ชีวิตนี้ชะตาลิขิต 7 รอบนักษัตร ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ ความจริงอีกด้านที่ไม่เคยรู้

ชีวิตนี้ชะตาลิขิต 7 รอบนักษัตร ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ ความจริงอีกด้านที่ไม่เคยรู้

“ท่านอาจารย์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นบุคคลที่เป็นครู เป็นผู้ใหญ่ และเป็นแบบอย่างที่ผมให้ความเคารพอย่างสูงยิ่ง ท่านเป็นผู้ที่ไม่ถือตัว และปฏิบัติตนเรียบง่ายกับทุกคน ในขณะเดียวกันท่านยังเป็นผู้ที่มีธรรมาภิบาล มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความตั้งใจมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงอย่างดีที่สุด” ฐาปน สิริวัฒนภักดี มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวในคำแสดงมุทิตาคารวะในหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ซึ่งจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือขึ้นที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ถนนอรุณอมรินทร์ กทม.

Advertisement

ทั้งนี้ หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ได้บอกเล่าเรื่องราวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน ที่มีการบันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร หรือ 84 ปี ตั้งแต่เกิด ได้รับการศึกษา ออกเดินทางสู่โลกกว้าง และกลับมารับใช้แผ่นดินด้วยการพัฒนา ซึ่งในแต่ละช่วงวัยได้ผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงเหตุการณ์ในช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และได้รับโอกาสในการถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตและมุมมองต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล โดยถ่ายทอดให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตปุถุชนที่มีทั้งด้านดีและไม่ดีควบคู่กันไป มิใช่จะมีแต่ด้านดีด้านเดียวที่คนอื่นเข้าใจ

Advertisement

ดร.สุเมธกล่าวในงานแถลงข่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ประการแรก ผมจะเล่าชีวิตจริงๆ พออายุ 85 ปี ปมด้อยต่างๆ ความน้อยเนื้อต่ำใจมันหมดแล้ว ประการที่สอง แต่ละช่วงเวลาชีวิตขอให้ถอดบทเรียนมาว่า แต่ละช่วงเวลาจะดีหรือจะเลวอะไรก็แล้วแต่ ให้ถอดบทเรียนมาสอนทุกคน เพราะฉะนั้นในเล่มนี้ บางคนอาจจะมีความรู้สึกไม่ดีกับตัวผมก็ได้ เรื่องในครอบครัวมาเล่าทำไม แต่นั่นคือชีวิต มันผ่านมาเป็นฉากหนึ่ง แล้วก็คิดว่าเด็กๆ ที่อยู่ในสภาพแบบผม บางคนอาจจะเสียผู้เสียคนไปเลยก็ได้ อย่างน้อยก็ได้เป็นบทเรียนให้กำลังใจพวกเขา เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา และที่บ้านก็อบรมตามเงื่อนไข

“พอพูดถึงความหลังแล้ว ชีวิตผมไม่ปกติเลยในการเล่าเรียนอะไรต่างๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นอยู่แบบนี้ ก็สนุกๆ อย่าไปซีเรียสอะไรมากมาย ผมทำงานทุกวันนี้เพราะขี้เกียจอยู่เฉยๆ ซึ่งชื่อหนังสือก็ปรึกษาหารืออยู่นานว่าควรชื่ออะไรดี เมื่อมานั่งคิดดู ชีวิตผมที่มันถูกกำหนดโดยผู้อื่น โดยฟ้าโดยดิน ความหวังเพื่อชีวิตและความปรารถนาส่วนตัวนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย”

เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 7 บท ตาม 7 รอบนักษัตร

  • รอบนักษัตรที่ 1 (ปี 2482-2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม เป็นช่วงวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก และครอบครัวแตกแยก
  • รอบนักษัตรที่ 2 (ปี 2494-2506) เปิดประตูสู่โลกกว้าง เป็นช่วงชีวิตวัยเรียนที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม
  • รอบนักษัตรที่ 3 (ปี 2506-2518) กลับสู่มาตุภูมิ เป็นช่วงชีวิตการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ
  • รอบนักษัตรที่ 4 (ปี 2518-2530) รอนแรมในสมรภูมิ เป็นช่วงที่ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ไปพร้อมกัน ชีวิตการทำงานที่ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี และเริ่มการเป็นนักเรียนของในหลวง รัชกาลที่ 9 ยาวนานถึง 35 ปี
  • รอบนักษัตรที่ 5 (ปี 2530-2542) ถวายงานด้านการพัฒนา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯให้ ดร.สุเมธเป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ชีวิตการทำงานแบบซี 22
  • รอบนักษัตรที่ 6 (ปี 2542-2554) รางวัลแห่งชีวิต ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และการทำงานอย่างไม่มีวันเกษียณ
  • รอบนักษัตรที่ 7 (ปี 2554-2566) ฝากไว้ให้สานต่อ ดร.สุเมธเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราช ครั้งสุดท้าย และรับสั่งว่า ‘สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ’

ดั่งในคำนำหนังสือ ดร.สุเมธได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า 84 ปี หรือ 7 รอบนักษัตร ต้องถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรทีเดียว สำหรับชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปดู มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ตื่นเต้นโลดโผนไม่ได้สงบราบเรียบ บางเหตุการณ์ที่นำมาเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อหวังใจว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ใช้เป็นบทเรียนลัดที่สรุปชีวิตผมตลอด 84 ปี

“ชีวิตผมตั้งแต่แรกเกิดจนวัยนี้ คือการได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ บทเรียนชีวิตมีแต่เพิ่มพูนขึ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพใด ฐานะใด ประสบการณ์สะสมเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ยิ่งเราดำรงชีวิตโดยครองสติตลอดเวลา ยิ่งเก็บเกี่ยวบทเรียนได้ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นประโยชน์มากเท่านั้น”

“อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่าชีวิตเป็นสนามรบด้วยเช่นกัน คนเราตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาก็ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด เผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ต่อสู้เพื่อดำรงสังขาร ต้องแก้ไขปัญหาร้อยแปดพันประการ ไม่ว่าระหว่างรับราชการหรือชีวิตส่วนตัว ต้องต่อสู้กับกามกิเลสต่างๆ อย่างไม่ลดละ บางครั้งต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน”

“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชีวิตจะพลิกผัน หรือมีเส้นทางเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือเรื่องดวง ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีดวงชะตาของตัวเอง เหมือนดังชื่อหนังสือเล่มนี้ที่ว่า ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผมมีชีวิตการศึกษาในวัยเด็กกระท่อนกระแท่น พ่อแม่แยกทางกัน เติบโตมาก็ต้องไปเป็น ‘นักเรียนนอก’ ที่ไม่ได้สุขสบายเลย ต้องระหกระเหินลำบากยากเข็ญหนีภัยท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้ารับราชการอยู่ๆ ก็ได้ไปวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้ทุกขณะ สิ่งเหล่านี้เมื่อมองย้อนกลับไปล้วนทำให้เราได้รับประสบการณ์กว้างขวางที่น้อยคนจะมีโอกาสได้รับ แล้ววันหนึ่งก็โชคดีอย่างที่สุดในชีวิตที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เป็นนักเรียนของพระองค์ท่านยาวนานถึง 35 ปี”

“ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้แสวงหา แต่ชีวิตลิขิตมาอย่างนี้”

“ฟรองซัว เดอ ลาโรชฟูโกต์ นักปรัชญาและนักเขียนชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า ‘Le moi est haissable’ แปลว่า ‘อัตตาเป็นของน่ารังเกียจ’ การกล่าวขวัญถึงตนเองเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่การเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้ ผมได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ว่า จะเล่าทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายที่ย่างกรายเข้ามาในชีวิตโดยไม่ปิดบังอำพราง ทุกสิ่งที่เคยเผชิญมาเมื่อถึงอายุ 84 ปี ล้วนเป็นเพียงฉากหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ชีวิตเราก็เหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ดูจบแล้วก็แค่นี้ เหลือค้างแค่ว่าคนดูได้รับบทเรียนอะไรจากหนังเรื่องนี้”

‘ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เด็กสมัยนี้จะไม่มีโอกาสได้เรียนจากใครทั้งสิ้น และไม่ได้มีแค่ด้านที่ประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว จึงสรุปบทเรียนท้ายรอบนักษัตรไว้ในแต่ละบทเพื่อเป็นแนวทาง เป็นพลังใจ เป็นแรงผลักดัน เป็นประโยชน์ รวมถึงอาจจะเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตของคนที่ได้อ่านต่อไปไม่มากก็น้อย’

ดร.สุเมธเล่าบทเรียนและความประทับใจตลอดชีวิตที่ผ่านมาว่า มีหลายลักษณะ อย่างตอนสงครามก็ได้เห็นวีรบุรุษที่เสียสละจริงๆ แต่ที่เกิดความประทับใจและให้บทเรียนมากที่สุด ผมถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 ต่อเนื่อง 40 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2524 กระทั่งสวรรคตปี 2559 อยากจะเรียนว่าผมไม่เคยถวายงานเลยนะ ไม่มีอะไรจะถวายพระองค์ เพราะว่างานภารกิจของพระองค์เป็นสิ่งที่ผมไม่ได้เรียนมาเลย

‘พระองค์ทรงถามผมว่า ดีใจไหมมาช่วยฉันทำงาน ผมก็เป็นคนที่รู้สึกยังไงก็ตอบอย่างนั้น จึงทูลตอบไปว่า กลุ้มใจพระเจ้าค่ะ ก็ทรงถามอีกว่า คนอื่นเขาดีใจทำไมเธอกลุ้มใจ ผมก็ตอบว่า ผมไม่รู้เรื่องเลยในสิ่งที่พระองค์ทรงทำ ผมไม่รู้จะถวายงานยังไง พระองค์รับสั่งว่าไม่เป็นไรหรอก ฉันทำใหม่ๆ ฉันก็ไม่รู้ เรื่องพวกนี้มันเรียนกันได้ ฉันสอนเอง’

‘ความประทับใจในช่วงนั้นเป็นเวลาถึง 40 กว่าปี พระองค์ทรงเป็นครูและผมก็เป็นนักเรียน เวลาอยู่ข้างๆ ก็คอยจดทุกอย่าง มองทุกอย่างที่ทรงทำ จดทุกอย่างที่ทรงพูด สรุปทุกอย่างที่ทรงคิด ซึ่งงานชิ้นสุดท้ายของชีวิต ซึ่งผมกำลังทำอยู่ กำลังประมวลคำสอนของพระองค์ทั้งหมดอยู่ ผมจะทำงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตแล้ว เพื่อให้มีตำราคำสอนทิ้งไว้ หลังจากฟังบทเรียนในอดีตแล้วให้มองไปข้างหน้าด้วยว่า เมื่อทำอย่างนี้แล้วความเปลี่ยนแปลงข้างหน้าเราจะเป็นยังไง ไม่ได้สอนให้ลืมอดีต สอนให้เข้าใจปัจจุบัน และเตรียมการรับอนาคต’ ดร.สุเมธกล่าว

ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ซึ่ง ดร.สุเมธได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงที่จะมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาและรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

หนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ จะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯไปทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุ’ เล่มแรกที่วางจำหน่าย ในวันที่ 28 มีนาคม

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดมิได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image