ห่วง! 10 ปีไม่ลดความรุนแรงผู้หญิง-เด็ก ยกเคส ‘น้องจีจี้’ กระตุกสังคม ‘เลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง’
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด (BBDO Bangkok) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง โดยได้ยกเคส
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็กแก้ไม่ได้ ตลอดปี 10 ไม่ลดลง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังโควิด-19 กระโดดเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จะหยุดยั้งอย่างไร ต้องพูดกับสังคมเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม เพราะสถิติที่เพิ่มทุกปี สะท้อนภาพบทเรียนที่ไม่อยากเรียนรู้จากการเสียชีวิต สถิติประเทศไทยพบความรุนแรง 1 ใน 4 ของโลก หลังจากนี้จะเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายและกลไกต่างๆ รวมถึงเรื่องอาวุธปืนที่เป็นปัญหาใหญ่ต้องควบคุม ไม่ให้ใช้กันง่าย ฆ่ากันเหมือนผักปลา โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ ต้องทำงานต่อไปเพื่อให้ปัญหาลดลง
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เราพยายามรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นประจำทุกปี โดยมูลนิธิฯ รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วง รวม 1,086 ข่าว โดยเฉพาะสถานการณ์การฆ่ากันที่สะท้อนเรื่องการสูญเสีย รองลงมาคือการทำร้ายกันเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการฆ่าตัวเอง และความรุนแรงทางเพศในครอบครัว
“การทำร้ายกัน มีทั้งการใช้อาวุธปืน อุปกรณ์มีด หรือทุกการทำร้ายให้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ใช่แค่ตบตีกัน แต่เป็นการทำร้ายกันที่เกือบเสียชีวิต สถานการณ์ทำร้ายกันเพิ่มสูงขึ้นของความรุนแรงในครอบครัว โดยปัจจัยกระตุ้นมีการดื่มแอลกอฮอล์สูงทุกปี ประเภทข่าวที่ทำร้ายกัน อันดับ 1 คู่สามีภรรยา ตามมาคือ พ่อแม่ลูก ต่อมาคือคู่รักแบบแฟนกัน มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1%” นางสาวอังคณากล่าว
นางสาวอังคณา กล่าวอีกว่า แบ่งเป็น 5 ประเภทข่าว ได้แก่ 1.ทำร้ายกัน 433 ข่าว คิดเป็น 39.9% เป็นเรื่องระหว่างสามี-ภรรยามากที่สุด 152 ข่าว คิดเป็น 35.1% พ่อ-แม่-ลูก 108 ข่าว คิดเป็น 24.9% คู่รักแบบแฟน 102 ข่าว คิดเป็น 23.6% เครือญาติ 71 ข่าว คิดเป็น 16.4% สาเหตุเพราะหึงหวง ง้อขอคืนดีไม่ได้ โมโห บันดาลโทสะ วิธีคิดแบบเป็นเจ้าของ มีอำนาจเหนือ การควบคุม ภายใต้ความหึงหวงในคู่รักแบบแฟนสูงมาก เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงในคู่รักแบบแฟน 2.ฆ่ากัน 388 ข่าว คิดเป็น 35.7% เกิดขึ้นในคู่สามี-ภรรยา 168 ข่าว คิดเป็น 43.3% อายุ 30-50 ปี เครือญาติ 94 ข่าว คิดเป็น 24.2% คู่รักแบบแฟน 64 ข่าว คิดเป็น 16.5% อายุ 20-30 ปี พ่อ แม่ ลูก 59 ข่าว คิดเป็น 15.2% และฆ่ายกครัว 3 ข่าว คิดเป็น 0.8% สาเหตุเพราะหึงหวง ตามง้อไม่สำเร็จ บันดาลโทสะ โมโหที่ถูกบอกเลิก ขัดแย้งเรื่องการเงิน วิธีการฆ่ากัน ปืนเป็นอันดับ 1 ต่อมาคือการใช้มีด การตบตี นอกจากนี้ผู้หญิงเวลาถูกใช้ความรุนแรงระยะเวลานานจะใช้การโต้กลับ ทำให้วันหนึ่งผู้หญิงฆ่าสามีสูงขึ้นจากการถูกทำร้ายเป็นประจำ
3.ฆ่าตัวตาย 213 ข่าว คิดเป็น 19.6% โดยผู้ชายเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 140 ข่าว คิดเป็น 65.7% ผู้หญิงเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 68 ข่าว คิดเป็น 31.9% และ lgbtq+ฆ่าตัวตาย 5 ข่าว คิดเป็น 2.4% สาเหตุเพราะน้อยใจคนรัก เครียดปัญหาหนี้สิน ตกงาน ป่วยจากโรคซึมเศร้า 4.ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 46 ข่าว คิดเป็น 4.2% โดยเกิดระหว่างเครือญาติ พ่อเลี้ยงทำกับลูกเลี้ยง ที่น่าตกใจคือพ่อทำกับลูกแท้ๆ ถึง 11 ข่าว คิดเป็น 23.9% และ 5.ความรุนแรงในครอบครัวอื่นๆ จำนวน 6 ข่าว คิดเป็น 0.6%
นางสาวอังคณา กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอในการแก้ปัญหา 1.สมาชิกในครอบครัวสังเกตพฤติกรรมความรุนแรงคนในครอบครัว สื่อสาร แก้ปัญหาร่วมกัน 2.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงควรสื่อสารปัญหาให้คนที่ไว้วางใจฟัง หรือปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มองเป็นเรื่องปกติ 3.ชุมชนเป็นฐานในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว บูรณาการงานร่วมกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศูนย์ยุติธรรมชุมชน กระทรวงยุติธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้ 4.มีมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น ทั้งอาวุธปืน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด โดยเฉพาะอาวุธปืนที่ต้องมีการขึ้นทะเบียน ต้องควบคุมและปราบปรามอาวุธเถื่อนอย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด
“ประเด็นความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่กลับไปสู่ความรุนแรงเหมือนเดิม ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเห็นคุณค่าเห็นพลังอำนาจของตัวเอง ผู้หญิงอาจต้องหาช่องทางเรื่องอาชีพ แต่กระบวนการที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่เสริมพลังอำนาจให้ผู้หญิงลุกขึ้นมา การแก้ปัญหาต้องทำแบบทีมสหวิชาชีพในการแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาจัดการปัญหา ข้อเสนอของหญิงชายก้าวไกล อยากให้ผู้หญิงเลิกให้โอกาสที่ 2 กับปัญหาเหล่านี้ สื่อสารกับคนในครอบครัวที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย นอกจากนี้ ยังต้องมีช่องทางไหนที่ช่วยคนรุ่นใหม่ที่เป็นคู่รักในการให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหา และผู้ที่ประสบปัญหาถูกใช้ความรุนแรงต้องไม่ให้โอกาสที่ 2 กับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เราจะไปยื่นหนังสือที่กระทรวงพม. เพื่อเสนอการแก้ปัญหาในประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน” นางสาวอังคณา กล่าว
นางสาวแรมรุ้ง วรวัช อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในส่วนภาครัฐมีข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ ปี 2566 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเฉลี่ย 78 คนต่อวัน ปี 2567 เฉลี่ย 42 คน โดยกรมกิจการสตรีฯ พบความรุนแรงจากการทำร้ายร่างกายอันดับ 1 ผู้ที่กระทำความรุนแรง คือ แฟน สามี และพ่อ โดยกรมกิจการสตรีฯ ได้ดูแลช่วยเหลือคุ้มครองครอบคลุมทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพและภาคเอกชน ภาครัฐพยายามยกระดับความช่วยเหลือสำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่การทำงานกับทัศนคติของคนเป็นเรื่องยาก เพราะหลายคนเคสเลือกที่จะเพิกเฉย เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ส่วนการป้องกันกรมกิจการสตรีฯ ทำเรื่องครอบครัวเข้มแข็งเพื่อลดความรุนแรง ในเชิงการป้องกัน เราต้องทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง โดยเริ่มจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ดำเนินการในพื้นที่ของกระทรวง 5 พื้นที่ในกรุงเทพฯ และจะขยายไปในท้องถิ่นด้วย ซึ่งงบประมาณในเรื่องการป้องกันน้อยมาก เช่น การอบรมให้ความรู้ ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่อาจเห็นผลช้า และนอกจากนี้ กรมกิจการสตรีฯ ก็จะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความรุนแรงให้กับสถานการณ์ปัจจุบัน
“นอกจากกระทรวงพม.จะมี 1300 แล้วตอนนี้มีไลน์ ชื่อ เพื่อนครอบครัว เป็นไลน์ที่เปิดให้คำปรึกษา เป็นอีกช่องทางหนึ่งของวัยรุ่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ความรัก ความรุนแรง เป็นไลน์ของกองครอบครัวโดยตรง มีการสื่อสารเชิงบวก และองค์ความรู้ ซึ่งเราพร้อมทำงานขับเคลื่อนร่วมกันสำหรับสังคม” นางสาวแรมรุ้งกล่าว
ด้าน นายทสร บุณยเนตร หัวหน้าครีเอทีฟ บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาแคมเปญรณรงค์ปีนี้ มีแนวคิด “อย่าให้โอกาสความรุนแรง ครั้งที่ 2” โดยยกกรณี น้องจีจี้ นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 1 ครั้ง มีการยื่นโอกาสให้กับคนรัก สุดท้ายเสียชีวิตทั้งคู่ ทั้งนี้ ได้ปรึกษาครอบครัวน้องจีจี้เพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้กับสังคมได้รับทราบในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณา อย่าให้โอกาสความรุนแรงกับคนอื่น แล้วเก็บโอกาสนั้นให้กับตัวเอง เพราะที่จริงแล้วน้องจีจี้ยังมีโอกาสในชีวิตอีกเยอะ ซึ่งน้องจีจี้กำลังจะเป็นนักร้อง ได้เล่นภาพยนตร์เรื่องแรกไปแล้ว แต่การให้โอกาสนี้กับความรุนแรง จึงทำให้ไม่มีโอกาสให้กับตัวเอง นอกจากนี้ยังนำเสนอช่องทางการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านกฎหมาย ที่พักชั่วคราว และแหล่งงาน
“ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมา 10 ปี มีแต่คำว่านับถือ เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ไม่ได้มาทำงานเพราะเงินแต่มาเพราะใจ และได้สสส. เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ผมจึงตั้งใจมากเพราะได้นำความรู้ความสามารถจากวิชาชีพโฆษณา ทำแคมเปญนี้ทำให้สังคมเกิดการรับรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็เป็นคำแนะนำเบื้องต้นให้คนที่เผชิญปัญหาอยู่ เพราะวันนี้ประเทศไทยมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงอันดับสูงเป็น 2 ของโลก ผมอยากแก้ปัญหาให้ไทยติดอันดับด้านดีๆ มากกว่า” นายทสร กล่าว