ไชยชนก-ชิดชนก ชิดชอบ เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ‘บุรีรัมย์’ เมือง ‘แฟชั่นผ้าไทย’

ไชยชนก-ชิดชนก ชิดชอบ เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ‘บุรีรัมย์’ เมือง ‘แฟชั่นผ้าไทย’

ติ๊กถูกทุกข้อ! สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งกีฬา” นับตั้งแต่ “เนวิน ชิดชอบ” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาเป็นประธานบริหาร “สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” หนึ่งใน “ทีมใหญ่” การแข่งขันฟุตบอลลีกระดับสูงสุดของประเทศไทย “ไทยลีก” มีสนามเหย้าของสโมสร คือ ช้างอารีนา ความจุ 32,600 ที่นั่ง

เขานำทีมสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งชนะเลิศไทยลีกมากที่สุดถึง 9 สมัย และเคยทำผลงานระดับทวีปได้ดีที่สุด คือ การเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก 2013 รวมถึงในปีนี้ โดยยังมีลุ้นเข้ารอบลึกต่อไป

นอกจากฟุตบอล บุรีรัมย์ ยังมี “สนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต” ซึ่งเคยใช้จัดแข่งขันโมโตจีพีมาแล้ว และยังมีการจัดแข่งขัน “มาราธอน” ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ADVERTISMENT

พลิกจากจังหวัดที่ยากจนอันดับ 3 ของประเทศ ทะยานสู่จังหวัดที่มีชื่อเสียงจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

ADVERTISMENT

ติ๊กถูกด้านกีฬายังไม่พอ บุรีรัมย์ยังเป็นแหล่งทอ “ผ้าไหม” โดยเฉพาะ “ผ้าไหมมัดหมี่” ที่งดงาม โดยได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ วิธีการผลิต ลวดลาย การให้สี จากศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ส่งให้ชื่อเสียงของ “ผ้าไหมบุรีรัมย์” เป็นที่เลื่องลือ

สมดังคำขวัญจังหวัด “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม”

จากความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของบุรีรัมย์ ได้ถูกนำมา “เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ภายใต้การนำของ 2 ทายาท “ไชยชนก-ชิดชนก ชิดชอบ” ด้วยการจัดมหกรรมผ้าไทย “Colors of Buriram 2567” นำผ้าพื้นถิ่นสู่แฟชั่นระดับอินเตอร์ และเพียงปีแรกของการจัดงาน 3 วัน ก็ประสบความสำเร็จ ได้รับความสนใจคนมาเที่ยวชมงานกว่า 10,000 คน

ไชยชนก ชิดชอบ, ชิดชนก ชิดชอบ

เพื่อแสดงพลังว่า “บุรีรัมย์: ไม่ทำ-มะ-ดา” 2 ทายาทชิดชอบ “นก-ไชยชนก” และ “แนน-ชิดชนก” จัดงาน Colors of Buriram 2568 ครั้งที่ 2 จุดประกายการถักทอครั้งใหม่ของหัตถศิลป์ท้องถิ่นทั่วบุรีรัมย์ ถ่ายทอดผ้าไทยในมุมมองใหม่ให้มีความทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน และเหมาะสำหรับทุกช่วงวัย และมีการถ่ายทอดประวัติศาสตร์และกระบวนการหัตถกรรมในการทอผ้า อันเป็นเอกลักษณ์และศิลปะวัฒนธรรมของชาวบุรีรัมย์ ที่ได้ส่งต่อวัฒนธรรมของคนหลากหลายเจเนอเรชั่น

โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการผ้าไทยครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี “Colors of Buriram” เพื่อสืบสานและต่อยอดจากโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทรงร่วมงานกาล่าดินเนอร์เป็นการส่วนพระองค์ จัดโดยจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ณ สนามฟุตบอล ช้างอารีนา ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

ชิดชนก ชิดชอบ อายุ 33 ปี ในฐานะคณะผู้จัดงาน Colors of Buriram เผยถึงแรงบันดาลใจของงานนี้มาจากตัวเธอเองที่เป็นคนชอบผ้า ทั้งผ้าไทยและผ้าต่างประเทศ เมื่อเรียนจบจากอังกฤษแล้วกลับมาอยู่บ้าน และได้สัมผัสก็รู้สึกว่า “ผ้ามีเสน่ห์และมีคุณค่า”

“ถ้าเราดูแต่ละขั้นตอนกว่าจะได้ผ้าทอมา 1 ผืน ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่อยากให้เป็นสิ่งที่ถูกลืม แล้วคนที่อยู่อุตสาหกรรมนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยกันหมดแล้ว ทำให้อยากอนุรักษ์ และอยากให้คนมาสานต่อ ไม่ใช่ค่อยๆ ตายจากไป แล้วองค์ความรู้ตรงนี้ค่อยๆ หายไป จึงอยากทำอะไรที่อินสไปร์คนรุ่นใหม่ ให้มาเห็นคุณค่ากับสิ่งเหล่านี้”

ชิดชนก ชิดชอบ

ในฐานะ “นักเรียนออกแบบ” จบมัณฑนศิลป์ออกแบบภายใน Interior Design มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งลอนดอน หรือ UAL มหาวิทยาลัยประเทศอังกฤษที่มีชื่อเสียงอย่างมากในหลักสูตรด้านศิลปะ, การออกแบบ, แฟชั่น, การสื่อสารและศิลปะการแสดง

ชิดชนก ลูกสาวคนเดียว ซึ่งเป็นลูกคนที่ 2 ของเนวิน ในบรรดาพี่น้อง 4 คน “นก-แนน-หนุน-แน่น” มองเสน่ห์ของ “ผ้าไทย” เทียบเท่า “โอตกูตูร์” งานตัดเย็บชั้นสูงที่ทำขึ้นด้วยมือตั้งแต่เริ่มจนจบ และทำอย่างมีคุณภาพสูง

“ความพิเศษของผ้าไทย ชั่วโมงการทำงานของพวกแม่ๆ ที่ทอผ้าเท่ากับโอตกูตูร์แล้ว เพราะไม่ใช่แค่เอาผ้ามาตัดเย็บ แต่เริ่มตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม ขั้นตอนการทำทุกขั้นตอนมีคุณค่ามาก”

ขณะที่ นก-ไชยชนก ลูกชายคนโต อายุ 35 ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคพรรคภูมิใจไทย เสริมว่า ผ้าทุกชิ้นเป็นจิตวิญญาณของช่างทอผ้า เป็นสิ่งที่สะสมมาอย่างยั่งยืนนาน เป็นสิ่งที่ต่อให้มีทักษะแค่ไหนก็ไม่สามารถก๊อบกันได้ ทำให้เป็นหนึ่งงานหัตถกรรมที่ประเทศไทยมีเหนือกว่า และไม่มีที่อื่นที่ทำตามหรือก๊อบปี้ได้

“พวกเราไปเรียนต่างประเทศมา เราได้เห็นวัฒนธรรมหลายวัฒนธรรม เราได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างจากทั่วทั้งโลก แต่พอเรากลับมาเราได้เห็นประเทศไทยในแบบที่คนไทยอาจจะไม่ได้เห็น เพราะว่าคนไทยอะไรที่อยู่ใกล้ตัว เราอาจจะชิน เราก็อาจไม่เห็นค่า แต่พอพวกเราไปอยู่ตรงนั้นกลับมา เสน่ห์ คุณค่า ทุกสิ่งที่อย่างที่เราได้เห็น ไม่ใช่แค่เรื่องไหม แต่เสน่ห์วัฒนธรรมต่างๆ ของไทย มันมีคุณค่ามากมายมหาศาล และผมเชื่อว่า นักท่องเที่ยวก็ดี คนทั่วโลก ก็เห็นแบบนั้น เราจึงอยากเป็นแรงบันดาลใจ โดยทำเรื่องนี้ก่อน และค่อยขยายๆ ไปหลายๆ เรื่อง ให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หันมาเห็นคุณค่าตรงนี้”

ไชยชนก ชิดชอบ

ไชยชนกกล่าวจบ ชิดชนกก็ว่าต่อ “ต่างชาติเวลามาเมืองไทย จะให้คุณค่ากับสิ่งที่เขียนว่า Made in Thailand แนนก็คิดว่า เมื่อเราดังทั่วโลกเรื่องคุณภาพของ Craftsmanship หรืองานฝีมืออยู่แล้ว คนไทยกันเองอาจจะเห็นมันบ่อย และอาจจะลืมไปว่า ฉันเก่งนะ จึงอยากจะดึงตรงนี้ขึ้นมา เพื่อรีมายด์กันเองว่า สิ่งนี้ สิ่งที่ชุมชน แม่ๆ ป้าๆ ยายๆ ทำอยู่ จริงๆ แล้วมันอะเมซิ่งมากเลย”

เป็นความมหัศจรรย์ ที่คณะผู้จัดงานนำมาให้คำนิยามในนาม “Colors of Buriram”

“เราใช้คำว่า Colors ที่ไม่ใช่แค่เรื่องผ้าอย่างเดียว มันคือสีสันของคนที่ทอผ้า คนที่อยู่ในจังหวัด วัฒนธรรมประเพณีของเรา เพลง ดนตรีต่างๆ มันมีรสชาติคนอีสานที่มักม่วน ชอบความสนุกสนานเฮฮา ดูจากสีผ้าขาวม้า ดูจากสีผ้าที่เขาเลือก ดูจากดนตรีที่เขาฟัง เราเลยคิดว่า มันมีสีสัน ก็เลยใช้เป็นชื่อของงาน ซึ่งปีที่แล้ว เราโฟกัสเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มค่อนข้างมาก แต่ปีนี้ เราก็ขยายไปในเรื่องไลฟ์สไตล์มากขึ้น เป็นเฟอร์นิเจอร์บ้างอะไรบ้าง เพราะจริงๆ ผ้าของเรา สามารถประยุกต์ได้หลายอย่าง อยากให้คนได้เห็นภาพผ้าไหมไปอยู่กับไอเทมอะไรแปลกๆ ที่คนอาจไม่เคยเห็น แล้วคนลืมไปว่า โซฟาที่บ้านเก่าแล้ว สามารถเอาผ้าไหมไปบุนวมใหม่ได้นะ”

ขณะที่ ส.ส.บุรีรัมย์ก็บอกว่า อีกหนึ่งมิติที่เป็นเรื่องสำคัญ งานนี้เปรียบเสมือนการตอกตะปูให้รากฐานอุตสาหกรรมนี้พัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น เพราะสิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดกับอุตสาหกรรมนี้คือ สืบต่อไปเจเนอเรชั่นถัดๆ ไปไม่ได้ ซึ่งมีต้นตอของปัญหาในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเห็นคุณค่า การเข้าถึงโอกาส หรือแม้แต่การนำเสนอ รวมไปถึงการสร้างรายได้

“งานนี้ จึงเป็นการสมานกันระหว่างเจนเก่าและเจนใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น สร้างโอกาสให้ต่อยอดในคนรุ่นใหม่ ก็นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่เปรียบเสมือนวิชชาลัยผ้าเคลื่อนที่ ไปมอบความรู้ ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับช่างทอผ้าทั่วประเทศ ซึ่งเราก็ได้คัดเลือกน้องๆ เด็กๆ จากโครงการผ้าไทยใส่สนุกของพระองค์มาสืบสานงานผ้าต่อไป”

“นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการจุดประกาย แต่เมื่อมันขยายๆ ไปเรื่อยๆ มันจะยิ่งประกอบให้อุตสาหกรรมนี้สมบูรณ์ขึ้น ให้คนรุ่นใหม่กลับมาดูและสนใจงานคราฟต์มากยิ่งขึ้น ทำให้น้องๆ เด็กๆ เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้มีอนาคต ซึ่งถ้าคนเห็นค่าตรงนี้ จะเป็นการยกระดับทั้งหมด ทำให้ไทยเราโดดเด่นในเรื่องนี้ในเวทีโลก” ส.ส.บุรีรัมย์กล่าวย้ำ

จากการจัดงานครั้งแรกเพียง 3 วัน สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและชุมชน 10 ล้านบาท ปีนี้ จึงจัดเต็มจัดงาน 1 เดือน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 16 เมษายน เวลา 10.00-21.00 น. ณ สนามฟุตบอล ช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์

“ครั้งที่แล้วคนสนใจเยอะมาก มีแม่คนหนึ่งมากอดร้องไห้บอกว่า ป้าขายได้ 3 แสนบาท พอฟีดแบ๊กดี ก็เลยมีนโยบายให้เป็นอีเวนต์ ที่ต้องจัดทุกปี” แนนเผย

จากเมืองกีฬา การจัดงานครั้งนี้ นับเป็นการจุดประกาย “บุรีรัมย์เมืองแฟชั่น”

ไชยชนกกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เราไม่แม้จะเป็นเมืองผ่าน เราเป็นจังหวัดที่ยากจนอันดับ 3 ของประเทศไทย เราใช้กลไกของกีฬา แมสอีเวนต์ต่าง ในองค์ประกอบต่างๆ มันมีสเต็ปที่เราต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อให้คนมาสนใจจังหวัดบุรีรัมย์

“เราขยายมาทีละเรื่อง ตอนนี้เป็นในส่วนของประเพณีและวัฒนธรรม เรามาลองดูก่อนว่า ใน 1 เดือนที่เราจัดงาน จะดึงดูดใครเข้ามาเกี่ยวข้องหรือหลงใหลในเสน่ห์ของตรงนี้ และพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมจากตรงนี้เพิ่มเติมบ้าง และอีกหนึ่งความพิเศษ คือ คนบุรีรัมย์ที่เราปลูกฝังทัศนคติความเป็นเจ้าของ เป็นเจ้าเมือง เป็นเจ้าบ้านที่ดี พร้อมที่จะปรับตัวและเรียนรู้เสมอตามกาลเวลา จะทำให้เกิดคนที่กล้าคิดกล้าทำ ยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงตามโอกาสได้ มันไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะครอบครัวพวกเรา แต่เปลี่ยนกันทั้งจังหวัด”

ทุ่มเททำงานกันขนาดนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะถามว่า มีคุณพ่อเป็นแบบอย่างหรือไม่

สาวแนนตอบว่า “ก็เป็นไปได้ ก็มีคนทักอยู่ ก็น่าจะเหมือนพ่อที่สุดแล้ว เราทำงานด้วยใจรัก และก็ชินกับวิธีทำงานขององค์กรนี้ เวลาเราทำอะไรเราก็จะทำให้สุด มันอาจไม่เป็นอะไรที่เราคิดไปหลายสเต็ปหลายขั้นตอน แต่มันเหมือนกับว่า เรารู้ว่า เรามีอะไรดี เราไม่ได้ตั้งเป้า แต่แค่รู้สึกว่า เราอยากทำ มันทำให้เปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ”

แม้จะบอกตรงๆ ว่า ไม่เคยสนใจ ไม่เคยชอบฟุตบอลเลย แต่ก็ต้อง “ขอบคุณพ่อ” ที่ทำฟุตบอลขึ้นมา เพราะทำให้เธอทำงานง่ายขึ้น

“เมื่อเข้าไปในชุมชน พวกแม่ๆ ก็เปิดใจค่อนข้างมาก อันนี้เป็นเสน่ห์ของบุรีรัมย์เหมือนกัน ในเรื่องของความร่วมมือร่วมใจกันทำงาน”

ส่วนคำแนะนำจากคุณพ่อนั้น แนนว่า “สไตล์การเลี้ยงลูกบ้านนี้ คือ บุฟเฟต์มาก อยากว่ายน้ำเป็นใช่ไหม โยนลงบ่อ แต่พ่อก็จะมาสะกิดๆ อะไรอย่างนี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะปล่อยให้เรียนรู้ชีวิตเองมากกว่า”

ด้านไชยชนกก็เสริมว่า “เรามีคุณพ่อเป็นแบบอย่างในหลายด้าน คุณพ่อเป็นคนที่ทุ่มเท มุ่งมั่น เก่ง ถึงแม้คุณพ่อจะไม่ค่อยสอน ไม่ค่อยพูดบอกเราเป็นการสอน แต่จะสอนจากการกระทำ คุณพ่อจะใช้ชีวิตเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบ เหมือนหนังสือที่เปิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรามีเวลาที่จะไปนั่งอ่าน เราจะได้อะไรในทุกๆ วัน คุณพ่อเป็นคนที่มุ่งมั่นมาก ถ้าคุณพ่อตั้งใจ หรือพูดออกมาแล้วว่าอยากจะทำอะไร คุณพ่อจะทำอย่างสุดความสามารถด้วยความเต็มใจ”

“ซึ่งเราก็ซึมซับมาโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่ลูกๆ ทั้ง 4 คน แต่คนบุรีรัมย์ทั้งจังหวัดที่มาร่วมงาน มันกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว มันซึมซับในตัวพวกเค้าไปแล้ว เวลาเราทำอะไรร่วมกัน สมมุติเราจัดมาราธอน โมโตจีพี มีอาสาสมัครจากทุกระดับทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยเป็นส่วนร่วมของงานโดยไม่ต้องการเงินอะไรเลย”

“มันกลายเป็นจิตวิญญาณไปแล้ว ในการทุ่มเทของทุกๆ คน เป็นสิ่งที่คุณพ่อก่อให้เกิด knock-on effect ทำให้คนมีแรง และทำไปด้วยกัน” ส.ส.บุรีรัมย์กล่าว

เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของจังหวัดบุรีรัมย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image