‘ดร.ศิริกุล เลากัยกุล’ 20 ปี ยืนหยัด ‘ความยั่งยืน’ พลิกฟื้นธรรมชาติ ‘สร้างอนาคตโลก’

‘ดร.ศิริกุล เลากัยกุล’ 20 ปี ยืนหยัด ‘ความยั่งยืน’ พลิกฟื้นธรรมชาติ ‘สร้างอนาคตโลก’

เมื่อโลกกำลังหมุนเปลี่ยนไปในทุกทิศทาง ทรัพยากรต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเพียงพอ ทว่า…ความต้องการของมนุษย์กลับมีมากกว่าทรัพยากรเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ในทางลบ จนสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงให้กับทุกชีวิตบนโลก ไม่ใช่แค่เพียงมนุษย์ เพราะฉะนั้นการค้นหาคำตอบที่ว่าจะมีวิธีการอย่างไร ในการที่จะทำให้ ทรัพยากรเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความ ‘ยั่งยืน’ เพียงพอต่อความต้องการอันมากมายของประชากรโลก ในขณะเดียวกันความสามารถในการตอบสนองความต้องการในอนาคตก็ไม่ลดน้อยถอยลง

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นิยามของคำว่ายั่งยืนนั้นค่อนข้างกว้างขวาง และเข้าใจยาก…
ด้วยสาเหตุดังกล่าว Sustainable Brand (SB) THAILAND จึงก่อตั้งขึ้น ซึ่งเป็นเวลากว่า 8 ปี ทีได้ทำงานสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงทำงานร่วมกับภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสามารถจัดการการทำงานให้เติบโต และยั่งยืนได้ทั้งในระยะยาว และระยะสั้น กับแนวคิด ‘Regenerative Brand’ ที่พยายามจะฟื้นคืนและสร้างมูลค่า ให้แบรนด์แข็งแกร่ง สามารถต้านทานและพลิกฟื้นสภาพที่เป็นอยู่ของโลก สังคม ให้ดียิ่งขึ้น

Advertisement

ซึ่ง ดร.ศริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brand (SB) THAILAND เธอมีเป้าหมายที่จะช่วยธุรกิจสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดของความพอเพียง อย่างรู้จักประมาณตน มีสำนึกรับผิดชอบและเกื้อกูลทุกส่วนในสังคม อธิบายถึง Regenerative ว่า เป็นการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่แต่เดิมแล้วนั้นให้ดียิ่งขึ้น เปรียบเสมือนขั้นบันไดที่จะเป็นส่วนช่วยในการสร้างเสริมสมดุลโลก และธรรมชาติให้มีความยั่งยืนร่วมกันได้อย่างแท้จริง

 

“Regenerative เป็นคำใหม่ในประเทศไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะความเป็นจริงเรามีการดำเนินการเรื่องนี้มานานมากแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้เป็นผู้สร้างทฤษฎี คิดง่าย ๆ คือเวลาเราพูดเรื่องความยั่งยืนเราจะเห็นเป็นเส้นตรง และเมื่อเป็นเส้นตรงเราก็อยากให้มันยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่พอเป็น Regenerative มันจะเป็นวงกลมที่วนลูป มีการพัฒนา เป็น How ในการทำ”

Advertisement

เมื่อย้อนดู เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่เธอพยายามผลักดันเรื่องความยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อกล่าวถึงความยั่งยืน ก็ยังฟังดูเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไปอยู่ดี ซึ่งแน่นอนว่าเธอเองเข้าใจปัญหานี้ เพราะสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การเริ่มต้น แต่เป็นการ ‘สร้างความเข้าใจ’
“ความท้าทาย คือการสร้างความเข้าใจ ขนาดเรานั่งคุยกัน เรายังรู้สึกเลยว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้าใจนี่ยากที่สุด เพราะถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ไม่ลงมือทำ หรือรู้แค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันก็ไม่เต็มที่ คิดง่าย ๆ หากไม่เข้าใจความยั่งยืน อย่างเราอยากสุขภาพดี มันต้องเปลี่ยนระบบทั้งร่างกาย ทั้งชีวิต และจิตใจ ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เปลี่ยนวิธีการกินก็ไม่ได้ ดังนั้นถ้าอยากสุขภาพดีต้องเปลี่ยนมุมมองในการดูแลสุขภาพ” ดร.ศิริกุลฉายภาพให้เห็นชัด

ดร.ศริกุล เลากัยกุล

ในส่วนของคำว่าแบรนด์ ที่หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมถึงต้องเป็นแบรนด์ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ หรือทำไมถึงต้องแบรนด์เท่านั้น ความยั่งยืนสามารถดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ ดร.ศิริกุลไขข้อสงสัย พร้อมทั้งอธิบายให้เห็นภาพตามว่า
“เวลาเราพูดเรื่องความยั่งยืน แบ่งไม่ได้หรอกว่าเรื่องนี้ข้าราชการทำ เรื่องนี้ภาคธุรกิจทำ ‘ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันทำ’ แต่ว่าวันนี้ที่เรามีการเน้นกับแบรนด์ก่อน เพราะว่าแบรนด์มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม มีงบประมาณในการทำหลายสิ่งหลายอย่าง เพราะฉะนั้นแบรนด์สามารถเป็นผู้นำให้ผู้คนเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ แต่ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่เติบโต ผู้บริโภคก็เติบโต เพราะแบรนด์จะไม่เปลี่ยน ถ้าหากผู้บริโภคไม่เปลี่ยน ผู้บริโภคที่ไปได้ไกลกว่าแบรนด์ก็จะมีอิทธิพลมาทำให้แบรนด์เปลี่ยน เป็นเข็มทิศที่มีการส่งต่อกันเรื่อย ๆ” ดร.ศิริกุลอธิบาย

สิ่งที่นอกเหนือจากความยากในการสร้างความเข้าใจแล้ว ความยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งคงจะมีน้อยคนนักที่ตระหนักเรื่องเหล่านี้อย่างถ่องแท้ แต่เปอร์เซ็นต์อันน้อยนิดนี้มี ดร.ศิริกุลอยู่ในนั้น ผู้หญิงที่ผลักดันเรื่องความยั่งยืนมากว่า 20 ปี เธอเล่าว่าการที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นเพศ ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ ทว่าควรมีใครสักคนเป็น ‘ผู้สร้างกระแส’ ซึ่งเผอิญว่าเธอคือคนกลุ่มนั้น

ดร.ศริกุล เลากัยกุล

“เวลาเราลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะต้องเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย ไม่ค่อยเอาเรื่องเพศมาเป็นประเด็น เพียงแต่รู้แค่ว่าเวลาเราพูดเรื่องเหล่านี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเข้าใจได้มากกว่าผู้ชาย มีความเข้าอกเข้าใจ สงสาร ผู้ชายจะมีความรู้สึกว่าเป็นอะไรกัน ดูหนังก็นั่งร้องไห้ ความสามารถในการเข้าอก เข้าใจ ผู้หญิงจะมีมากกว่าผู้ชาย เท่านั้นเอง เราต้องเริ่มจากการเป็นผู้สร้างกระแส ทฤษฎีการตลาดในคนหมู่มากต้องเริ่มต้นจากคนกลุ่มแรกที่พร้อมจะเปลี่ยนก่อน เสร็จแล้วเขาก็เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไปสู่ผู้คนส่วนใหญ่ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เปลี่ยนใหม่แล้วรับไปทีเดียวเลย”

แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่เธอก็เห็นแสงสว่างที่เริ่มส่องประกายทีละนิด “ณ วันนี้ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาในการที่เราจะสามารถกู้อดีตและความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาได้น่าจะเป็นจุดสูงสุดที่ทำให้เราลุกขึ้นมาทำเรื่องความยั่งยืน” ดร.ศริกุลกล่าว

ดร.ศริกุล เลากัยกุล

พร้อมกับความหวังว่าคนรุ่นใหม่จะตระหนัก และหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนนี้เช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image