กาแฟ ‘น่าน’ มาแรง! สเปเชียล คอฟฟี่ ปักธงพากาแฟไทยไปเวทีโลก

กาแฟ ‘น่าน’ มาแรง! สเปเชียล คอฟฟี่ ปักธงพากาแฟไทยไปเวทีโลก

การเติบโตของ “กาแฟในประเทศไทย” ถูกพัฒนาและต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน ทำให้การพูดถึง “คุณค่าของกาแฟไทย” จึงมีมากกว่าเรื่องของตัวเลข และราคา

ล่าสุด ในการจัดเทศกาลเพื่อคนรักกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Thailand Coffee Fest 2023 ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5-8 เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “Good Coffee for Everyone” เพื่อสร้างกาแฟที่ดีต่อทุกคนและโลกไปด้วยกัน พร้อมยกระดับวงการ ‘กาแฟพิเศษ’ ไทยสู่ตลาดโลก ตั้งเป้าหนุนตลาดกาแฟพิเศษโตอย่างยั่งยืน พร้อมประกาศเดินหน้าสู่การเป็น Coffee Hub of Asia ใน 3 ปี

กรณ์ สงวนแก้ว อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวว่า ความนิยมบริโภคกาแฟของคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบันการดื่มกาแฟกลายเป็นกิจวัตรและไลฟ์สไตล์ของคนไทย โดยพบว่าสถิติการบริโภคกาแฟของคนไทยมีเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว จาก 180 แก้วต่อคนต่อปี เป็น 300 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรปที่ดื่มกาแฟกันมากถึง 600 แก้วต่อคนต่อปี จึงทำให้ตลาดกาแฟในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีก รวมถึงกระแสความนิยมของ Specialty Coffee หรือกาแฟพิเศษที่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การจัดงาน Thailand Coffee Fest ที่ถือเป็นเทศกาลกาแฟแรกที่มีการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ในคุณค่าและความพิเศษของกาแฟพิเศษสัญชาติไทย

Advertisement
กรณ์ สงวนแก้ว อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

โดยปัจจุบันพบว่า กระแสความนิยมกาแฟพิเศษในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปัจจุบันภาพรวมตลาดกาแฟพรีเมียม อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท คิดเป็น Specialty Coffee ประมาณ 2,000 ล้านบาท (ราว 10% ของทั้งหมด) และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยกาแฟพิเศษ ที่คัดสรรเพื่อได้เมล็ดที่มีคุณภาพก่อนนำไปผ่านกระบวนการแปรรูป และคั่วอย่างมีหลักการ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายก็คือกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะตัว และให้รสสัมผัสที่แตกต่างจากกาแฟปกติ ส่วนราคาขายก็สูงขึ้นเท่าตัวจากกาแฟทั่วไป โดยในปีนี้ 3 รางวัลใหญ่ตกเป็นของผู้ชนะจากแหล่งปลูกบ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน ทั้ง 3 Process ประกอบด้วย นภาพร กำเนิดมงคล ผู้ชนะ Natural Process, วิชัย กำเนิดมงคล ผู้ชนะ Washed Process และ สรพงษ์ จิรนันทนุกุล ผู้ชนะ Honey Process ตอกย้ำว่าแหล่งปลูกบ้านมณีพฤกษ์ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เป็นแหล่งปลูกกาแฟพิเศษ หรือ Specialty Coffee ที่มาแรง และมีคุณภาพโดดเด่น จนสามารถพิชิตใจกรรมการและเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศจนสามารถสร้างสถิติคว้า 3 รางวัลใหญ่ โดยสามารถทำราคาประมูลได้สูงถึง 10,010 บาทต่อกิโลกรัม

3 รางวัลใหญ่ตกเป็นของผู้ชนะจากแหล่งปลูกบ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน

“ในอดีตคอกาแฟมักจะคุ้นเคยกับกาแฟจากบราซิล, เอธิโอเปีย, กัวเตมาลา และโคลอมเบีย แต่ปัจจุบัน Specialty Coffee ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นกาแฟดาวรุ่งที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดในประเทศ และต่างประเทศ” อุปนายกสมาคมกาแฟฯ กล่าว

Advertisement

ภายในงานมีเสวนา เรื่อง “คุณค่าของกาแฟพิเศษไทยของคุณคืออะไร” มีหลากหลายมุมมองที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างน่าสนใจ

เริ่มจาก “ลี-อายุ จือปา” ผู้ก่อตั้ง Akha Ama Coffee ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำกาแฟต้นน้ำของไทย บอกว่า สิ่งที่ทำมาตลอดและรับรู้ได้จากทั้งตนเองและคนรอบข้าง พบว่าทุกคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมไปถึงคุณภาพของพื้นที่ แหล่งเพาะปลูก และการจัดการด้านการเกษตรก็ดีขึ้น นั่นหมายถึงคุณค่าของกาแฟที่ไม่ใช่มีดีแค่การนำมาชงแล้วอร่อย แต่ต้องดีตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นคุณค่าที่ได้เข้าไปอยู่ในทุกบทบาทชีวิตของกลุ่มต้นน้ำ และเชื่อว่ากลุ่มกลางน้ำเองไปจนถึงปลายน้ำ ก็น่าจะสัมผัสคุณค่าได้เยอะเช่นกัน

“ในส่วนของต้นน้ำ มีการพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มสายพันธุ์กาแฟที่มีโอกาสพัฒนาต่อได้ ทำให้สายพันธุ์กาแฟในบ้านเรามีให้เลือกมากมาย และมากกว่าเมื่อ 15 ปีก่อน จากที่คนเคย cupping กาแฟไทยแล้วบอกว่าไม่อยากกินเท่าไหร่ เพราะว่ามีแค่สายพันธุ์เดียวคือ คาติมอร์ (Catimor) แต่ ณ วันนี้ คนอยากชิมกาแฟไทยมากขึ้น นั่นแปลว่าได้เกิดคุณค่าขึ้นแล้วจริง ๆ และเป็นคุณค่าที่เกิดจากการทำงานหนักของทุกคน” ลี-อายุ จือปา กล่าว

ด้าน “วรัตต์ วิจิตรวาทการ” ผู้ก่อตั้ง Roots หนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทในการพัฒนาวงการกาแฟพิเศษไทย กล่าวว่า เชื่อว่าวิธีหนึ่งในการเพิ่ม value ให้กับกาแฟในมุมของผู้บริโภค คือโอกาสที่เขาได้เข้าไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต ให้เขาได้รู้ว่ากว่าจะได้กาแฟมาหนึ่งแก้วนั้น ผู้ปลูกกาแฟหรือเกษตรกรต้องเหนื่อยยากเพียงใด ตั้งใจมากแค่ไหน ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะออกมาดีได้ ซึ่งไม่ได้ทำกันแค่ปีเดียว แต่การจะโปรโมทในเชิงท่องเที่ยวเพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและเห็นถึงคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ อาจจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนจริงๆ ความท้าทายต่อไปนั้น โดยส่วนตัวมีความตั้งใจที่จะสร้างให้เห็นว่ากาแฟไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งทำมาระยะหนึ่งแล้ว

ปิดท้ายกับ “กิตฐนพงษ์ โรจนบวร” ผู้ก่อตั้ง Same Thang แบรนด์กระเป๋าจากวัสดุซองเมล็ดกาแฟ ที่กล่าวว่า ในมุมของผู้บริโภคเอง ตีค่ากาแฟด้วยความสุข เป็นความสุขที่ได้ดื่มกาแฟดี ๆ ได้รับรู้เรื่องราวของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ไปจนถึงการแปรรูปที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคนไทยเริ่มเปิดใจกับกาแฟไทยมากขึ้น และในฐานะที่เป็นคนปลายสุดของกลุ่มปลายน้ำดูแลเรื่องการจัดการขยะสามารถวัดปริมาณขยะที่เป็นซองเมล็ดกาแฟจากการบริโภค พบว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

สนับสนุนกาแฟไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image