นาซาได้ฤกษ์ส่งยานสำรวจดวงอาทิตย์ บรรลุความพยายาม 60 ปี

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ได้ปล่อยยานอวกาศเพื่อมุ่งหน้าไปยังดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ในปฏิบัติการครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติสำหรับการสำรวจดวงอาทิตย์ โดยการนำยานพาร์คเกอร์ โซลาร์ พร็อบ ขึ้นไปสำรวจดวงอาทิตย์ เพื่อไขปริศนาของพายุสุริยะที่แสนจะอันตราย หลังจากความพยายามอันยาวนานของนักวิทยาศาสตร์ที่กินเวลานานถึง 60 ปี เพื่อการมุ่งสู่ดวงอาทิตย์อันร้อนแรง

โดยยานสำรวจที่มีมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะต้องเดินทางเป็นระยะทางถึง 150 ล้านกิโลเมตร เพื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ให้มากที่สุดเท่าวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเคยทำมา และจะปล่อยยานสำรวจให้อยู่ในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า “โคโรนา” ในภารกิจที่จะกินเวลายาวนาน 7 ปี ซึ่งยานสำรวจพาร์คเกอร์ โซลาร์ พร็อบนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับชั้นบรรยากาศนี้โดยเฉพาะ มีการห่อหุ้มด้วยแผ่นกันความร้อนระดับสูงที่มีความหนาเพียง 11.43 เซนติเมตร แต่สามารถปกป้องยานสำรวจนี้ให้อยู่รอดได้แม้จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากก็ตาม

และหากไม่มีอะไรผิดพลาดในภารกิจกินเวลา 7 ปี ยานสำรวจนี้จะโคจรรอบดวงอาทิตย์ 24 รอบ ลอยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 6.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งใกล้มากพอที่จะทำการศึกษาปรากฏการณ์ของลมสุริยะและ “ชั้นบรรยากาศโคโรนา” ของดวงอาทิตย์ซึ่งมีอุณหภูมิ ร้อนกว่าบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ถึง 300 เท่า ที่ราว 1,400 องศาเซลเซียส

จัสติน แคสเปอร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลโครงการนี้ และยังเป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เปิดเผยว่า ยานพาร์คเกอร์ โซลาร์ พร็อบ จะช่วยทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ดีขึ้นเกี่ยวกับการรบกวนของลมสุริยะที่จะกระทบถึงโลก และการรู้จักลมสุริยะและพายุอวกาศมากขึ้น ก็ยังจะช่วยในการปกป้องนักสำรวจอวกาศห้วงลึกได้ เมื่อมีการเดินทางไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร

Advertisement

สำหรับการตั้งชื่อยานสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งนี้ ตั้งชื่อตาม “ยูจีน พาร์คเกอร์” นักฟิสิกส์สุริยะ วัย 91 ปี ผู้อธิบายปรากฏการณ์ลมสุริยะได้เป็นคนแรกของโลก เมื่อปี ค.ศ.1958 และถือเป็นครั้งแรกที่นาซาตั้งชื่อของโครงการสำรวจอวกาศเป็นชื่อของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่

โดยพาร์คเกอร์กล่าวก่อนการปล่อยยานราว 1 สัปดาห์ว่า พึงพอใจต่อการออกแบบยานพาร์คเกอร์ โซลาร์ พร็อบ ที่เรียกได้ว่าเป็นเครื่องจักรกลที่มีความซับซ้อนอย่างมาก

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์อยากที่จะสร้างยานสำรวจแบบ “พาร์คเกอร์ โซลาร์ พร็อบ” มานานกว่า 60 ปี แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีทนความร้อนที่ดีพอ กระทั่งมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการกันความร้อนที่จะสามารถปกป้องเครื่องมือที่อ่อนไหวภายในยานเอาไว้ได้ จึงเกิดเป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ลำนี้ขึ้นมา

Advertisement

นอกเหนือจากการทนความร้อนแล้ว ยานพาร์คเกอร์ โซลาร์ พร็อบ ซึ่งมีน้ำหนักรวมราว 685 กิโลกรัม ยังเป็นยานที่บินได้เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา โดยเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว ยานพาร์คเกอร์ โซลาร์ พร็อบ จะวิ่งด้วยความเร็วถึงเกือบ 700,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเท่ากับบินจากนิวยอร์ก ไปโตเกียวด้วยเวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ ยานสำรวจดวงอาทิตย์ลำนี้ออกแบบและสร้างขึ้นโดย แอพพลายด์ ฟิสิกส์ ลาบอราทอรี จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ที่ยังได้มีการใส่การ์ดชื่อของผู้คนกว่า 1.1 ล้านคน ไปบนยานด้วย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเชื้อเชิญผู้คนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ด้วยการส่งชื่อของตัวเองเขียนบนการ์ดเพื่อนำขึ้นไปบนยาน และเมื่อเดือนพฤษภาคม นาซาก็ยืนยันว่ามีชื่อที่ถูกนำขึ้นไปบนยานพาร์คเกอร์นี้ด้วยทั้งหมด 1,137,202 ชื่อ

นอกเหนือจากการ์ดชื่อแล้ว ก็ยังมีภาพของนายพาร์คเกอร์ใส่ไปกับยาน พร้อมกับเอกสารเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องพายุสุริยะ เมื่อปี 1958 ที่ถูกนำขึ้นไปร่วมสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image