‘เจ้าสัวธนินท์’ ผู้สูงอายุแห่งชาติ 67 กับ ‘วิธีคิดสร้างธุรกิจ’ เมื่อ ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’

‘เจ้าสัวธนินท์’ ผู้สูงอายุแห่งชาติ 67 กับ ‘วิธีคิดสร้างธุรกิจ’ เมื่อ ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’

 

ได้รับการยกย่องจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เป็น “ผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2567” สำหรับ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ 

โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวถึง “เจ้าสัวซีพี” ว่า

“คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ที่เปรียบเสมือนแบบอย่างที่ดีให้กับหลายๆ คน ให้กับหลายๆ องค์กร ว่าคนหนึ่งคนนั้นจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแผ่นดินไทยได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องอายุเท่าไหร่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพศใด หรือสถานะใด อีกทั้งที่ผ่านมาท่านได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการขับเคลื่อนโครงการทรูปลูกปัญญา เป็นการมอบโอกาสการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม พร้อมสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนของชาติมาเป็นเวลากว่า 40 ปี”

Advertisement

ในอายุ 84 ปี ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจหลากหลาย โดยมีธุรกิจหลัก 8 สายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ไปจนถึงธุรกิจการเงินและการธนาคาร มีพนักงานมากกว่า 450,000 คนทั่วโลก มีการลงทุนในอีก 21 ประเทศ

ธนินท์ เป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้จากผู้อื่นในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ และในหลายครั้งต้องทำเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ยาก และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถือเป็นความท้าทายในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

เขามองว่า “คนเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร” และการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตจากธุรกิจครอบครัวมาสู่ธุรกิจระดับโลกได้ในทุกวันนี้ ด้วยเพราะเขามีวิสัยทัศน์ให้ความสำคัญกับการนำคนมืออาชีพจากทั่วโลกมาพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับ “การสร้างคน” เปิดโอกาสสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อนำพาศักยภาพของธุรกิจในเครือไปสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ ประชาชน ทั้งในประเทศไทยและทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้พัฒนา “อาหารคน”

Advertisement

กล่าวคือ ทำให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพดี เข้าถึงอาหาร แหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันยังเน้นย้ำเรื่อง “อาหารสมอง” นั่นคือเรื่องการให้ความรู้ ความบันเทิงที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เกิดสังคมแห่งภูมิปัญญา

  • วิธีคิดการสร้างธุรกิจ

นับได้ว่าเจ้าสัวธนินท์เป็นแบบอย่างให้กับผู้คนมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินธุรกิจ และนี่คือ “วิธีคิดการสร้างธุรกิจ” โดย “เจ้าสัวซีพี” ที่ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” โดยสำนักพิมพ์มติชน

เจ้าสัวธนินท์กล่าวไว้ตอนหนึ่งในบท “เปิดม่าน” ว่า “เหนือฟ้า ยังมีฟ้า…ดังนั้น ของดีที่สุด ผมก็ยังไม่ถือว่าเป็นของดีที่สุด แต่ต้องพยายามศึกษาค้าคว้าว่ายังมีสิ่งที่ดีกว่าอีกไหม ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จโดยไม่เป็นคนขยัน…ตัวเราเองต้องขยันก่อน”

“คนไม่เข้าใจไม่เคยเห็นผมตอนสร้างธุรกิจ เพราะไม่มีใครสนใจทำ มาเห็นตอนที่ธุรกิจของผมสำเร็จแล้ว จึงคิดว่าซีพีผูกขาด แต่ไม่รู้ว่าผมสร้างธุรกิจ ลองผิดลองถูกอยู่นั้นมันยากลำบากขนาดไหน โลกนี้ไม่มีอะไรง่าย ยิ่งทำงานใหญ่อุปสรรคก็ยิ่งใหญ่ ถึงมีเงินเยอะก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง มีแต่ความกดดันรอบตัว”

“วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้ก็อาจจะล้มเหลว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจจะมีคนที่เก่งกว่า ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา”

“พนักงานซีพีทุกคนรู้ดีว่าเราต้องเร็วและมีคุณภาพ เพราะยุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ทุกอย่างมีเป้าหมาย มีเวลา การทำธุรกิจในแบบของผม ความสำเร็จ จึงดีใจได้แค่วันเดียว”

โดยยึดถือ “หลักการ 3 ประโยชน์” ในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินในทุกประเทศที่ไปลงทุน สร้างประโยชน์ให้ทุกประเทศ ประชาชน และบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย

  • ยุทธศาสตร์ซีพี

“ถ้าเราจะไปหากินในประเทศเขา เราก็ต้องเอาของดีไปให้เขา ถ้าเขาทำให้เราเติบโต เราก็ต้องตอบแทน”

“เราต้องจริงใจกับเขา เขาถึงจะจริงใจกับเรา”

“สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาถือที่สุดคือ เรื่องการถูกเอาเปรียบ เขาจะกลัวว่านายทุนจะมาเอาเปรียบหรือเปล่า เรามากอบโกยจากเขาหรือเปล่า ดังนั้น เราต้องแสดงให้เห็นว่า เราไม่ใช่อย่างนั้น เราเข้ามาช่วยเขา เราจะชนะด้วยกันทั้งคู่ ผมก็ได้ คุณก็ได้ เขาจึงต้อนรับเรา”

“ความจริงใจช่วยสร้างคุณประโยชน์นี่เองที่ทำให้เครือซีพียืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงในทุกที่ที่ไป ซึ่งผมเรียกว่า ‘หลักการ 3 ประโยชน์’ ประเทศชาติได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์”

“หากประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ แล้วจึงมาคิดถึงประโยชน์ของบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย”

อย่างการไปลงทุนใน “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เครือซีพีเป็น “นักลงทุนต่างชาติรายแรก” หลังการเปิดประเทศจีน โดยได้รับใบประกาศพิมพ์ด้วยอักษรภาษาจีนและอังกฤษ พร้อมตราประทับจากรัฐบาลจีน ระบุถึงการอนุญาตให้เข้าไปทำธุรกิจในลำดับที่ 0001

ซึ่งในยุคนั้นบริษัทต่างชาติจะมองเมืองจีนว่า “ยังไม่พร้อม” แต่ซีพีไม่คิดแบบนั้น

“เราไม่รอให้เขาทำให้พร้อม แต่เราจะเข้าไปทำให้ความพร้อมเกิดขึ้น ทุกอย่างไม่สะดวกสบาย”

แต่สำหรับเจ้าสัวซีพีแล้ว มองความยากลำบากครั้งนี้ “คุ้มค่า” ซึ่งการลงทุนอะไรต้องคิดให้ครบ โดยเขาความสำคัญกับการทำอะไรต้องศึกษา ต้องการข้อมูล เราต้องเข้าใจประเทศที่เราไปลงทุนให้มาก ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าตลาดเขาขาดแคลนอะไร เทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสม ขายอย่างไรถึงจะมีโอกาสสำเร็จ เมื่อตีโจทย์แตกแล้วก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

จากประสบการณ์ทำธุรกิจที่เมืองจีนกว่า 30 ปี เจ้าสัวซีพีเผยว่า “การทำธุรกิจที่เมืองจีนไม่ใช่เรื่องง่าย คนจีนเป็นคนฉลาดมาก เรียนรู้เร็ว หากเราทำอะไรง่ายๆ พอเขาเห็นหรือรู้ เขาก็จะทำตามทันที”

“วันนี้ ซีพีจึงไม่ทำเฉพาะอาหารสัตว์ แต่ขยายให้ครบวงจรมากขึ้นตั้งแต่อาหารสัตว์ ไปเลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงการแปรรูปเป็นอาหารพร้อมรับประทาน”

“เราต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ให้นำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ ไม่อย่างนั้นก็จะโดนคนจีนเข้าแซงไปได้แน่นอน”

“การเข้าไปลงทุนที่เมืองจีนของเราถือว่าเป็นจังหวะดี เราประกาศเปิดประเทศไม่นานเราก็เข้าไป ขณะที่บริษัทต่างชาติรายอื่นเขายังลังเล เพราะจีนเวลานั้นอะไรๆ ก็ยังไม่พร้อม”

“จังหวะ คือปัจจัยความสำเร็จอันดับ 1 แต่ต้องมีเรื่องอื่นมาช่วยด้วย คือ โอกาส และสุดท้ายคือ คน”

กระนั้นเขาก็ยังบอกว่า เมืองจีนปัจจุบันไม่เหมือนกับเมืองจีนที่ซีพีเข้าไปบุกเบิกธุรกิจเมื่อกว่า 30 ปีก่อนอีกแล้ว ฉะนั้น กลยุทธ์ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเมื่อ 30 ปีก่อนก็ไม่แน่ว่าจะใช้ได้ผลกับวันนั้น พูดง่ายๆ คือ ไม่มีสูตรสำเร็จ

“แต่เรื่องหนึ่งที่นักธุรกิจต้องระลึกไว้เสมอคือ มีวิกฤต ก็ตามมาด้วยโอกาส”

“ในฐานะนักธุรกิจต้องเข้าใจว่าธุรกิจก็เหมือนกับคน บางทีป่วยบ้าง หายแล้วก็กลับมาแข็งแรง เวลาที่ดีที่สุดต้องเตรียมพร้อมว่าแย่ที่สุดเราจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ ไม่ล้มละลาย ตอนแย่ที่สุดต้องเตรียมพร้อมว่า ตอนที่ดีแล้วจะทำธุรกิจให้สำเร็จมากขึ้นอย่างไร”

“ผมทำธุรกิจที่เมืองจีนมานาน ผมเชื่อมั่นว่าเมืองจีนจะเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ วัฒนธรรมของคนจีนเป็นคนที่รู้จักบุญคุณ มีเยื่อใยไมตรีกับประเทศไทยและคนไทย”

“นี่คือโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทย”

  • พิมพ์เขียวประเทศไทย ‘สองสูง’ 

ธนินท์กล่าวไว้ในหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ว่า “สองสูง” หมายถึง ราคาสินค้าเกษตรสูงและเงินเดือนขั้นต่ำสูง เพราะสินค้าเกษตรถือเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ถ้าใช้สองต่ำคือ ไม่เพิ่มรายได้แล้วไปลดค่าครองชีพก็ไม่ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน

“เมืองจีนสมัยที่ยังไม่เปิดประเทศใช้วิธี ‘สองต่ำ’ ข้าวราคาต่ำ ประชาชนรายได้ต่ำ สุดท้ายกำลังซื้อไม่มี รัฐบาลก็เก็บภาษีไม่ได้ รัฐบาลจึงรายได้ต่ำไปด้วย พากันจนทั้งประเทศ”

“ไม่มีประเทศไหนใช้ ‘สองต่ำ’ แล้วประชาชนจะชอบ ประเทศเจริญแล้วต่างก็ใช้วิธีสองสูง ราคาสินค้าเกษตรสูง เงินเดือนขั้นต่ำสูง”

“ต้องไม่ลืมว่าสินค้าเกษตรคือ สมบัติของชาติ ถ้าสินค้าเกษตรราคาสูง สมบัติของชาติก็มากขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจประเทศดีก็สามารถพิมพ์เงินเพิ่มได้อีก”

“การใช้สองสูงต้องทำควบคู่กัน จะใช้สูงใดสูงหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเราขึ้นราคาสินค้าเกษตรเราต้องขึ้นเงินเดือนให้สมดุลกัน ถ้าขึ้นแต่สินค้าเกษตรจนเกษตรกรพากันผลิตออกมาเยอะแยะ แต่คนไม่มีกำลังซื้อจะไปขายให้ใคร ราคาก็จะสูงอยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดก็ต้องลดราคาลงมาอยู่ดี”

“ฉะนั้น ต้องใช้สองสูงอย่างมีการวางแผน” 

“ถ้ารัฐบาลทำให้เกิดสองสูงได้ประเทศจะมีโอกาสเติบโต เพราะเมื่อเกิดสองสูงจะทำให้ประชาชนมีเงินใช้จ่าย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลสามารถเก็บภาษีเพื่อใช้พัฒนาประเทศได้มาก แต่ถ้ารายได้ต่ำ หรือเป็นสองต่ำ ก็จะเป็นทางตรงกันข้ามคือ ไม่เกิดการใช้จ่าย เศรษฐกิจหดตัว ประเทศก็เจริญยาก”

“ไม่ว่าประเทศไหน หากบริหารจนเป็นสองต่ำ ถือว่าไร้ฝีมือ”

ทั้งนี้ เจ้าสัวธนินท์ถือเป็นบุคคลตัวอย่างของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับนับถือของนักธุรกิจทั้งในประเทศไทยและเอเชีย มีผลงานในการสร้างประโยชน์เพื่อสังคมจนเป็นที่ประจักษ์มากมาย อาทิ ในปี 2566 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star” หรือ “มงกุฎแสงแห่งอาทิตย์” จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการยกย่องและการรับรองในบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น และได้รับรางวัล “MALCOLM S. FORBES LIFETIME ACHIEVEMENT” จากนิตยสาร Forbes เนื่องจากผลงานและความสำเร็จที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งในด้านธุรกิจและการทำประโยชน์ให้กับสังคม

 

  • ‘สามัคคี’ สำคัญมากกับธุรกิจ 

เจ้าสัวซีพีกล่าวถึงอีกสิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจคือ “ความสามัคคี” โดยเฉพาะในหมู่พี่น้อง ที่พ่อของเขาเคยพูดไว้ว่า ต้องรู้จักรักและสามัคคีในหมู่พี่น้อง ความสามัคคีจะทำให้ดินกลายเป็นทองได้ ซึ่งพวกเราใช้เป็นหลักการในการทำงานจนทำให้เครือซีพีของเราผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งในช่วงเติบโต และช่วงวิกฤตมาได้ถึงวันนี้

“ความสามัคคีสำคัญมากกับธุรกิจ ยิ่งธุรกิจ SME ที่เป็นธุรกิจครอบครัวยิ่งสำคัญ ดังนั้น ผมจึงสร้างกฎเหล็กเพื่อรักษาความสามัคคีปรองดองของครอบครัวไว้”

ข้อ 1 ลูกชายที่แต่งงานแล้วต้องออกจากบ้าน 

กฎข้อนี้เป็นกฎเหล็กที่สืบทอดมาจากคุณพ่อ มีไว้เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง เพราะหากลูกชายที่แต่งงานแล้วยังอยู่บ้านใหญ่ต่อไปย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งในเรื่องส่วนตัวและลามเป็นเรื่องครอบครัวได้

ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สะใภ้ บุตรสาว เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว

ถ้าต่างคนต่างเอาภรรยามาเป็นบริษัทครอบครัว โอกาสที่คนเก่งๆ จะเข้ามาก็มีน้อยลง กฎข้อนี้มีจุดประสงค์เดียวกับกฎข้อแรก คือ ป้องกันความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง เพราะพี่น้องจะทะเลาะกันอย่างไรก็ยังเป็นพี่น้อง แต่พอมีภรรยามาเกี่ยวข้อง คราวนี้พี่น้องก็จะแตกกันได้

ข้อ 3 รู้จักให้อภัยพี่น้อง สร้างความกลมเกลียวในครอบครัว 

แม้จะพยายามวางกฎ 2 ข้อแรกไว้ป้องกัน แต่การทำธุรกิจระหว่างพี่น้องย่อมต้องมีความเห็นขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว จึงต้องมีกฎข้อ 3 นี้ไว้เพื่อรักษาความเป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัวและธุรกิจ

กฎข้อนี้สำคัญมาก ยิ่งตอนนี้เราดึงมืออาชีพมาทำงาน แน่นอนว่าต้องกระทบกับสถานะของคนในครอบครัว ถ้าพี่น้องไม่มีการให้อภัยกัน เอาแต่ต่อต้าน บ้านก็แตก ฉะนั้น ต้องให้อภัย ต้องเข้าใจว่าเราทำเพื่อระบบ ไม่ใช่ส่วนตัว หรือเพื่ออำนาจ แต่ทำเพื่อส่วนรวม

ข้อ 4 ไม่เห็นแก่ตัว อดทนเสียสละเพื่อพี่น้องและครอบครัว 

จะทำอะไร พี่น้อง ครอบครัวต้องได้ด้วย แล้วตัวเราเองเป็นคนที่ 3 ถึงจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่เอาตัวเรามาเป็นคนแรกที่ได้ประโยชน์ แบบนี้พี่น้องคงทะเลาะกันแน่

“ความไม่เห็นแก่ตัวนี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าไม่มีจิตใจตรงนี้เราก็จะกลุ้มใจ ชีวิตจะไม่มีความสุข อายุก็จะสั้น เงินที่ได้มาก็ไม่เป็นสุข เงินได้มามากพี่น้องก็ด่า แล้วเรามีเงินก็ใช้ไม่หมด เอาไปให้ลูกหลาน ลูกหลานก็ผลาญเงิน เสียอนาคต เสียหายอีก”

“ถ้าเรารู้จักให้ ไม่เห็นแก่ตัว พี่น้องจะรักเรา เคารพเรา เกรงใจเรา มีความสุขมากกว่ามีเงินมากๆ เสียอีก”

“ต้องรู้จักเสียเปรียบให้เป็น อย่าไปเอาเปรียบ”

นายธนินท์กล่าวในตอนท้ายของหนังสือไว้ว่า “ถึงวันนี้ ใครๆ จะบอกว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว แต่สำหรับผม วันนี้สำเร็จ…พรุ่งนี้อาจล้มเหลวได้”

“ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ยิ่งโตขึ้น ยิ่งต้องรับผิดชอบมากขึ้น…ยิ่งกดดัน”

“ทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกยังล้มหายตายจากไปได้”

“วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้อาจมีคนที่เก่งกว่า ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง ใครจะรู้ วันข้างหน้าเราอาจจะล้มเหลวก็ได้ ฉะนั้น มันยังไม่จบ”

“แบบนี้จะให้ผมฉลองได้อย่างไร”

“ความสำเร็จ…ดีใจได้วันเดียว”

“พรุ่งนี้ทำงานต่อ” 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image