คอลัมน์ Taste Test : แอปเปิล วอทช์ ซีรีส์4 มากกว่านาฬิกา คือเรื่องของสุขภาพ

REUTERS/Stephen Lam

แอปเปิล วอทช์ ซีรีส์ 4 (Apple Watch Series 4) เป็นแอปเปิลวอทช์ที่มีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น มีความโค้งที่มุม และลดขอบให้แคบลง ทำให้ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการมองภาพให้ใหญ่ขึ้นได้กว่า 30% โดยมีหน้าจอขนาด 40 มม. ที่การแสดงผลใหญ่ขึ้น 35% และ 44 มม. ที่การแสดงผลเพิ่มขึ้น 35% ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจอภาพแบบใหม่ LTPO ที่ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น

ชาร์จไฟครั้งเดียวสามารถใช้งานทั้งวัน หรือถ้าไม่ค่อยมีการใช้งานอะไรมาก ก็จะสามารถใช้งานได้ 2 วันเลยทีเดียว

และด้วยหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น จึงได้มีการออกแบบอินเตอร์เฟซใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถแสดงผลข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างหน้าจอใหม่ ที่เป็นหน้าปัดนาฬิกาอินโฟกราฟ รองรับกลไกหน้าปัดได้สูงสุดถึง 8 กลไก แสดงผลข้อมูลต่างๆ ได้บนหน้าจอเดียว และการกดปุ่มเลือกเมนูต่างๆ บนหน้าจอก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น

ซีรีส์ 4 นี้จะเป็นรุ่นแบบเซลลูลาร์ คือการใช้ “อีซิม” เอาไว้เชื่อมต่อเข้ากับเบอร์โทรศัพท์ที่เราใช้ไอโฟน เมื่อตั้งค่าเชื่อมต่อแล้ว แอปเปิล วอทช์ ของเราก็จะทำหน้าที่เหมือนกับเป็นมือถือตัวหนึ่ง โดยสามารถใช้งานโทรศัพท์ได้แม้จะอยู่ห่างจากไอโฟน หรือถ้าลืมไอโฟนไว้ที่บ้านก็ยังสามารถใช้โทรศัพท์ผ่านแอปเปิล วอทช์ ได้อยู่ เพียงแต่ว่า ก็ต้องดูว่า เวลาเปิดบริการแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมบ้าง

Advertisement

โดยชิปประมวลผล เป็นเอส 4 ดูอัล คอร์ 64 บิต ที่ทำให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น ถ้าใครเคยใช้แอปเปิล วอทช์ รุ่นก่อนๆ หน้านี้มาจะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่า ความเร็วในการตอบสนองถือว่าเร็วมาก รวมไปถึงการทำเป็นชัตเตอร์สำหรับถ่ายภาพจากไอโฟนที่เชื่อมต่อไว้

ที่ด้านหลังเครื่องเป็นวัสดุที่เป็นเซรามิก ที่ช่วยทำให้การวัดอัตราการเต้นของหัวใจแม่นยำกว่าเดิม ด้วยเซ็นเซอร์วัดหัวใจแบบออพติคอล ที่ช่วยเช็กอัตราการเต้นของหัวใจได้อย่างรวดเร็ว และหากตรวจจับได้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจลดต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นเวลา 10 นาที โดยที่ดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร ก็จะมีการแจ้งเตือนขึ้นมา

ในส่วนของ “ดิจิทัล คราวน์” หรือที่เรียกๆ กันว่า เม็ดมะยม ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ซับซ้อนที่สุดตัวหนึ่งในแอปเปิล วอทช์ และสำหรับซีรีส์นี้ยังเพิ่มความสามารถมากขึ้น เวลาเลื่อนขึ้นลงเพื่อเลือกเมนูต่างๆ บนหน้าจอ จะพบถึงการตอบสนองแบบสั่นที่ทำให้รู้สึกถึงการหมุนทุกครั้งที่เราเลื่อนปุ่ม

Advertisement

อีกฟีเจอร์ที่ชอบมาก คือ วอล์กกี้ ทอล์กกี้ โดยจะต้องอัพเป็นระบบปฏิบัติการ วอทช์ โอเอส 5 เสียก่อน ถึงจะสามารถเชื่อมต่อได้ และมีแอพพ์วอล์กกี้ ทอล์กกี้ หลังจากนั้นก็จับคู่กับเบอร์มือถือที่มีแอปเปิล วอทช์ เหมือนกัน เพื่อให้พูดคุยกันผ่านวอล์กกี้ ทอล์กกี้ ได้ เมื่อเพื่อนปลายทางตอบรับ เราก็สามารถกดปุ่มพูดคุยกันแบบวอล์กกี้ ทอล์กกี้ ได้เลย และไม่ต้องกังวลว่า บางเวลาเราอาจจะไม่ได้พร้อมให้เสียงฝ่ายตรงข้ามดังขึ้นมา เราสามารถปิดตัว Available ได้ พร้อมเมื่อไหร่ ก็เปิดขึ้นมา ซึ่งในช่วงที่เราปิดค่า Available ไปนั้น หากมีใครพยายามที่จะคุยกับเราผ่านวอล์กกี้ ทอล์กกี้ ก็จะมีการแจ้งเตือนขึ้นมา เผื่อว่าเราอาจจะอยากคุยด้วย

และแน่นอนว่า เมื่อเป็นเซลลูลาร์แล้ว หากคุณอยู่ห่างจากตัวไอโฟน ก็ยังสามารถใช้วอล์กกี้ ทอล์กกี้ ได้ ผ่านเซลลูลาร์ หรือไม่ก็ผ่านทางไวไฟ ซึ่งจากการทดสอบ บอกได้เลยว่า ลำโพงของซีรีส์ 4 นี้ เสียงดังใช้ได้เลยทีเดียว

อีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับซีรีส์ 4 คือการแจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้เกิดการลื่นหรือล้ม เพราะเซ็นเซอร์ในซีรีส์ 4 ที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้ บวกกับการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ หากพบว่า ไม่ตอบสนองในเวลาที่กำหนดไว้ แอปเปิล วอทช์ ก็จะส่งข้อความไปยังเบอร์ฉุกเฉินให้ได้ทันที

และที่มีการพูดถึงกันมาก คือเรื่องของเซ็นเซอร์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรืออีซีจี ที่เพียงใช้นิ้วแตะที่ปุ่มดิจิทัล คราวน์ ก็จะสามารถตรวจจับได้ เพียงแต่ตัวนี้ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย แต่มีการเปิดตัวในสหรัฐไปแล้ว

ยังมีฟีเจอร์เพื่อสุขภาพอีกมากมาย สำหรับแอปเปิล วอทช์ ซีรีส์ 4 รวมไปถึงเรื่องของการ “หายใจ” ซึ่งเครื่องจะมีการเตือนให้เราผ่อนคลายและทำสมาธิเป็นช่วงๆ ตลอดวัน เพื่อลดความเครียด ให้เราสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ค่อยๆ ปล่อยออกมา ก็ทำให้เราสามารถสร้างสมาธิระหว่างวันได้ง่ายๆ

การมีแอปเปิล วอทช์ อยู่ที่ข้อมือสักเรือน ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่า นาฬิกาเรือนนี้ เป็นอะไรที่มากกว่านาฬิกา เพราะเป็นเหมือนเพื่อนคู่กายที่คอยดูแลเราอยู่ไม่ห่างนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image