7 ปี ‘ปิดทองหลังพระฯ’ ฟื้นน้ำ-สร้างอาชีพ-ชุมชนเข้มแข็ง

“สหประชาชาติเพิ่งรู้จักและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ค.ศ.2015-2030) เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่ยั่งยืนมา 40-50 ปี ฉะนั้น หากโลกอยากรู้จักการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมาเมืองไทย มาเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

คำพูดน่าสนใจของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในโอกาส “แถลงผลการดำเนินงานปี 2559 และทิศทางการดำเนินงาน 5 ปีข้างหน้า” ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนอโศกมนตรี กรุงเทพฯ

IMG_2846

ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเกิดขึ้นมา 7 ปีด้วยการนำศาสตร์พระราชาไปเพิ่มโอกาสให้คนชนบท ให้มีที่ยืนมีความเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับคนเมืองมากขึ้น โดยเน้นการทำงานให้เป็นต้นแบบชุมชน แล้วกระจายไปในพื้นที่อื่นๆ ตามหลักของในหลวง ร.9 ที่เน้นการทรงงานเริ่มจากการทำเล็กๆ ก่อนจะขยายไปใหญ่ๆ ที่ผ่านมามี 5 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ น่าน อุดรธานี เพชรบุรี อุทัยธานี กาฬสินธุ์ แต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกันไป หลักๆ คือปัญหาขาดแคลนน้ำและความยากจน มูลนิธิจึงเน้นแก้ปัญหาเรื่องน้ำก่อนตามศาสตร์ในหลวง ร.9 ที่เมื่อมีน้ำก็ทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ทำให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้

Advertisement

ม.ร.ว.ดิศนัดดาภูมิใจกับผลงานในปี 2559 เพราะสามารถพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำจาก 1.7 หมื่นไร่ เป็น 2.1 หมื่นไร่ รวมถึงสามารถส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ให้ชุมชนในพื้นที่ต้นแบบมีรายได้จากการเกษตรเพิ่มขึ้น 118.7 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละเกือบ 3.5 หมื่นบาท จนพ้นเส้นความยากจนตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน ร้อยละ 16 ตลอดจนส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม/กองทุน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนสู่ความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 32 กลุ่ม มีมูลค่า 10 ล้านบาท มีเงินรวม 3.5 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวม 6.7 ล้านบาท

ในแผนงานปี 2560 มูลนิธิขยายผลพื้นที่ต้นแบบอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.โครงการที่ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนน้ำทำเกษตรกรรม ทั้งที่อยู่ติดเขื่อนอุบลรัตน์ทางทิศเหนือมี 989 ครัวเรือน และโครงการที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาสภาพป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม แม้เป็นเมืองฝน 8 แดด 4 แต่กลับไม่มีน้ำทำเกษตรกรรมในฤดูแล้ง เพราะไม่มีระบบจัดการน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงมี 5,546 ครัวเรือน

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ดิศนัดดาคิดอย่างท้าทาย “จะชวนชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลิกปลูกต้นยางพารา มาปลูกทุเรียนและมังคุด เพราะเป็นที่ต้องการของคนจีน แต่คิดว่าคงเปลี่ยนยาก เพราะเขาคุ้นชินกับยางพารา แต่ก็จะค่อยๆ ทำไป”

Advertisement

IMG_2211

เพราะความคิดท้าทายอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ดิศนัดดาก็เคยชวนเกษตรกร จ.น่านหันมาปลูกต้นมะนาวนอกฤดู เพิ่มมูลค่าจากประมาณกิโลกรัมละ 3 บาท เป็นกิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งสำเร็จมาแล้ว

นางสาวปัทมพร พิชัย อายุ 35 ปี เกษตรกรปลูกมะนาว และที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด อ.สองแคว จ.น่าน เล่าว่า ชาวชุมชนบ้านยอดและครอบครัวตนปลูกมะนาวมาเป็นทุนเดิม เป็นการปลูกแบบไม่มีความรู้เทคนิค ไม่มีตลาดรองรับ ทำให้ต้นมะนาวช่วงนั้นโทรม ผลผลิตที่ได้ก็ส่งขายตลาดล่าง บางครั้งก็ต้องขับรถไปขายเอง ยิ่งโดยเฉพาะฤดูฝนที่ผลผลิตออกมามาก พวกเราขายกันได้เพียงราคากิโลกรัมละ 2 บาท พอมาช่วงฤดูแล้งที่มะนาวแพง เรากลับไม่มีผล ก็ทำอย่างนี้กันมา ไม่มีใครเข้าไปช่วยหรือส่งเสริมอะไร ทำให้ขณะนั้นชุมชนมีหนี้สินรวม 10 ล้านบาท จนมูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้ามา ซึ่งตอนแรกยอมรับว่าพวกเราก็ไม่รู้จักหรอก นึกว่าใครจะเอาพระมาให้หรือเปล่า แต่เขาก็เข้ามาส่งเสริม เริ่มจากพัฒนาระบบน้ำให้พื้นที่มีน้ำรองรับทำการเกษตรทุกฤดู ต่อมาส่งเสริมการปลูกมะนาวนอกฤดู โดยมีเกษตรกรจังหวัดมาช่วยเหลือดูแล ประสานหาห้างสรรพสินค้าเพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร เหล่านี้ทำให้เกษตรกรมีมะนาวขายได้ทุกฤดู โดยเฉพาะมะนาวนอกฤดูสามารถขายขึ้นห้างหนึ่งแพค 20 ลูกขายราคา 63 บาท

“รายได้ช่วงนี้อาจแค่พออยู่ได้ เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ดิฉันก็มีความสุขที่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ ได้ทำอะไรร่วมกัน จากที่เคยทำงานเป็นสาวโรงงาน เลี้ยงเด็ก ก่อสร้างอยู่ในกรุงเทพฯมา 10 กว่าปี ต้องส่งเงินกลับบ้านและแทบไม่มีเงินเก็บเลย แต่นอกจากนี้ ดิฉันยังปลูกพืชอื่นๆที่ขายได้ อาทิ กล้วย ลูกชิด หวายแดง ขายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงพืชผักสวนครัวบริโภคภายในครัวเรือน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นศาสตร์พระราชา ที่นอกเหนือจากการทำการเกษตรแบบพอเพียงแล้ว ยังทำให้เรารู้จักพอ ไม่อยู่อย่างประมาท และโดยเฉพาะได้กลับมาอยู่กับครอบครัว” นางสาวปัทมพรกล่าวและว่าถึงสิ่งที่อยากทำ

ปัทมพร พิชัย (2)
ปัทมพร พิชัย

แม้ตอนนี้มีรัฐวิสาหกิจชุมชน ทำหน้าที่รับซื้อผลผลิตของสมาชิกในราคาประกัน มีเงินปันผลรายปี มีกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ แต่ในอนาคตก็อยากให้รัฐวิสาหกิจชุมชนรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในชุมชนทั้งหมด และให้พ่อค้าคนกลางซื้อผลผลิตผ่านรัฐวิสาหกิจชุมชน เพื่อสามารถควบคุมราคาได้ ป้องกันการกดราคา เกษตรกรที่ขายให้เราก็มีเงินปันผล มีสวัสดิการ มีกิจกรรมอบรมให้ความรู้ เทคนิค แม้เรื่องนี้ยากที่จะทำสำเร็จ แต่ก็จะค่อยๆทำไป

ศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน

IMG_5711

IMG_5710

IMG_5698

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image