มหันตภัย ‘เอทนา’ ภูเขาไฟที่ไถลลงทะเล

มอร์เอลเลีย อูร์ล็อบ นักวิชาการด้านธรณีพลวัตทางทะเล จากศูนย์จีโอมาร์ เฮล์มโฮลทซ์ เพื่อการวิจัยมหาสมุทร ในเมืองคีล ประเทศเยอรมนี หนึ่งในแกนนำของทีมวิจัยเกี่ยวกับสถานภาพของภูเขาไฟเอทนา ภูเขาไฟที่คุกรุ่นที่สุดในภาคพื้นยุโรป เผยแพร่ผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงมหันตภัยที่เกิดขึ้นจากอาการไถลเลื่อนออกจากจุดเดิมเรื่อยๆ ของภูเขาไฟลูกนี้ซึ่งมีการระเบิดและสงบนิ่งเป็นวัฏจักรมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2013 เรื่อยมา

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ “เจอร์นัล ไซนซ์ แอดวานซ์” เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า แรงโน้มถ่วงเป็นตัวการสำคัญในการดึงเอาภูเขาไฟลูกนี้ให้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเล ซึ่งในวันหนึ่งข้างหน้าอาจก่อให้เกิดวินาศภัยระดับหายนะขึ้นตามมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นนั้นสืบเนื่องจากลาดเขาด้านข้างทางตะวันออกเฉียงใต้ของเอทนา กำลังเคลื่อนที่ลงสู่ทะเลเรื่อยๆ ทั้งส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินและส่วนที่อยู่ใต้ทะเล การไถลเลื่อนลงทะเลไปเรื่อยๆ ดังกล่าวหมายความว่าลาดเขาทางด้านนั้นเสี่ยงต่อการถล่มลงสู่ทะเลมากกว่าที่เคยคิดกันก่อนหน้านี้

ทีมวิจัยใช้ข้อมูลดาวเทียมและระบบกำหนดตำแหน่งผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) ในการวัดการเคลื่อนตัวดังกล่าวและพบว่า ในช่วงอย่างน้อย 30 ปีที่ผ่านมาลาดเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมาท์ เอทนา ค่อยๆ คืบคลานลงสู่ทะเล นอกเหนือจากนั้นยังมีรายงานของทีมวิจัยจาก โอเพนยูนิเวอร์ซิตี ในสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่า ลาดเขาด้านดังกล่าวเคลื่อนเข้าหาทะเลด้วยอัตราเฉลี่ย 14 มิลลิเมตรต่อปีเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2001-2012

Advertisement

สิ่งที่ยังถกเถียงกันอยู่ ก็คือการเคลื่อนที่ลงสู่ทะเลดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากอะไรกันแน่ เป็นเพราะการเคลื่อนตัวของแม็กมาหรือหินหลอมเหลวภายในภูเขาไฟหรือเป็นเพราะแรงโน้มถ่วงของโลกเป็นหลัก

อูร์ล็อบระบุว่า ภูเขาไฟเอทนายังคงพ่นเถ้าถ่านและวัสดุต่างๆ จากปากปล่องออกมาทับถมกันตามไหล่เขาอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสภาพปกติของภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ทำให้ฐานของภูเขาไฟขยายออกอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อเกิดการสะสมของวัสดุตามลาดเขา แรงโน้มถ่วงก็จะดึงเอาวัสดุใหม่ๆ เหล่านั้นลงสู่ที่ต่ำบริเวณตีนภูนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม อูร์ล็อบตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ส่วนตีนเขาด้านหนึ่งของเอทนานั้นอยู่ในน้ำใต้ทะเล โดยลาดลงต่อเนื่องต่อจากริมฝั่งเกาะซิซิลีต่อไปใต้ทะเลเมดิเตอเรเนียน และจนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครวัดว่าลาดเขาด้านดังกล่าวไถลลงไปในทะเลเป็นระยะทางเท่าใด

Advertisement

ทีมวิจัยของอูร์ล็อบวัดการเคลื่อนที่ดังกล่าวโดยอาศัยเครือข่ายของทรานสปอนเดอร์ หรืออุปกรณ์ตรวจวัดตามแนวพื้นทะเลที่ติดตั้งไว้กับพื้นทะเลบริเวณตีนเขา และวัดความเร็วของการเดินทางของสัญญาณเสียงจากทรานสปอนเดอร์หนึ่งไปยังอีกทรานสปอนเดอร์หนึ่งในทุกๆ 90 นาที มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2016 เรื่อยมาจนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2017 เวลาที่เสียงใช้ในการเดินทางระหว่างทรานสปอนเดอร์นี้จะแสดงให้เห็นระยะห่างระหว่างทรานสปอนเดอร์ว่ายังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมคงที่หรือไม่ หรือเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นทะเลในบริเวณดังกล่าว

ทีมวิจับพบว่า ในช่วง 8 วันของเดือนพฤษภาคม ปี 2017 เกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนซึ่งอยู่ใต้พื้นที่ลาดเขาทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทางราว 4 เซนติเมตร ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแผ่นดินไหว ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของแรงดันในแนวรอยเลื่อนหรือเกิดการกระทำของคลื่นแผ่นดินไหว (ซีสมิคเวฟ) แต่เป็นการไถลออกจากกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อูร์ล็อบยืนยันว่า จุดที่เกิดการไถลดังกล่าวอยู่ห่างมากจากแอ่งหรือคลังแม็กมา ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางภูเขาไฟลูกนี้ ทำให้แน่ใจได้ว่าการเคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากแรงดันของแม็กมา แต่เกิดจากแรงโน้มถ่วงที่ดึงรั้งเอาแนวลาดเขาด้านดังกล่าวทั้งส่วนที่อยู่บนพื้นดินและส่วนที่อยู่ใต้น้ำ

นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้จากภูเขาไฟอื่นๆ ตามบันทึกทางธรณีวิทยาว่า ลักษณะดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดการถล่มระดับหายนะขึ้นและมักก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มครั้งใหญ่และเร็วมากเกิดขึ้นตามมา

และหากแผ่นดินถล่มดังกล่าวเป็นการถล่มลงสู่ทะเล ก็จะก่อให้เกิดคลื่นยักษ์หรือสึนามิตามมา

นั่นคือมหันตภัยที่ทำให้อูร์ล็อบเตือนว่านอกจากต้องตรวจสอบเมาท์เอทนาเพิ่มเติมแล้วยังต้องจับตาติดตามตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image