ชี้ตำนาน “โป๊ปสตรี” มีหลักฐานยืนยัน

ภาพเขียนเก่าแสดงให้เห็นเหตุการณ์โป๊ปโจนคลอดขณะร่วมอยู่ในขบวนแห่ของโบสถ์แห่งหนึ่ง (ภาพ-The New York Public Library)

ไมเคิล ฮาบิคท์ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในเมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยถึงการค้นพบหลักฐานที่อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พระสันตะปาปาสตรี พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งคริสตจักรนั้นอาจมีอยู่จริง ไม่ได้เป็นเพียงตำนานที่เล่าสืบต่อมากันมาจากยุคกลางของยุโรปเท่านั้น

ตำนานเกี่ยวกับพระสันตะปาปาสตรีนี้มีบอกเล่ากันหลากหลายมาก แต่โดยรวมแล้วเป็นการระบุว่า พระสันตะปาปา “จอห์น” หรือ “โยฮันเนส แองกลิคัส” ซึ่งปกครองศาสนจักรในช่วงกลางศตวรรษที่ 9 นั้น แท้จริงแล้วเป็นสตรี หรือ “โป๊ปโจน” (Pope Joan)

ตัวอย่างเช่นเรื่องที่เขียนขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 13 โดยบาทหลวงโดมินิกันจากโปแลนด์ชื่อ มาร์ติน ซึ่งอ้างว่า “โป๊ปโจน” นั้นในตอนแรกทุกคนเข้าใจกันว่าเป็นบุรุษเพศ ต่อเมื่อทรงครรภ์แล้วคลอดระหว่างประกอบพิธีในโบสถ์ถึงได้ตระหนักกันว่าโป๊ปโจนเป็นสตรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านศาสนารวมทั้งนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยึดถือเรื่องนี้เป็นเพียงตำนานที่แต่งขึ้น และไม่เชื่อว่า โป๊ปโจฮันเนส แองกลิคัส (Johannes Anglicus) หรือ โป๊ป โจแอนเนส แองกลิคัส (Pope Joannes Anglicus) นั้นจะมีอยู่จริง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าเป็นบุรุษหรือสตรีด้วยซ้ำไป

Advertisement

ฮาบิคช์ เชื่อว่าความเคลือบแคลงต่อการมีอยู่จริงดังกล่าวนั้น เกิดจากความสับสนมหาศาลของการพรรณนารูปพรรณขององค์สันตปาปาในช่วงกลางศตวรรษที่ 9 ดังกล่าว ตัวอย่างของความสับสนดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดจาก “ลิเบอร์ พอนติฟิคาลิส” ซึ่งเป็นบันทึกชีวประวัติของพระสันตะปาปาในช่วงต้นของยุคกลาง ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลือรอดมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่มีบันทึกถึง พระสันตะปาปา เบเนดิคท์ที่3 ไว้เลยแม้แต่น้อย

ฮาบิคท์ ยอมรับว่า ไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาเรื่อง โป๊ปสตรีผู้นี้แต่อย่างใด เพราะตนเองก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นเช่นเดียวกัน การค้นพบครั้งนี้เริ่มต้นจากการเข้าไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการปลงพระศพด้วยการฝังพระสันตะปาปาในกรุงโรมในอดีตซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโป๊ปสตรีใดๆ แต่ยิ่งค้นคว้ามากเข้าก็ยิ่งรู้สึกว่าเบื้องหลังตำนานโป๊ปสตรีมีหลายอย่างแฝงอยู่มากกว่าที่คิดไว้

สิ่งที่ฮาบิคท์ ค้นพบว่าอาจเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการมีอยู่จริงของสันตปาปาสตรีคือ เหรียญเงินขนาดเล็กที่เรียกกันว่าเหรียญ เดอนิเยร์ (deniers) ซึ่งใช้กันแพร่หลายในยุโรปตะวันตกในช่วงยุคกลาง ชื่อเรียกเหรียญดังกล่าวมาจากนั้นมีที่มาจากเหรียญเงินในยุคโรมันโบราณที่เรียกกันว่า “เดนาริอุส” ตัวเหรียญเดนิแยร์ในยุคกลางนั้นค่อนข้างเล็ก ขนาดพอๆกับเหรียญไดม์ (ไดม์ หรือ เหรียญ 10 เซนต์ของสหรัฐอเมริกา เส้นผ่านศูนย์กลาง 17.91 ม.ม.ใกล้เคียงกับเหรียญ 50 สตางค์ของไทยซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ม.ม.)

Advertisement

หรียญ เดอนิเยร์ ที่ฮาบิคท์ ตรวจสอบนั้นด้านหนึ่งเป็นพระนามของจักรพรรดิแห่งฟรานเจียส์ หรือ จักรพรรดิแห่งแฟรงค์ส (คือ จักรพรรดิลุดวิกที่ 2 แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) อีกด้านจะเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สันตปาปา ซึ่งทำขึ้นจากอักษรย่อพระนามพระสันตะปาปาในแต่ละยุค เรียกกันว่า โมโนแกรมขององค์สันตปาปา โดยมุ่งการตรวจสอบไปที่เหรียญซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อว่าด้านหนึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของ สันตปาปา จอห์นที่8 ซึ่งปกครองศาสนจักรระหว่างปี ค.ศ. 872-882

ภาพสเกตช์แสดงสัญลักษณ์แทนพระนามสันตปาปาโจนบนด้านหนึ่งของเหรียญเดอนิเยร์กับพระนามจักรพรรดิแห่งแห่งแฟรงค์สบนอีกด้านของเหรียญ (ภาพ-Michael Habicht)

นักโบราณคดีรายนี้ระบุว่า แม้เหรียญเดนิเยร์ บางส่วนจะเป็นตราสัญลักษณ์ของสันตะปาปา จอห์นที่8 จริง แต่มีเหรียญกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้กันในช่วงต้นๆ ของช่วงเวลาดังกล่าวที่มีตราสัญลักษณ์หรือโมโนแกรมแตกต่างกันออกไป ทั้งการวางตำแหน่งอักษรแต่ละตัวและทั้งการออกแบบโดยรวม ฮาบิคท์เชื่อว่าเหรียญเหล่านี้ผลิตขึ้นในยุคของพระสันตะปาปา โจน หรือ โจฮันเนส แต่ถูกเข้าใจผิด รวมเข้าไปเป็นเหรียญของ พระสันตะปาปา จอห์นที่ 8

พระสันตะปาปา โจฮันเนส นั้นมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ปกครองศาสนจักรระหว่างปีค.ศ. 856-858 โดย คอนราด โบโธ นักบันทึกเหตุการณ์เคยบันทึกไว้ว่า ในปี ค.ศ. 856 โป๊ปโจฮันเนส เป็นผู้ประกอบพิธีสถาปนาพระเจ้าหลุยส์ที่2 แห่งอิตาลี ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

ฮาบิคท์ เชื่อว่าเหรียญดังกล่าวไม่ได้ทำปลอมขึ้นมาแน่นอนเนื่้องจากเป็นเหรียญที่ไม่นิยมสะสมกัน เคยมีผู้พยายามนำเหรียญจริงออกมาประมูลเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็ไม่มีผู้ซื้อต้องคืนกลับเจ้าของทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ฮาบิคท์ ชี้ว่าเหรียญดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นมากๆ แต่คาดหวังว่าจะกระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานอื่นๆ มายืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image