ล้วงลึกหัวใจ ‘ปีใหม่’ มิสทิฟฟานี่ สร้างตำนานบทใหม่ ลบภาพนางโชว์ นางงาม คือ มนุษย์

ล้วงลึกหัวใจ ‘ปีใหม่’ มิสทิฟฟานี่ สร้างตำนานบทใหม่ ลบภาพนางโชว์ นางงาม คือ มนุษย์

สร้างตำนานบทใหม่ “มงลงจนเข่าทรุด” กราบเวทีกันไปเลย

สำหรับสาวทรานส์ ปีใหม่-ศรุดา ปัญญาคํา มิสทิฟฟานี่ ปีที่ 25 ที่เพิ่งประกวดจบไปหมาดๆ

งานนี้ แม้จะมีทั้งคำติและคำชม แต่เจ้าของเบอร์ 13 เลขลัคกี้นัมเบอร์ที่เธอใช้ในการประกวด “ยิ้มรับ” แล้วตอบอย่างชิลๆ ว่า “กระแสตอบรับถือว่าค่อนข้างดี รู้สึกเป็นหนึ่งช่วงชีวิตที่จะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ปีใหม่รอมานาน 11 ปี เหมือนรออะไรสักอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ 2013 ถึง 2024 รวม 11 เกือบจะ 12 ปี

Advertisement

ทั้งหมดนี้ก็เกือบจะครึ่งชีวิตของปีใหม่แล้ว ถ้ามันจะเกิดขึ้นจริง เป็นใคร ใครจะไม่ดีใจบ้าง” ปีใหม่เผยถึงความดีใจในวันนั้น ซึ่งกว่าจะมงลงในวันนี้ เธอประกวดมิสทิฟฟานี่มาแล้วถึง 4 ครั้ง และยังเผยอีกเหตุผลว่า ปีนี้กองประกวดเน้นย้ำว่า ถ้าใครได้ไปยืน 2 คนสุดท้าย

“ขอให้สลัดความเป็นนางงามออกมาให้หมด ขอให้เป็นมนุษย์ที่สามารถเสียใจได้ อยากร้อง ร้องเลย ดีใจได้ เขาอยากให้เห็นว่านางงามก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ใช่บาร์บี้หรือหุ่นเชิด เขาไม่ได้อยากให้นางงามเป็นเหมือนยุคก่อนๆ ที่นางงามเท่ากับตุ๊กตา ที่จะให้คนมาแต่งตัวเรา แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จะมาช่วยเหลือสังคม ไม่ได้สูงส่ง ไม่ได้ดีไปกว่าใคร หรือไม่ได้เป๊ะตลอดเวลา”

Advertisement

“เราก็เลยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการนางงาม ซึ่งไม่ใช่แค่วงการนางงามไทย ทุกเพจในต่างชาติก็เอาเราไปทำมีม เอาเราไปใส่เพลงภาษาต่างประเทศ ถ้าเป็นบ้านเราก็จะเอาไปใส่เพลงลมพัดตึ้ง ตอนที่เราล้มลงไป (หัวเราะ) เป็นความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลย และก็เชื่อว่า ทุกคนจะไม่ลืมปีใหม่เช่นกัน”

ย้อนกลับไป ปีใหม่เริ่มประกวดมิสทิฟฟานี่ตั้งแต่อายุ 18 ปี เมื่อปี 2013 และประกวดครั้งต่อมาในอายุ 22 ปี 24 ปี 25 ปี และมาประสบความสำเร็จในครั้งที่ 5 เมื่อตอนอายุ 29 ปี

ซึ่งเธอก็ว่า “เกือบถอดใจ” แต่ที่ “ฮึด” ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะครั้งนี้เป็น “โอกาสสุดท้าย”

“สิ่งนี้คือความหวังของปีใหม่มาตั้งแต่เด็ก คิดว่าสักวันหนึ่งจะมีโอกาสไปยืนอยู่จุดที่สูงสุดในองค์กร เราก็มาประกวดแบบไม่ได้คาดหวัง แต่เป็นการตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าต้องประสบความสำเร็จ ที่ไม่ได้ต้องชนะใคร แต่ต้องชนะใจตนเอง ถ้าหากว่าเราตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้เลยว่าเราต้องชนะใจตัวเองให้ได้ เพราะว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ชนะใจตัวเองก่อน ดังนั้น เราก็จะไม่สามารถชนะใจใครได้เลย แม้แต่ใจกรรมการ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราควบคุมได้คือตัวเราเองที่จะทำอย่างไรให้ตัวเราเป็น Branding ของตนเอง Branding ที่ชื่อว่าปีใหม่”

“ปีใหม่จึงตั้งใจว่า การประกวดครั้งนี้จะให้มันเป็นธรรมชาติ ความที่ไม่ได้ปรุงแต่ง และที่สำคัญเรามาถูกปี เนื่องจากทางกองประกวดมีคอนเซ็ปต์ว่า The Future is your หรือโลกใหม่ที่คุณนิยาม เป็นนางงามแบบใหม่ เป็นนางงามจับต้องได้ มีความเป็นมนุษย์ที่จะมาเป็นแบบอย่าง หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน นางงามไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิงสวยๆ แต่งหน้าสวย ทำผมสวยๆ เดินบนเวทีเสร็จแล้วก็จบไป หรือแค่แต่งตัวสวยๆ และไปช่วยสังคมแล้วก็จบ เราอยากให้ทุกคนมองว่านางงามก็คือคนเหมือนกัน นางงามก็มีชีวิต ดังนั้น เราอยากที่จะเป็นนางงามที่เข้าใจมนุษย์”

“ถ้าหากว่าเราเข้าใจมนุษย์ เราก็จะสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้เช่นกัน ปีนี้ก็เลยปล่อยจอยไปเลย สิ่งนี้แหละที่ทำให้สบายใจ เพราะก็ทำทุกอย่างด้วยความสุข”

อีกเรื่องที่ไม่เล่าจะไม่ครบองค์ธรรมเนียมประกวดนางงาม ที่จะต้องมีเรื่อง “มูเตลู”

“ก่อนประกาศ 3 คนสุดท้าย ขณะยืนอยู่หลังเวทีก็จะมีหิ้งพ่อแก่ พี่ๆ นางโชว์จะเอาไว้ไหว้กัน แล้วมีเจ้าแม่กวนอิมตั้งอยู่ เรามองปุ๊บ แล้วก็ไหว้อธิษฐาน แม่ ถ้าแม่มีจริง ให้มงหนูนะ ถ้าได้หนูจะกินมังสวิรัติ 1 ปี จะไม่ทานเนื้อสัตว์ 1 ปี” ปีใหม่เผย และว่า

สุดท้าย “ก็ได้จริง! ก็เริ่มทานมังสวิรัติเลยตั้งแต่วันประกวดจบเลย”

นอกจากเป็น “นางงาม” แล้ว เธอยังเป็น “นางฟ้า” อาชีพ Flight attendant หรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ของสายการบินแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นอาชีพใน “ความหวัง” ของเธอ

“Flight attendant เป็นความหวัง ไม่ใช่ความฝัน ปีใหม่คิดว่าอะไรที่เป็นความหวัง มันเป็นอะไรที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ เราอาจจะไม่เห็นในตอนนั้น แต่เรารับรู้ได้ว่ามีอยู่จริง”

การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นเรื่อง “ยาก” เพราะมีความจำกัดเรื่องเพศ

“อาชีพนี้สำหรับปีใหม่คิดว่าเป็นสิ่งไกลตัวเกินไปที่จะฝันถึง มันก็เลยกลายเป็นความหวัง หวังลึกๆ ว่า วันหนึ่งเราอยากไปอยู่ตรงนั้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้ได้เป็นล่ะ ก็พยายามหาทุกทางเพื่อที่จะพาตัวเองไปในจุดนั้นให้ได้”

ด้วยหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ ในที่สุดเธอก็สมหวัง!

“ปีใหม่ได้ไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกามาเรื่อยๆ แล้วก็ได้ผ่านโครงการวัฒนธรรมของพี่ๆ บ้านรัชดาที่ร่วมกันจัดตั้งโครงการนางฟ้ามาโปรด จากนั้นก็พัฒนาตัวเองมาตลอด กระทั่งประกวดมิสทิฟฟานี่แล้วผิดหวัง เราก็คิดว่าคงไม่ได้แล้ว ไปเป็นนางฟ้าดีกว่า ก็เลยลงเรียนภาษาที่อเมริกา ก็ได้ติดปีก”

“อาชีพนี้ที่นู่นค่อนข้างเปิดกว้างมากๆ เหตุผลที่ปีใหม่จะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นแอร์โฮสเตสเพราะว่าแอร์กับสจ๊วตมันแบ่งเพศ แอร์คือผู้หญิง สจ๊วตคือผู้ชาย แต่ที่ยุโรป หรืออเมริกาจะเรียกว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือผู้ควบคุมเที่ยวบิน”

พูดถึงประเด็นเรื่อง “แบ่งเพศ” มิสทิฟฟานี่คนล่าสุดสะท้อนปัญหานี้ในสังคมไทยว่า

“ในประเทศไทยยังไม่เปิดรับเรื่องนี้ อยากฝากไปยังภาครัฐและภาคเอกชนด้วยว่า จริงๆ แล้วเพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดในการจัดหางาน แต่เป็นศักยภาพมากกว่าที่เป็นตัวกำหนดว่าคนนั้นเหมาะสมที่จะทำงานประกอบอาชีพอะไร ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม แพทย์ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานออฟฟิศ รวมถึงทุกอาชีพ ควรวัดที่ศักยภาพมากกว่าเพศ เพราะพวกเราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์เท่ากัน ทำอย่างไรถึงจะให้เท่าเทียมแบบเท่ากัน”

“ดังนั้น ก็อยากจะให้ปรับเปลี่ยนกฎหมายให้รองรับต่อพวกเราด้วย ไม่ใช่แค่เพราะ LGBTQ ยังมีอีกหลายคนที่มีความฝัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหางานที่กำหนดอายุไม่เกิน 30 ปี ชายหญิงก็ยังโดนตีกรอบเอาไว้ หรือส่วนสูงเท่านั้นเท่านี้ อยากให้มองว่าเขามีศักยภาพที่เพียงพอไหม ถ้าหากว่าเขามีศักยภาพเพียงพอก็ควรที่จะพิจารณาและรับเข้าทำงานเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร”

อีกหนึ่งคนที่กว่าจะได้มาเป็น “แพทย์” ก็ยากไม่แพ้กัน สำหรับรองชนะเลิศอันดับที่ 1 “หมอบรูซ” คชิสรา ศรีดาโคตร ที่เผยว่า ทรานส์เจอเดอร์ที่เป็นแพทย์ในประเทศไทยมี “น้อยมาก” น่าจะประมาณ 100 คน ซึ่งกว่าจะมาเป็นแพทย์ได้ เธอเผยตรงๆ เลยว่า “ยากมาก”

“อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าการเรียนแพทย์ค่อนข้างที่จะยาก และมีความกดดันสูง ด้วยตัววิชาของแพทย์แล้ว และยังต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ ด้วยความที่เราเป็นสาวข้ามเพศ ก็เป็นความยากอีกหนึ่งสเต็ป ความยากแรกก็คือ การที่เราจะโดนตัดสินจากคนทั่วไป หรืออาจจะเป็นอาจารย์ก็ตาม อย่างตัวเราเองก็ต้องแบกรับความกดดันของตนเองอยู่แล้ว”

“แล้วคนเหล่านั้นก็จะตัดสินเราก่อนที่จะรู้จักเราอยู่แล้ว ในบางครั้งบรูซก็เลือกที่จะปกป้องตัวเองด้วยการทำในแบบที่เขาต้องการจะให้ทำ อาทิ ไม่แสดงตัวตนในแบบที่เราเป็น เพื่อที่จะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้ เป็นความยากที่จำเป็นต้องฝืน ที่จะต้องเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง”

“อย่างที่สอง เราเป็นคนหนึ่งที่ต้องการที่อยากจะได้การยอมรับจากผู้คน และสังคมหล่อหลอมเรามาว่าคนที่สวยจะได้สิ่งที่ดีกว่าเสมอ และจะได้การยอมรับที่ดี ดังนั้น เราก็พยายามที่จะทำส่วนนี้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็จะค่อนข้างยากหน่อย”

“เนื่องจากกระบวนการข้ามเพศจะต้องใช้หลากหลายอย่าง อาทิ การเทกฮอร์โมน การแต่งหน้า การทำผม ก็จะต้องดูแลเป็นพิเศษจากผู้หญิงปกติ ซึ่ง ณ ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่ยากอีก แล้วเป็นแพทย์ก็ยากอีก เป็นความยากที่สุดแล้วสำหรับ 6 ปีนั้น”

หากเธอก็มุ่งมั่นตั้งใจจนสำเร็จ “แพทย์” ในที่สุด

“เราโฟกัสเป็นเรื่องไปทีละเรื่อง และจัดสรรเวลาที่ต้องดูแลตัวเองไว้ส่วนหนึ่ง จัดสรรเวลาที่ต้องเรียนไว้อีกส่วนหนึ่ง แล้วก็พยายามทำทุกอย่างให้มันง่ายที่สุด โดยแบ่งออกเป็นส่วนๆ และทำในแต่ละส่วนให้ออกมาดีที่สุด ในกรอบหรือระยะเวลาที่จำกัดของมัน”

“ถ้าเกิดว่าอยู่ในช่วงสอบก็จะเทความสนใจไปด้านการเรียนเยอะหน่อย แต่ถ้าไม่ได้สอบก็จะเอาเวลามาดูแลตัวเอง แล้วก็ค่อยๆ ทำแบบนั้นมาเรื่อยๆ คือกระบวนการข้ามเพศก็ต้องใช้เวลา ยาเราก็เทกไปเรื่อยๆ ผลของยาก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เราใช้”

ในการเรียนแพทย์ หมอบรูซเล่าว่า “ถ้าถามว่ามีการเลือกปฏิบัติอะไรชัดๆ ขนาดนั้นเลยไหม ก็บอกเลยว่าไม่มี แต่มีเรื่องหนึ่งที่รู้สึกว่าโดนคือเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพ ณ ตอนที่บรูซเรียนอยู่ไม่อนุญาต ก็จำเป็นจะต้องทำตามกฎของเขา”

“โดยที่ตัวเราเองก็พยายามจะสร้างปัญหาให้น้อยที่สุด เพราะปัญหาของเราก็เยอะแล้ว ต้องจัดการหลายอย่าง หลายภาระ ก็เลยไม่อยากหาเรื่องให้ต้องวุ่นวาย มีอะไรก็ทำตามเขา”

“บรูซประเมินทุกคนก่อนเสมอในทุกครั้งที่จะต้องเจอใครว่าเขาเป็นอย่างไร พอได้ไหม และเราจะแสดงออกได้แค่ไหน ถ้าสมมุติว่าอาจารย์ที่ค่อนข้างมีอายุนิดนึง ที่ดูเคร่งหน่อย ก็จะพูด ‘ครับ’ เลย แต่ถ้าอาจารย์ที่เด็กๆ หน่อยดูใจดีก็จะพูด ‘ค่ะ’ หรือบางภาควิชาที่โหดๆ หน่อยก็จะไม่แต่งหน้า ถ้าบางภาควิชาที่หวานๆ นิดนึง อย่างหมอสูติ หมอเด็ก ก็จะแต่งหน้าฉ่ำๆ ไปเลย อาจารย์ก็จะชอบ อาจารย์ก็จะรัก”

“ซึ่งเราก็มีวิธีในการเข้าหาคนแตกต่างกัน คนไข้ก็เหมือนกัน ก็เลยชอบสูติ เพราะอยู่กับผู้หญิงตลอดเวลา คนไข้เป็นผู้หญิงหมดเลย ก็จะมีกำแพงน้อยกว่า เราไม่ต้องพยายามประดิษฐ์อะไรมาก หรือไม่ต้องพยายามที่จะคิดว่าเขาจะโอเคไหม”

เธอเป็น “หมอ” มาเกือบ 3 ปีแล้ว จึงได้สะท้อนถึงความเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศของวงการแพทย์

“ตอนนี้สถาบันแพทย์ 23 สถาบัน สามารถเปิดให้แต่งกายตามเพศสภาพได้แล้ว ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างเยอะ แต่ยังมีพาร์ตที่เหลือยังคงต้องการตรงนี้อยู่ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครปฏิเสธเราเลย ก็ได้เห็นโลกแห่งความเป็นจริงว่า มันไม่เหมือนกับที่อาจารย์บอกเราเลย”

“บรูซก็เลยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ performance ของเราดีขึ้น คือก่อนหน้านี้ตอนที่เรียนอยู่เรายังกังวลว่าคนนี้จะโอเคไหม ซึ่งเราต้องแบ่งสมองของเราไปคิดเรื่องนี้ แล้วสมองที่เราจะต้องทำงานในเรื่องของ performance หรือการคิดมันอาจดร็อปลงมา แต่พอเราได้เป็นตัวเอง เราก็ทำทุกอย่างได้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วบรูซรู้สึกว่ามันโอเคมากเลย

เราเก่งขึ้นกว่าเดิมเยอะมากๆ จากที่เราได้เป็นตัวเอง ก็เลยอยากจะฝากสารตรงนี้ไปให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือว่าสถาบันทางการแพทย์ที่เขายังไม่เปิดรับตรงนี้ แล้วจริงๆ แพทย์เปิดค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังมีวิชาชีพอื่นๆ อย่างอาชีพพยาบาลที่เขาอาจจะยังเคร่งอยู่เยอะ ก็ฝากสารตรงนี้ด้วย เพราะว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจะโดนตัดสินจากสังคมด้วย ถึงความน่าเชื่อถือ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เลยอาจจะมีกรอบที่ครอบอยู่”

“ส่วนในมุมมองของบรูซที่ได้ไปสัมผัสหน้างานจริงๆ คนที่มีโอกาสในการตัดสินใจว่าได้หรือไม่ได้ คือหัวหน้ากลุ่มงาน หรือผู้บริหาร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคนเหล่านี้ที่เป็นคนอนุญาต หรือไม่อนุญาต ซึ่งถ้าเราปรับมายด์เซตของคนพวกนี้ได้ คนที่เขาทำงานจริงๆ ได้เป็นตัวเอง มันสุดจริงๆ นะ มันพร้อมทำได้ทุกอย่างจริงๆ”

“ท้ายที่สุดแล้วในหน้างาน บรูซมองว่าคนไข้ทุกคนมาเพื่ออยากหาย และอยากได้รับคำพูดและคำแนะนำที่ดี ดังนั้น ควรโฟกัสตรงนี้ที่เป็นพอยต์จริงๆ ของการทำงานมากกว่า คือศักยภาพรายบุคคลไม่ใช่เรื่องเพศ หรือเรื่องการแต่งกาย จริงๆ การแต่งกายของบุคลากรทางการแพทย์ในต่างประเทศ เขาไม่จำกัดการแต่งกาย มีรอยสักเต็มตัวก็ได้ ทำสีผมอะไรก็ได้”

“แต่ในสังคมไทยยังมีกรอบความคิดอยู่ว่าหมอจะต้องเป็นแบบนี้ ผู้ชายอายุเยอะ ใส่แว่น เรียบร้อย บรูซมองว่าสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฉายภาพซ้ำของบุคคลนั้น หรือกลุ่มงานนั้น ซึ่งอยากให้มองว่าคนเราสามารถมีวาไรตี้ได้ และอยากให้มองถึงศักยภาพและผลงานที่เขาทำมากกว่า”

แม้จะได้รับตำแหน่งมิสทิฟฟานี่ แต่ปีใหม่และหมอบรูซก็ยัง “กลับไปทำงาน” ไม่ต้องลาออกจากการทำงานเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่เฉกเช่นผู้ได้รับตำแหน่งที่ผ่านมา

“องค์กรก็มีความเห็นมาว่าอยากจะให้มันไปด้วยกัน ก็เลยรู้สึกว่าดีใจและรู้สึกแฮปปี้ รู้สึกว่าขอบคุณที่เขาให้โอกาสและก็เข้าใจว่าพอยต์ของเราก็คืออยากมาสร้างแรงบันดาลใจจริงๆ ก็อาจจะกลับไปบินและก็ช่วยทำหน้าที่ และจะช่วยนำองค์กรไปสู่ในระดับอินเตอร์แน่นอน” ปีใหม่เผย

ขณะที่หมอบรูซก็เสริมว่า “องค์กรไม่อยากให้ภาพมันผลิตซ้ำว่าระดับคนมงจะต้องมาเป็นนางโชว์”

ซึ่งปีใหม่ก็ตบท้ายว่า แบรนดิ้งของทิฟฟานี่ตั้งแต่เริ่มต้นคือการแสดงเธียเตอร์ มันคือการแสดงเต้น มันคือโชว์ แต่เราจะทำอย่างไรให้เวิลด์คลาสโชว์มีแบรนด์แอมบาสเดอร์

ก็เลยกลายมาเป็นมิสทิฟฟานี่ ซึ่งก่อนนี้มิสทิฟฟานี่เขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะขับเคลื่อนสังคม แต่ก็ยังมีประเด็นดราม่าต่างๆ ว่ามิสทิฟฟานี่ประกวดเสร็จแล้วก็ไปเป็นนางโชว์

“จริงๆ แล้วทางผู้บริหารและทางมิสทิฟฟานี่ก็กำลังขับเคลื่อนองค์กรร่วมด้วยกับภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด แต่คนก็ยังลืมภาพนั้นไม่ได้ว่าจบไปแล้วไปเป็นนางโชว์ ดังนั้น เลยอยากจะทำให้ภาพนั้นชัดขึ้น โดยพวกเราทั้ง 3 คนจะร่วมเป็นแบรนดิ้งขององค์กรในปีนี้ ที่จะเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อบอกว่าจริงๆ แล้วนางงามคือมนุษย์”

‘บรูซ’ คชิสรา ศรีดาโคตร รอง 1-‘ปีใหม่’ ศรุดา ปัญญาคํา มิสทิฟฟานี่ , ‘เจสซี่’ เจสสิลินน์ นาคประสิทธิ์ รอง 2

“นางงามคือคนที่มีอาชีพ แต่อาชีพของเราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย ทำให้เขาลุกขึ้นมามองว่าคนเราสามารถเป็นได้มากกว่าที่เราคิด ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเป็นได้แค่อย่างเดียว ไม่จำเป็นเลยที่เราจะเป็นนางงามก็เป็นได้แค่นางงาม หรือเป็นหมอก็เป็นแค่หมอ แต่เราเป็นหมอที่สามารถเป็นนางงามมาช่วยเหลือสังคมได้”

“เราอยากจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้กับองค์กรจริงๆ ว่าเราสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมๆ กับอาชีพนั้นได้ อาชีพก็คือความมั่นคง มงกุฎก็คือความภาคภูมิใจ ดังนั้น เราจะนำความมั่นคงและความภาคภูมิใจให้ไปด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน” มิสทิฟฟานี่ทิ้งท้าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image