‘พิน ชัญชกร’ ทายาทรุ่น 3 สานต่อ ‘มยุรี ข้าวตังทรงเครื่อง’ ตำนานความอร่อย 50 ปี

‘พิน ชัญชกร’ ทายาทรุ่น 3 สานต่อ ‘มยุรี ข้าวตังทรงเครื่อง’ ตำนานความอร่อย 50 ปี

รสชาติแห่งความทรงจำที่ถูกส่งผ่านมายังทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล สำหรับ “ร้านมยุรี ข้าวตังทรงเครื่อง” ที่เริ่มต้นจากความรักในครอบครัว “คูสกุล” เมื่อปี พ.ศ.2511 จากรสมือ “สมสมร คูสกุล” ที่จุดประกายความคิดที่จะทำอาหารไทยให้ลูกๆ นำติดตัวไปทานหลังเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งโจทย์ที่เธอต้องการคือ “ต้องอร่อยถูกปาก อิ่ม ไม่ใส่สารกันบูด ที่สำคัญคือ กินตอนไหนก็ได้”

หลังจากนั้นจึงได้ทดลองนำข้าวเกรียบข้าวหอมมะลิและหมูหยองมาผัดรวมกันในกระทะ จนกลายเป็น “ข้าวตัง” ขนมขบเคี้ยวที่ให้สัมผัสกรุบกรอบ หอมกรุ่น และรสชาติอร่อยกลมกล่อม ซึ่งการทดลองนั้นประสบผลสำเร็จ ถูกปากคนในครอบครัว จากนั้นทำแจกให้คนรู้จักในเทศกาลต่างๆ ผลปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจผู้ชิมด้วยเช่นกัน จึงเริ่มต้นผลิตขายอย่างจริงจัง ภายใต้ชื่อ “ข้าวตังทรงเครื่อง” และได้กลายเป็นข้าวตังในตำนานของเอกมัยเจ้าแรกในประเทศไทย “ยิ่งทาน ยิ่งอร่อย ยิ่งเคี้ยว ยิ่งชอบ” ที่ตราตรึงใจคนชิมกว่า 5 ทศวรรษ

พิน ชัญชกร ชัยพรหมประสิทธิ์

จากอาหารทานเล่นไทยโบราณสุดคลาสสิก “ข้าวตังทรงเครื่อง” ถูกส่งต่อมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 “พิน ชัญชกร ชัยพรหมประสิทธิ์” และ “พาย ภัทริศ ชัยพรหมประสิทธิ์” ผู้เข้ามาสานต่อมรดกความอร่อยของ “ข้าวตังทรงเครื่อง” แบรนด์ไทย ที่คัดสรรส่วนผสมวัตถุดิบที่ดีที่สุดของไทยที่ล้วนแล้วแต่ผลิตจากฝีมือของคนไทยทุกขั้นตอน อีกทั้งยังมีความต้องการให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น โดยยังคงรสชาติความอร่อยในแบบต้นตำรับ ไปพร้อมๆ กับการยกระดับภาพลักษณ์ให้ร่วมสมัยผ่านดีไซน์บรรจุภัณฑ์ใหม่ แต่สูตรความอร่อยยังคงเป็นแบบโบราณแท้ๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง

ADVERTISMENT

ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการสืบสานต่อ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ในยุคดิจิทัลและขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุน้อย สู่แบรนด์ขนมไทยโบราณโฉมใหม่ที่ผสานทั้งความคลาสสิกและความโมเดิร์นไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ภายใต้ชื่อใหม่ “มยุรี ข้าวตังทรงเครื่อง” ซึ่งมยุรี เป็นชื่อของคุณแม่ “มยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์” เนื่องจากอยากรักษา “มรดกของครอบครัวไว้” เพราะข้าวตังเปรียบเสมือนความรักของครอบครัว

“พิน ชัญชกร” เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเปิดพื้นที่พิเศษแห่งใหม่นี้ว่า “เราต้องการให้ร้านมยุรีข้าวตังทรงเครื่อง ไม่ใช่เพียงร้านค้าหรือคาเฟ่ทั่วไป แต่เป็นสถานที่ถ่ายทอดความทรงจำถึงคุณยายผู้ริเริ่มสูตรข้าวตังที่เคยวางขายหน้าบ้านอย่างเรียบง่าย ลูกค้ากลายเป็นเพื่อนบ้าน ทุกคำที่กินคือเรื่องราว เราจึงตั้งใจออกแบบพื้นที่นี้ให้อบอวลด้วยความทรงจำและเชื่อมโยงเรื่องราวระหว่างรุ่นสู่รุ่นผ่านรสชาติที่คุ้นเคย ที่ทุกคนเข้ามาแล้วรู้สึกอบอุ่นและจริงใจ”

สิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของตำนานความอร่อย คือการพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบและส่วนผสมจากผู้ผลิตที่ดีที่สุดของประเทศไทย ตั้งแต่ น้ำมันพืช ที่เราเลือกใช้น้ำมันพืชคุณภาพดีจากในประเทศ ที่ให้ความร้อนสม่ำเสมอ และไม่มีกลิ่นรบกวน เหมาะกับการทอดข้าวตังให้เหลืองกรอบ “โดยไม่อมน้ำมัน” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความกรอบและอร่อย

ในส่วนของส่วนผสมหลักอย่างข้าว ที่เลือกใช้เป็น “ปลายข้าวหอมมะลิไทย” ที่คัดสรรเฉพาะปลายข้าวคุณภาพดี ซึ่งแม้จะไม่ใช่เมล็ดเต็ม แต่ให้สีสวยและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ยังรวมไปถึง “หมูหยอง” จาก ส.ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่มีสัมผัสเบาและฟู แต่ยังคงความเข้มข้นของรสชาติ ไม่อมน้ำ หรือหวานจัดจนเกินไป จากนั้นนำมาปรุงรสด้วย เกลือ พริกไทย และน้ำตาล ที่ใช้น้ำตาลจากอ้อยไทย มีรสสัมผัสนุ่ม หวานละมุน เติมเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยชูรสของข้าวตังให้กลมกล่อม อร่อยลงตัวในรสชาติที่คุ้นเคย

ยิ่งไปกว่านั้นหลานสาวคุณยายยังเล่าต่อไปว่า กรรมวิธีในการผลิตยังใช้ “เตาถ่านทุกขั้นตอน” ตั้งแต่การทำข้าวเกรียบจนถึงการผัดคลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆ ทำให้ข้าวตังทรงเครื่องมีกลิ่นหอมกระทะอันเป็นเอกลักษณ์ของสูตรดั้งเดิมที่มีมานานกว่า 50 ปี โดยเริ่มจากนำข้าวหอมมะลิไปหุงให้สุกและพักทิ้งไว้ จากนั้นตักข้าวหนึ่งทัพพีใส่เครื่องกดพิมพ์ เราจะได้ข้าวเป็นแผ่นบางกรอบ

จากนั้นจะเริ่มขั้นตอนการผัดข้าวตังโดยการตั้งกระทะบนเตาถ่านใส่น้ำมัน นำข้าวเกรียบ หมูหยอง พร้อมเครื่องปรุงรส น้ำตาล เกลือ พริกไทย ผัดให้เข้ากันประมาณ 5-7 นาที ยกลงจากเตา สีของข้าวตังจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองบวกกับสีของหมูหยองก็จะชัดขึ้น พร้อมกลิ่นที่หอมชวนทาน โดยปกติผลิตอยู่ราว 400 กระปุกต่อวัน และเป็น 800-1,000 กระปุกในช่วงเทศกาล ซึ่งเธอเผยว่ามีทีมงานที่เชี่ยวชาญในการผัดอยู่ 3 คน และหนึ่งในนั้นคือพนักงานที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นคุณยาย

ร้านมยุรี ข้าวตังทรงเครื่อง โดดเด่นด้วยดีไซน์ร่วมสมัยที่ผสานกลิ่นอายความทรงจำแบบไทยๆ พร้อมพื้นที่จัดวางสินค้าที่เน้นงานฝีมือในทุกชิ้น รวมถึงฟังก์ชั่นเป็นจุดรับสินค้าออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในยุคดิจิทัลอีกด้วย ซึ่งการรีแบรนด์ดิ้งในครั้งนี้ยังรวมไปถึง “โลโก้” ที่เธอนำรูปของคุณยายเมื่อครั้งเดินทางไปเลือกข้าวที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อใช้ในการผลิตข้าวตัง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีกราฟิกดีไซเนอร์ รูปของโลโก้จึงมาจากฝีมือของคุณตาที่ลงมือถ่ายภาพและออกแบบด้วยตนเอง จนมาถึงยุคของทายาทรุ่นที่ 3 เธอจึงคงทุกอย่างบนโลโก้ไว้ เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงผู้ก่อตั้งแบรนด์

เข้ามาสานต่อธุรกิจข้าวตังในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจแรก และเป็นเรื่องที่ “ท้าทายมาก” สำหรับเธอ หลังจากที่ไปหาประสบการณ์ที่แบงก์และโรงแรมมาสักพักใหญ่ ด้วยความที่เธออยากทำธุรกิจอยู่แล้ว การได้เข้ามาทำในครั้งนี้จึงเป็นการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง โชคดีที่เธอมีความรู้ด้านดีไซน์เป็นทุนเดิม จึงนำมาใช้กับการรีแบรนด์ดิ้งในครั้งนี้ ซึ่งเธอก็เผยว่า “ชอบมาก” เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบทานขนม และชอบอาหารอยู่แล้ว ประกอบกับได้รับการซัพพอร์ตจากคุณพ่อ คุณแม่ ที่ปล่อยให้เธอทำอย่างเต็มที่ ซึ่งเธอก็นำความรู้จากคุณแม่ อย่าง “การตลาด” เรื่องการดีลกับลูกค้า ไปจนถึงการทำโปรโมชั่น ผสานกับความถนัดของคุณพ่อในด้าน “Business Plan” การวางกลยุทธ์ และเรื่องตัวเลขต่างๆ

โดยเธอเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนารสชาติที่ไม่มีน้ำตาล อย่างการทำ “ข้าวตังวีแกน” เพื่อสอดรับกับเทรนด์สุขภาพ ซึ่งเธอวางเป้าหมายใหญ่ในสเต็ปต่อไปไว้ว่า อยากให้ข้าวตังเป็นซอฟต์พาวเวอร์และส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะจุดเด่นของประเทศไทยก็คือข้าวนั่นเอง