ญี่ปุ่นเล็งทดลอง “ลิฟต์อวกาศ”

NASA

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิซูโอกะ ในญี่ปุ่นได้จัดส่งชุดอุปกรณ์สำหรับการทดลองหลักการ “ลิฟต์อวกาศ” ขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ในคืนวันที่ 10 ต่อเนื่องกับเช้าวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา โดยส่งขึ้นไปกับยานขนส่ง โคอุโนโทริ คาร์โก ชิป “เอช-2บี” หมายเลข 7 ของสำนักงานการบินอวกาศเพื่อการสำรวจแห่งญี่ปุ่น (เจเออีเอ) ซึ่งถูกส่งขึ้นจากศูนย์อวกาศ เทเนกะชิมา ในจังหวัดคาโงชิมะ ซึ่งจะเดินทางไปเทียบสถานีอวกาศนานาชาติในห้วงอวกาศต่อไป

ชุดวัสดุอุปกรณ์สำหรับการทดลองทั้งหมดในครั้งนี้พัฒนาขึ้นมาโดยทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ชิซูโอกะ สำหรับการทดลองการทำงานจริงของระบบลิฟต์อวกาศเต็มรูปแบบ เพียงย่อส่วนให้เล็กลง และเป็นการทดลองในห้วงอวกาศจริงๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลก ที่มีการทดลองการเคลื่อนที่ขึ้นลงของตัวลิฟต์ในห้วงอวกาศ ต่างกับการทดลองก่อนหน้านี้ที่เป็นเพียงการทดลองโยงสายเคเบิลเท่านั้น

หากการทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยเพิ่มความสนใจให้กับระบบการขนส่งด้วยลิฟต์สู่ห้วงอวกาศ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงกันมานานแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ หลายคนก็ยังเคลือบแคลงว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่

ในการทดลองซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งนี้ กำหนดให้มีการปล่อยดาวเทียมทรงลูกบาศก์ขนาดเล็ก ที่นิยมเรียกกันว่า “คิวบ์แซท” จำนวน 2 ดวง จากสถานีอวกาศนานาชาติ คิวบ์แซท ทั้ง 2 ดวงถูกเชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิล ซึ่งมี “ตู้ลิฟต์” ขนาดเล็กติดตั้งอยู่ ทำหน้าที่จำลองการทำงานของตู้ลิฟต์อวกาศที่จะเคลื่อนที่ไปตามสายเคเบิลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในห้วงอวกาศโดยอาศัยกำลังจะมอเตอร์ที่ติดตั้งไว้กับตัวตู้เอง และทีมวิจัยได้ติดตั้งกล้องจับภาพไว้เพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของตัวตู้ในห้วงอวกาศ

Advertisement

ตามข้อมูลซึ่งเผยแพร่ออกมาเป็นครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์ ไมนิจิ ของญี่ปุ่นระบุว่า คิวบ์แซท ทั้ง 2 ดวง มีขนาดไม่เกิน 10 เซนติเมตรในแต่ละด้าน ส่วนสายเคเบิลเหล็กกล้าที่ใช้ติดตั้งตู้ลิฟต์อวกาศจำลองซึ่งเชื่อมดาวเทียมลูกบาศก์ทั้งสองดวงเข้าด้วยกันก็มีความยาวเพียง 10 เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนขึ้นและลงของตู้ลิฟต์

โยจิ อิชิกาวะ หัวหน้าทีมวิจัยและทดลองในครั้งนี้บอกกับไมนิจิว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ลิฟต์อวกาศมีโอกาสเป็นจริงได้ค่อนข้างสูง และจะส่งผลให้การเดินทางในอวกาศเป็นอะไรที่เป็นที่นิยมกันในอนาคต

ลิฟต์อวกาศถือเป็นความใฝ่ฝันของวิศวกรจำนวนไม่น้อยในอดีตที่ผ่านมา และเริ่มจริงจังมากขึ้นในปี 2012 เมื่อบริษัทญี่ปุ่น โอบายาชิ คอร์ป ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ประกาศแผนการที่จะสร้างลิฟต์อวกาศให้สามารถใช้งานได้จริงภายในปี 2050 แนวความคิดดังกล่าวได้รับความสนใจจาก กูเกิล เอ็กซ์ ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของกูเกิล ที่รับผิดชอบในการแสวงหาและส่งเสริมแนวความคิดระดับ “บิ๊กไอเดีย” สำคัญต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้จัดการแข่งขัน “เอ็กซ์ไพรซ์” หลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา

Advertisement

ต่อมาเมื่อปีที่แล้ว สถาบันเพื่อเทคโนโลยีการส่งยานอวกาศแห่งจีน (ซีเอแอลวีที) ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของบรรษัทเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การบินอวกาศจีน (ซีเอเอสทีซี) ก็ประกาศแผนการเพื่อการพัฒนาระบบลิฟต์อวกาศให้สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน โดยขีดเส้นตายเอาไว้ที่ปี 2045 นี้เท่านั้น

แม้ว่าแนวคิดเรื่องลิฟต์อวกาศ ครั้งหนึ่งจะถือว่าเป็นจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันนักวิชาการด้านวิศวกรรมอวกาศบางคนกลับเชื่อว่า ความคิดนี้อาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสำรวจอวกาศในอนาคต ในฐานะเป็นทางเลือกทดแทนการจัดส่งสัมภาระโดยใช้จรวด ซึ่งแม้จะมีการสร้างให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และทรงพลังมากขึ้น แต่ในที่สุดก็จะมีข้อจำกัดในแง่น้ำหนักของสัมภาระจรวดส่งแต่ละลำสามารถนำขึ้นสู่อวกาศได้ เช่นเดียวกับที่อานุภาพของจรวดก็อาจถึงขีดจำกัดแล้วในขณะนี้

การใช้ลิฟต์อวกาศจะส่งผลให้การขนย้ายทั้งคนและสัมภาระสู่อวกาศ มีต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ และช่วยให้สามารถจัดสร้างสถานีอวกาศที่ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

โอบายาชิ คอร์ป เคยประเมินไว้ว่า ลิฟต์อวกาศเจเนอเรชั่นแรกสุดน่าจะมีต้นทุนอยู่ที่ราว 10 ล้านล้านเยน หรือราว 90,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image