จากพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยแนวทางการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) สู่แนวคิด “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อลูกหลานเยาวชนคนนาทับได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบภาคใต้ โดยเยี่ยมชมการผลิตผ้าบาติกพร้อมให้กำลังผู้ประกอบการผ้าบาติก ณ อำเภอจะนะ จ.สงขลา และอ.ยะหริ่ง รวมไปถึง อ.เมือง จ.ปัตตานี

  • กลุ่มมีดีนาทับ ผ้ามัดย้อมบาติกเพนต์

กลุ่มมีดีนาทับ เป็นผู้ประกอบการผ้าบาติก ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” รวมทั้งลายผ้าพระราชทาน มาเป็นเครื่องมือในการประยุกต์ลวดลายผ้าบาติก โดยนำลายผ้าพระราชทานมาตกแต่ง ดัดแปลง ผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิมของกลุ่ม ออกมาเป็นชิ้นงานที่มากด้วยคุณค่าในทางศิลปวัฒนธรรม และเป็นผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความยั่งยืนของผืนผ้า หรือเรียกว่า Sustainable Fashion

Advertisement
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบภาคใต้

ครูจันทิมา สุขเมตตา เล่าว่า กลุ่มผ้ามีดีนาทับ เกิดจากแรงบันดาลใจและแนวคิดที่ว่า “บ้านเรามีดี” เราเป็นเมือง 4 ชาย คือ ชายเล ชายคลอง ชายควน (เขา) และชายนา ซึ่งอยากให้คนทั่วไปได้มาชมความงดงามทางธรรมชาติ และเผยแพร่สร้างการรับรู้ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านผลงานศิลปะบนผืนผ้า จึงได้ริเริ่มการทำผ้ามัดย้อมบาติก ด้วยสิ่งที่มีในตัวเอง คือ “ความรู้ทางศิลปะ” ที่ชอบและได้มุ่งมั่นตั้งใจร่ำเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาโท โดยมีต้นทุนเริ่มต้นจากมรดกสุดท้ายที่ได้รับจากการสูญเสียคุณแม่และคุณพ่อจากผลกระทบเหตุสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ เงินเยียวยาจำนวน 85,000 บาท ด้วยการตั้งปณิธานว่า ต้องการใช้เงินก้อนนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบแทนบุญคุณของท่านที่ให้ชีวิตมา โดยจดทะเบียน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในนาม “ME-D นาทับ” เมื่อมีนาคม 2560 และได้รับอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 พร้อมทั้งได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ 4 ดาว พ.ศ. 2562

“ในปี พ.ศ. 2563 ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ลงมา พร้อมทั้งพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทางกลุ่มมีดีนาทับ ได้น้อมนำมาปรับสร้างสรรค์ใช้กับงานของกลุ่มให้เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มโดยใช้วิธีการทำผ้าบาติกสีธรรมชาติจาก “ใบคนทีสอทะเล” ที่มีอยู่ในพื้นถิ่นแถบชายทะเล นอกจากนี้ กระบวนการทำผ้าบาติกลายพระราชทาน ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ท้องทะเลไทย ป่าแดนใต้ มีการผสมผสานงานพิมพ์ไม้ พิมพ์โลหะ ทับซ้อนหลายชั้น และเทคนิคแคร๊กเทียน เพื่อรูปแบบงานแปลกใหม่ ดูทันสมัย พร้อมการนำวัตถุดิบธรรมชาติ”

Advertisement

ทั้งนี้ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้ความความตั้งใจที่เกิดจาก Passion ประสบความสำเร็จลุล่วงกว่าที่คาดคิด แต่สิ่งที่ได้มากสุด คือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับลูกหลานเด็ก เยาวชนในชุมชน โดยครูจันทิมาได้ถ่ายทอดแนวคิดดีๆ นี้ไปสู่รุ่นลูก นายธณกร สุขเมตตา จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงจลานครินทร์ และกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ด้วยการเป็นครูอาสาที่โรงเรียนบ้านท่าคลอง กระทั่งตอนนี้ โรงเรียนได้บรรจุวิชาบาติกเป็นวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนด้วย

นายธณกร สุขเมตตา เล่าว่า ตั้งใจมาสืบสานด้วยความผูกพัน ซึ่งได้ถ่ายทอดเรียนรู้ไปกับน้องๆ สมาชิกกลุ่ม น้องๆ ทุกคนมีรายได้ ขึ้นอยู่กับระดับคุณภาพงาน ถ้าสร้างสรรค์มากได้มาก ส่วนรายได้ของแต่ละคนเมื่อได้รับแล้ว บางคนแบ่งไปเลี้ยงดูพ่อแม่ 70 เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 30 บางคนอายุ 17 ปี สะสมทองเก็บเล็กผสมน้อยจนได้ทอง 1 บาท บางคนเป็นเสาหลักหารายได้จุนเจือครอบครัว และด้วยพระกรุณาธิคุณ ทำให้ทุกวันนี้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท กลายเป็นเดือนละกว่า 200,000 บาท ซึ่งเราภูมิใจในสิ่งได้ทำให้เกิดงาน เกิดอาชีพ เกิดรายได้ ด้วยสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนของเรา และได้ทำให้เด็กและเยาวชน

ธณกร สุขเมตตา

“นับเนื่องมาแต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ถึงปัจจุบัน 4 ปี พระองค์ทรงชุบชีวิตทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก ทรงทำให้งานศิลปะ งานภูมิปัญญาได้รับการต่อยอดสร้างสรรค์ และเป็นการสร้างสรรค์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือ สร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือในการผลิตชิ้นงาน โดยเราจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ตอบสนองความต้องการลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อทำให้น้อง ๆ ทุกคน คนนาทับทุกคน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายธณกร กล่าว

  • กลุ่มยาริง บาติก

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก เป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกในชุมชน โดยกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน นักเรียน นักศึกษาที่สนใจสามารถเข้ามาทำงานพิเศษได้ตามความถนัดและความสะดวก กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้ดี และเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมแบ่งปันความรู้แก่ชุมชนและผู้ที่สนใจ

ซึ่งผ้าบาติกของกลุ่มเป็นผ้าบาติกที่ใช้ฝีมือในการวาดเขียนลวดลายต่างๆ จากความคิดจินตนาการ หรือเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของพื้นถิ่น และจากการน้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กลุ่มได้ปรับเปลี่ยนแนวทางมาใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า เช่น เปลือกไม้โกงกาง เปลือกตะเคียนทอง เปลือกมะพร้าว ดอกคำแสด ใบสาบเสือ ใบหูกวาง ใบมะม่วง ใบยูคาลิปตัส ฯลฯ มาแต้มลงบนผืนผ้า มีความสวยงาม โดดเด่นไม่ซ้ำใคร โดยได้นำผ้าหลากหลายชนิดมาใช้ในการทำบาติก เช่น ผ้าไหม ผ้าซาติน พร้อมเพิ่มเทคนิคผสมในการทำผ้าบาติก โดยใช้วิธีการพิมพ์ผ้าด้วยบล็อคไม้ผสมผสานการเขียนมือและเทคนิคการแคร๊กเทียน สะบัดเทียน โรยเกลือ

ภายหลังจากได้รับพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนกัญญา พระราชทานแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนาช่องทางการตลาด ส่งผลทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น

คนึงนิตย์ ภัทรพงษ์นพกุล น้องสาวของประธานกลุ่ม ฮัสสือเม๊าะ ดอมะ เผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปทำอาชีพค้าขายที่กรุงเทพฯ กระะทั่งเกิดโควิด-19 ก็กลับมาบ้านและมาช่วยพี่สาวทำผ้าบาติก ซึ่งก่อนที่จะได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กลุ่มก็ใช้สีเคมีมาตลอด ทำให้ไม่ผ้าขายไม่ค่อยได้

“ตอนนั้นวันๆ ตื่นมาคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร คลำทางไม่ถูก แต่เมื่อพระองค์พระราชทานลายผ้า เราก็มีออเดอร์ตามมาจำนวนมาก แล้วก็มีออเดอร์มาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ทำไม่ทัน ซึ่งพระองค์ได้ แนะนำว่า ลายที่พระราชทานให้ ไม่ใช่เอาไปทำโดดๆ แต่ให้นำไปประยุกต์ให้เข้ากับท้องถิ่นของเรา ให้เข้ากับสไตล์ของเรา เพื่อให้เราทำออกมาแล้วขายได้ โดยนำลายของพระองค์มาประยุกต์ ทำให้เกิดชิ้นงานใหม่ที่สวยงาม แตกต่างจากคู่แข่ง โดดเด่นกว่าใคร”

ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการส่งผ้าบาติกลายขอพระราชทานเข้าประกวด จัดโดยกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งทางกลุ่มได้รับรางวัลชมเชย 50 ผืนสุดท้าย จาก 3,000 กว่าผืนทั่วประเทศ จากนั้นก็เข้าประกวดผ้าผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา โดยนำสีธรรมชาติมาแต้มสีทีละช่อง จากสิ่งที่ทำครั้งนี้ ทำให้กลุ่มได้มีโอกาสได้ไปสาธิตการลงสีธรรมชาติต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 3 ครั้ง

คนึงนิตย์ ภัทรพงษ์นพกุล

“จากวันนั้น ถึงวันนี้ทำให้กลุ่มพัฒนามาจนปัจจุบัน ทุกวันเราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง เราก็จะคิดลายใหม่ คิดสีธรรมชาติแบบใหม่ จากที่ตื่นขึ้นมาไม่รู้จะทำยังไง ตอนนี้ คิดว่า จะทำอันไหนก่อนดี เพราะมันเต็มไปหมดแล้ว ทุกวันนี้ ก่อนนอนจะต้องคิดว่า พรุ่งนี้จะทำอะไร เรียงลำดับก่อนหน้าหลัง เพราะถ้าเราวางแผนไม่ดี เราจะทำออเดอร์ส่งลูกค้าไม่ทัน”

คนึงนิตย์ เผยอีกว่า ผ้าบาติกลายพระราชทานทุกลายได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะเป็นลายที่มีคุณค่าทางจิตใจด้วย ใครได้ครอบครองก็ถือว่าเป็นสิริมงคล

“ตอนนี้ มีออเดอร์เข้ามา มีทั้งสั่งแบบเป็นเสื้อทีมก็มี สั่งในเพจให้เป็นของขวัญที่ระลึก ผ้าบาติกของเราเป็นของฝากของอำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี เวลาปีใหม่ เกษียณ หรืออะไรก็แล้วแต่ ลูกค้าจะนึกถึงผ้าเรา ผ้าเราจะกลายเป็นของขวัญไปแล้ว ทำให้รายได้ที่แต่ก่อนจำหน่ายได้ผืนละ 600-700 บาท ตอนนี้ เมื่อเราพัฒนาฝีมือขึ้นมา ถ้าเป็นสีบาติกเคมี เราก็ขายได้ 1500-1800 แต่ถ้าเป็นสีธรรมชาติ จะได้ 2500-5000 บาท ราคาสูงที่สุด 10,000 บาท”

ผ้าที่ได้รับรางวัลของกลุ่มยาริง บาติก

ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยของกลุ่มเดือนละ 40,000-60,000 บาทต่อเดือน

“ที่ดีใจคือรายได้ที่ให้กับชุมชนที่มาทำงานกับเรา เค้าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนนึง 3,000-5,000 บาท เด็กๆ ในชุมชน ก็มีรายได้ มีเงินใช้จ่ายค่ารถโรงเรียนเอง ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่มาก แล้วแถมยังได้ความรู้กลับไปอีกด้วย ได้มาฝึกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสร้างจินตนาการให้เด็กๆ แถวนี้ในชุมชน”

จากพระมหากรุณาธิคุณ คนึงนิตย์ พูดด้วยน้ำเสียงตื้นตันว่า “ขอบคุณพระองค์หญิง ที่มอบโอกาสดีๆ มอบลายผ้าพระราชทาน ทำให้ยาริงบาติก กลุ่มของเรา ชุมชนของเรา มีรายได้เพิ่มคุณ ก็มีความสุขกัน และนอกจากพวกเรามีความสุข คนที่ซื้อผ้าเราไป เค้าได้ใส่เค้าก็ภูมิใจ ดีใจจังเลยได้ผ้าสวย เพราะลายพระราชทาน คล้ายๆ กับว่าเป็นลายลิขสิทธิ์ ก็จะมีเฉพาะกลุ่มที่เป็นโอทอปเท่านั้นที่จะทำได้ ไม่ใช่หาซื้อได้ง่ายๆ พอได้ไป ก็เหมือนมีคุณค่าทางจิตใจกับเค้าด้วย เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น”

  • ยูเอ็นชื่นชมแฟชั่นยั่งยืน

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ “กีต้า ซับบระวาล” ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของจังหวัดปัตตานี โดย ผู้ประสานงาน UN กล่าวว่า ทาง UN ให้ความสนใจประเด็นบทบาทการนำของสตรีในจังหวัดปัตตานี โดยมี “พาตีเมาะ สะดียามู” ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีหญิงท่านแรกของจังหวัด มีส่วนที่เป็นผู้ขับเคลื่อน เรื่องประเด็นการส่งเสริมบทบาทสตรีให้เป็นผู้นำทั้งในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นต่อการยับยั้งปัญหาการค้าผิดกฎหมาย การลักลอบทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ซึ่งจากรายงานและข้อมูลที่ UN ได้ศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้นำสตรีมีส่วนช่วยการดำเนินงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“เรื่องสำคัญในการลงพื้นที่ คือ แนวคิดการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) สู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ในด้านการกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตได้ในอุตสาหกรรมผ้าไทย ซึ่งจ.ปัตตานีมีชื่อเสียงในเรื่องผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ เป็นต้น จนทำให้เวทีสำนักงาน UN ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จะมีการหยิบการนำเอาองค์ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมผ้าที่ผลิตได้อย่างยั่งยืนลดโลกร้อนมานำเสนอ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยต้องขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้นำองค์ความรู้ต่างๆ มาถ่ายทอดให้ UN ได้สัมผัสเรื่องราวความสำเร็จเหล่านี้เพื่อเป็นแนวทางสร้างความมั่นคงความยั่งยืนและอาชีพต่างๆ ต่อไป” ผู้ประสานงาน UN กล่าว

พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image