วงเสวนาผู้หญิงอยากเห็น 4 กม.ลูก ส่งเสริมบทบาทสตรีสู่การเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท 31 กรุงเทพฯ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการส่งเสริมสตรีให้สตรีมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ อนุกมธ.กิจการสตรีของ สนช. และตัวแทนพรรคการเมืองกว่า 100 คนเข้าร่วม จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ร่วมกับ อินเตอร์เนชั่นแนล รีพับลิกัน อินสติติวท์ประจำประเทศไทย ว่า หากพิจารณาจากสถิติประชากรไทยที่มีจำนวนผู้หญิงมากกว่าครึ่งของประเทศนั้น ผู้หญิงก็ควรได้เป็นผู้แทนของประชาชนตามสัดส่วนนี้ด้วย ผู้หญิงยังมีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างจากผู้ชาย ทำให้เกิดการสร้างความหลากหลายในการพัฒนาประเทศ แต่จากสถิติจำนวนผู้สมัครและผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 – 2554 พบว่า อัตราส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งชายต่อหญิงเท่ากับ 10 : 1 คน ซึ่งอาจเนื่องมาจากสังคมไทยยังไม่ให้การยอมรับในศักยภาพและความสามารถของสตรี จึงทำให้โอกาสที่สตรีจะเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมืองยังมีไม่มาก ทั้งนี้ พม.เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงมีนโยบายให้ส่งเสริมและสนับสนุนสตรีได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ เริ่มจากการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเมืองระดับรากหญ้าที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด ในการส่งเสริมสตรีเข้าไปสู่การมีส่วนร่วมในระดับตัดสินใจทางการเมือง และเป็นฐานไปสู่การเมืองระดับชาติต่อไป

S__909333

รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในการเสวนาประเด็นรัฐธรรมนูญและการส่งเสริมสตรีให้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติพยายามบอกให้พรรคการเมืองส่งตัวแทนพรรคที่คำนึงถึงสัดส่วนชายหญิงมาสมัครเลือกตั้ง แต่ก็เขียนไว้กว้างๆ ไม่ได้ระบุเป็นโควต้า เพราะที่ผ่านมาก็มีข้อถกเถียงที่บางส่วนบอกว่า ต้องกำหนดสัดส่วนก่อนเพื่อให้มีผู้หญิงสู่เวทีการเมืองมากๆ ขณะที่อีกส่วนบอกว่าปริมาณอย่างเดียวไม่ได้ต้องคุณภาพด้วย ทั้งนี้ ร่างรธน.ไม่สามารถปรับแก้ได้แล้ว แต่ในส่วนกฎหมายลูก ได้แก่ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ส.ส. ส.ว.สามารถทำได้

ด้าน นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และผู้ประสานงานขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือวีมูฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาวีมูฟได้ประชุมและจัดทำข้อเสนอ เพื่อพยายามให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในทางการเมืองเป็นรูปธรรม พยายามทำให้คำว่า “คำนึง” ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคำว่า “ต้อง” ในกฎหมายลูก เพียงแต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องเท่าไหร่ เพราะจะขัดกับรธน. อาทิ การเสนอชื่อส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองต้องจัดให้ผู้หญิงอยู่ในลำดับที่มีโอกาส เพราะหากพรรคการเมืองไม่ทำ ก็ถือว่าผิดกฎหมาย สามารถเรียกสอบสวน หรือทำให้การเสนอชื่อเป็นโมฆะได้ หรือเรื่องการเลือกตั้งส.ว. เสนอให้แยกกลุ่ม ส.ว.ที่มาจากสายวิชาชีพที่มี 20 สาย อย่างสายเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการออกจากกัน เพราะทำให้สัดส่วนผู้หญิงน้อยลง ก็มาเพิ่มกลุ่มผู้หญิงต่างหาก หรือหากสู้ไม่ไหวก็รวมเด็กกับผู้หญิงเป็นกลุ่มเดียวกันก็ได้ อย่างไรก็ดี วีมูฟจะไปยื่นข้อเสนอให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เร็วๆนี้

Advertisement
S__909330
เรืองรวี พิชัยกุล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงเสวนามีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มองว่าควรทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม เพราะในรธน.ปี 2550 การใช้คำว่า “คำนึง” ถึงสัดส่วนทางเพศ ก็เป็นเพียงนามธรรมที่ไม่เกิดผล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรเสนอชื่อผู้หญิงที่มีความสามารถเข้ามา ไม่ใช่เข้าไปนั่งเป็นไม้ประดับในสภา ซึ่งควรต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสในการเมืองท้องถิ่น กำหนดสัดส่วนเป็นหนึ่งในผู้บริหารท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image