แล้วเราก็พบจนได้ ฝาแฝดดวงอาทิตย์ที่พลัดพรากจากกันไปนาน

ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในเอกภพมักอยู่เป็นกลุ่ม ซึ่งอาจมีเพียงไม่กี่ดวงจนมากถึงเป็นพันดวง มีต้นกำเนิดมาจากก้อนก๊าซขนาดมหึมา เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ความโน้มถ่วงร่วมทำให้ก้อนก๊าซเริ่มจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เล็กลงและแน่นขึ้น จนกระทั่งจับกันเป็นดวง กลายเป็นดาวฤกษ์ เมื่อ 4.57 พันล้านปีก่อนดวงอาทิตย์ของเราก็เกิดขึ้นมาแบบนี้

แต่สภาพของครอบครัวดาวฤกษ์ก็มักคงอยู่ได้ไม่นาน พลวัตภายในกลุ่มจะเหวี่ยงให้ดาวในกลุ่มหลุดออกจากกัน แต่ส่วนใหญ่ก็มักไม่แยกกันจนเป็นดาวเดี่ยวเสียทีเดียว นักดาราศาสตร์พบว่าราว 85 เปอร์เซ็นต์ของดาวฤกษ์ทั้งหมดอยู่กันเป็นคู่ เรียกว่าดาวคู่ โคจรรอบกันและกันในระยะใกล้ บางกรณีอาจเป็นระบบดาวสามดวง หรือมีแม้แต่ระบบสี่ดวง ประมาณว่ากว่าครึ่งหนึ่งของดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์อยู่ในระบบดาวคู่

การที่ดวงอาทิตย์ของเราเป็นดาวฤกษ์เดี่ยว จึงนับว่าแปลก

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า ดาวฤกษ์ทุกดวงหรือเกือบทุกดวงเกิดขึ้นมาเป็นดาวคู่ แม้แต่ดาวที่ปัจจุบันเป็นดาวเดี่ยวก็เกิดมามีคู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดาวทั้งคู่จะแยกออกจากกัน กลายเป็นดาวดวงเดี่ยวเช่นดวงอาทิตย์

Advertisement

(จาก (NASA/JPL-Caltech/GSFC))

หากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมหมายความว่า ดวงอาทิตย์ของเราก็น่าจะเกิดมาแบบมีคู่แฝดเหมือนกัน แต่คู่แฝดนั้นได้แยกทางออกจากดวงอาทิตย์ไปนานแล้ว

Advertisement

แล้วดาวแฝดของดวงอาทิตย์ดวงนั้นหายไปไหน?

การมองหาดาวคู่แฝดของดวงอาทิตย์เป็นเรื่องยากยิ่ง เนื่องจากในดาราจักรทางช้างเผือกมีดาวอยู่มากมาย จนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์พบดาวเพียงไม่กี่ดวงที่เข้าข่ายน่าจะเป็นคู่แฝดดวงอาทิตย์

นักวิจัยคณะหนึ่งจากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศในโปรตุเกส ได้ค้นหาดาวคู่แฝดของดวงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและข้อมูลที่แม่นยำสุดยอด จนเชื่อว่าได้พบกับดาวดวงนั้นแล้ว อยู่ห่างออกไป 184 ปีแสง มันมีชื่อว่า ดาวเอชดี 186302 (HD186302)

ดาวดวงนี้มิเพียงเกิดขึ้นมาจากกลุ่มก๊าซในอวกาศก้อนเดียวกันกับดวงอาทิตย์ แต่ยังมีลักษณะเกือบเหมือนกันทุกอย่าง เป็นดาวในแถบลำดับหลักเหมือนกัน เป็นดาวชนิดสเปกตรัมจีเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย มีกำลังส่องสว่างและอุณหภูมิพื้นผิวเท่ากัน องค์ประกอบและสัดส่วนธาตุในดาวเกือบเหมือนกัน และมีอายุไล่เลี่ยกันคือประมาณ 4.5 พันล้านปี

ดาวเอชดี 186302  (จุดกลางภาพ) เป็นดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์มาก อาจเคยเป็นดาวคู่แฝดกับดวงอาทิตย์เมื่อครั้งแรกกำเนิด (จาก CDS Portal/Simbad)

 

ดาวเอชดี 186302 เหมือนดวงอาทิตย์มากจนแทบจะเรียกว่าเคาะออกมาจากเบ้าเดียวกัน เหมือนยิ่งกว่าดาว เอชดี 162826 ที่เคยคิดว่าอาจเป็นคู่แฝดของดวงอาทิตย์ที่ค้นพบในปี 2557 เสียอีก

การที่พบดาวที่เกือบเหมือนดวงอาทิตย์ ก็อาจหมายความว่าดาวดวงนี้มีระบบดาวเคราะห์ มีดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลก และอาจหมายความว่ามีสิ่งมีชีวิตในระบบดาวเคราะห์นี้ด้วย หรือเรียกให้ชวนฝันได้ว่า มี “โลก 2.0 ในระบบของดวงอาทิตย์ 2.0”

ฟังดูไม่เลวใช่ไหม แต่ก่อนจะเรียกอย่างนั้นได้ ต้องมีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนกว่าแค่ความน่าจะเป็น นักดาราศาสตร์จากโปรตุเกสคณะดังกล่าวกำลังมีแผนที่จะสำรวจดาวดวงนี้อย่างเจาะลึกเพื่อหาหลักฐานของดาวเคราะห์บริวาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image