เทคโนโลยีจดจำใบหน้า กับความล้มเหลวที่อังกฤษ

AFP

ในเวลานี้มีหลายประเทศแล้วที่นำเอาเทคโนโลยีจดจำใบหน้า หรือ “เฟซ รีค็อกนิชั่น” มาใช้ในงานบังคับใช้กฎหมาย ที่พบเห็นกันบ่อยที่สุดเป็นภายในบริเวณด่านตรวจพรมแดนต่างๆ ทั้งที่เป็นสนามบินและด่านตรวจทั่วไป แต่ที่ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ก็คือ การนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้กับฝูงชนในที่สาธารณะ อย่างเช่นในคอนเสิร์ต, งานเทศกาลต่างๆ หรือแม้กระทั่งแมตช์แข่งขันฟุตบอล เป็นต้น

ในประเทศอังกฤษ มีสำนักงานตำรวจหลายแห่ง รวมทั้ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่อำนวยการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของกรุงลอนดอน เริ่มต้น “ทดลอง” ใช้งานเทคโนโลยีนี้ในสถานการณ์จริง ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดเคลื่อนที่ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับระบบที่ติดตั้งเทคโนโลยีจดจำใบหน้านี้ในเทศกาลสาธารณะต่างๆ ดังกล่าว และกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอย่างหนักจากองค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิของประชาชน รวมทั้งองค์การไม่แสวงผลกำไรอย่าง “บิ๊กบราเธอร์ วอทช์” ถึงขนาดมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้รัฐบาลระงับใช้เทคโนโลยีนี้

ระบบดังกล่าวเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “ระบบจดจำใบหน้าอัตโนมัติ” หรือ “เอเอฟอาร์” (Automated Facial Recognition systems-AFR) ซึ่งจะใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อเปรียบเทียบใบหน้าของทุกคนที่อยู่ในฝูงชนเข้ากับใบหน้าของอาชญากร หรือคนร้ายที่อยู่ในหมายจับ หรือเป็นที่ต้องการตัวของเจ้าหน้าที่โดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นจะเตือนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรู้และเข้าจับกุม

ข้อวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นที่มาของการต่อต้านกันจนถึงโรงถึงศาล ทั้งๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน เป็นเพราะฝ่ายต่อต้านเห็นว่า เอเอฟอาร์นั้น “ปราศจากความแม่นยำแทบจะสิ้นเชิง” ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจับกุมตัวคนผิดไปเป็นจำนวนมาก และสร้างความหวั่นกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป อาทิ กลัวจนไม่ยอมออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องสิทธิของตนเอง เพราะเกรงว่าจะตกเป็นเหยื่อของความไม่แม่นยำดังกล่าว

Advertisement

ผลจากการทดลองระบบเอเอฟอาร์ ที่ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลอังกฤษนำมาทดลองใช้ที่ผ่านมา ซึ่งจำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร ตามคำร้องขอให้เปิดเผยของ “บิ๊กบราเธอร์ วอทช์” นั้น แสดงให้เห็นว่า ระบบเอเอฟอาร์นี้ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพเมื่อใช้งานภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่นตามด่านพรมแดนนั้น กลับไม่มีประสิทธิภาพเอาเลยเมื่อนำมาใช้ในการตรวจสอบ “ฝูงชน” เป็นจำนวนมาก

ระบบเอเอฟอาร์ของตำรวจนครบาลอังกฤษ แสดงผลการตรวจสอบที่เป็นบวก (คือสามารถจับคู่ใบหน้าฝูงชนกับใบหน้าคนร้ายในฐานข้อมูลได้) ที่ผิดพลาดถึง 98%

หมายความว่า ในผลการจับคู่ใบหน้าที่ระบบแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดนั้น มีการจับคู่ “ผิด” มากถึง 98 ครั้งจากจำนวน 100 ครั้ง พูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากตำรวจอังกฤษเข้าจับกุมตามที่ระบบเอเอฟอาร์ระบุทั้งหมด ก็จะเป็นการจับกุมผู้บริสุทธิ์มากถึง 98 รายนั่นเอง

Advertisement

ที่เหลืออีก 2% นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้เข้าไปจับกุมเช่นกัน สาเหตุสืบเนื่องจากรายแรก เป็นบุคคลที่ตรงกับรายชื่อต้องการตัวจริง แต่เป็นรายชื่อเก่าที่ไม่ใช้แล้ว ส่วนอีกรายก็เป็นบุคคลในรายชื่อและมีใบหน้าในฐานข้อมูลเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีการจับกุม เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีความผิดปกติทางจิต และเป็นคนที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว

ทางตำรวจนครบาลอังกฤษเปิดเผยว่า ระหว่างการทดลองใช้งานดังกล่าวนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ประจำเพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบอยู่ตลอดเวลา ส่วนเครสสิดา ดิค ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอังกฤษเข้าให้ปากคำต่อศาลในคดีนี้ว่า ไม่ได้รู้สึกอึดอัดกับระบบเอเอฟอาร์แต่อย่างใด และไม่ได้คาดด้วยว่า เอเอฟอาร์จะทำให้ต้องจับกุมคนเป็นจำนวนมากๆ แต่อย่างใด

นอกเหนือจากอังกฤษแล้ว ในสหรัฐอเมริกา หลายๆ บริษัทก็เริ่มมีความพยายามนำเทคโนโลยีนี้เสนอให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทดลองใช้งาน รวมทั้งระบบที่อเมซอนพัฒนาขึ้นด้วย

ส่วนในจีน เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนก้าวหน้าไปไกลถึงกับใช้แว่นกันแดดที่ติดตั้งเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเป็นประจำอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image