‘เอ็กซพลอเรอร์’ สแกนอวัยวะภายใน3มิติ

(ภาพ-Simon Cherry)

ไซมอน เชอร์รี และแรมซีย์ บาดาวี สองวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวะเวช ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นำเสนอรายงานและสาธิตผลการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในการสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกายของคนเราแบบใหม่ ต่อที่ประชุมสมาคมรังสีวิทยาแห่งอเมริกาเหนือ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยอุปกรณ์ใหม่นี้นอกจากจะสามารถสร้างภาพอวัยวะแบบ 3 มิติ ได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 นาทีแล้ว ยังสามารถถ่ายทำออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวและย่อขยายโดยไม่สูญเสียรายละเอียดของภาพได้อีกด้วย

วิศวกรทั้งสองสร้างอุปกรณ์ซึ่งใช้ชื่อว่า “เอ็กซพลอเรอร์” ขึ้นมาจากการผสมผสานการทำงานของอุปกรณ์สแกนทางการแพทย์ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 2 อย่าง คือ โปสิตรอน อีมิสชั่น โทโมกราฟี (positron emission tomography -PET) ที่นิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า เพ็ตสแกน กับเอกซเรย์ คอมพิวเต็ด โทโมกราฟี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพทางการแพทย์ (ภาพนิ่ง) แบบ 3 มิติ โดยอาศัยโปสิตรอน (X-ray computed tomography-CT) หรือซีทีสแกน ซึ่งเป็นการถ่ายภาพทางการแพทย์โดยอาศัยแสงเอกซเรย์เพื่อสร้างภาพภายในแบบตัดขวางแล้วใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลอีกต่อหนึ่ง

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ “เอ็กซพลอเรอร์” สามารถถ่ายภาพภายในร่างกายของมนุษย์ได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำข้อมูลมาสร้างเป็นภาพจำลองแบบ 3 มิติ ที่ให้รายละเอียดทุกอย่างได้ภายในเวลา 1 นาที แพทย์สามารถใช้เพื่อมองดูภาพตัดขวางของหัวใจของผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งสภาพของหัวเข่า นอกจากนั้นยังสามารถซูมจนอวัยวะหนึ่งๆ ขยายขึ้นเต็มจอภาพโดยที่ไม่สูญเสียรายละเอียด ถือเป็นอุปกรณ์การแพทย์เครื่องแรกที่สามารถสแกนร่างกายคนเต็มตัวแบบ 3 มิติ ได้และสามารถนำไปใช้สร้างได้ทั้งแบบจำลองที่เคลื่อนไหว หรือแบบจำลองที่เป็นภาพนิ่ง นอกจากนั้นผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับรังสีแต่น้อย เพียงแค่ 1 ใน 40 ของปริมาณรังสีที่จำเป็นเมื่อต้องใช้เพ็ตสแกน

วิศวกรผู้สร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่นี้ หวังว่าจะสามารถประยุกต์ใช้งานได้ทั้งทางการแพทย์สำหรับการวินิจฉัยโรค หรือใช้เพื่องานศึกษาวิจัยต่างๆ โดยหวังว่าจะสามารถใช้งานได้จริงภายในเดือนมิถุนายนปี 2019 นี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image