กสม.จัดเวทีมอบรางวัล “สตรีนักปกป้องสิทธิฯ 2561”

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2561 พร้อมประกาศยกย่อง เชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยปีนี้มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติผู้หญิง และ องค์กร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวน 6 รายเข้ารับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ , ทีมฟุตบอลบูคู FC , นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค , น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) , นางดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา , น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยว่า ในปัจจุบันผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นมารณรงค์ยุติความรุนแรงทางเพศ ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ๆว่าสังคมต้องโอบกอดผู้ถูกคุกคามทางเพศ แต่ในประเทศไทยเอง นักปกป้องสิทธิฯ จำนวนมากต้องถูกคุกคาม ต้องเผชิญกับการทำร้ายร่างกาย การอุ้มฆ่า การสังหาร โดยเฉพาะการถูกฟ้องร้องจากรัฐและองค์กรต่างๆ ที่เพิ่มมากในรอบสองปีเศษที่ผ่านมา มีมากกว่า 20 กรณีทั้งบุคคลและองค์กร ทำให้เสียเวลา เสียทรัพย์ในการขึ้นศาล โดยคนที่ออกมาต่อสู้มีตั้งแต่เยาวชนจนถึงผู้สูงอายุ 78 ปี นอกจากนี้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิยังต้องพบกับความยากลำบากมากกว่าผู้ชาย อาทิ ทัศนคติว่าท้าทายต่อค่านิยมประเพณีดั้งเดิม หรือการคุกคามทางเพศ นอกจากนี้ยังไม่อาจอพยพย้ายถิ่นได้หากเกิดความเสี่ยงหรือเป็นภัยต่อชีวิตแบบผู้ชาย เพราะมีลูกเล็กและพ่อแม่ที่แก่เฒ่า

“ในฐานะกสม.รู้สึกกังวลใจต่อการนำเอามาฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิ ทั้งๆที่กฎหมายควรจะช่วยให้ผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการคุกคาม ปิดปาก ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ขอให้รัฐรับฟังความเห็นของประชาชนแม้จะแตกต่างจากรัฐ และรัฐต้องหามาตรการเพื่อปกป้องจากการถูกทำร้าย คุกคาม และการล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทำให้เกลียดชัง นอกจากนี้หากถูกทำร้ายรัฐต้องมีมาตรการที่นำเอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ลอยนวล ทั้งนี้หากกสม.ชุดนี้จะต้องถูกเซ็ตซีโร่ไป ก็ขอฝากกสม.ชุดต่อไปได้ทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง” อังคณาเผย

Advertisement

ด้าน ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตราภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีหลักการปฏิบัติในเรื่องผู้หญิงอยู่มาก อาทิ การเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในสตรีทุกรูปแบบหรือ ซีดอว์ มาหลายทศวรรษ หรือมีกฎหมายดีๆในประเทศเยอะ แต่ในแง่ความเป็นจริงกลับไม่ค่อยได้ผลมากนัก และมักจะใช้กฎหมายบางข้อเกินความจำเป็น โดยเฉพาะประกาศคสช. หรือพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ก็ตาม มาฟ้องร้องประชาชนที่ออกมาชุมนุม โดยอ้างหลังความมั่นคงเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งทั่วโลกก็แสดงความเป็นห่วงในจุดนี้ นอกจากนี้ปัจจุบันยังเป็นเทรนด์ทั่วโลกที่การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ ถูกนำมาใช้ทั่วโลกเพื่อระงับการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งจากรัฐ และบริษัทใหญ่ๆ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐกลับเข้าสู่อนุสัญญาซีดอว์ และยกเลิกการใช้กฎหมายหรือประกาศบางฉบับเกินความจำเป็น

เช่นเดียวกับในมุมของสื่อ หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลอย่าง หทัยรัตน์ พหลทัพ ที่นอกจากจะนำเสนอประสบการณ์ตรงแล้ว ยังขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและคสช. ว่า 1. ให้คืนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวกับสื่อมวลชน 2.ยกเลิกคำสั่งควบคุมป้องกันการทำงานสื่อทุกแขนง3. ยกเลิกการติดตามการทำงานสื่อ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปที่สถานีเช่นทุกวันนี้ และ 4. ขอเรียกร้องต่อสมาคมสื่อ ให้เปิดเผยผลการสอบกรณีคุกคามทางเพศต่อสาธารณะให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรและใครควรถูกลงโทษ

Advertisement

นอกจากนี้ ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายสลัมสี่ภาค และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยังได้เรียกร้องคสช.ให้ยุติการฟ้องร้องกรณีวีวอล์ก เดินเพื่อสันติภาพ รวมถึงการใช้ประกาศและกฎหมายอื่น ริดรอนสิทธิมนุษยชนด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image