“ฉางเอ๋อ4” เริ่มภารกิจ ไขปริศนากำเนิดดวงจันทร์

ฉางเอ๋อ4 บนด้านไกลดวงจันทร์ (ภาพ- CNSA via AP)

ยานหุ่นยนต์เพื่อการสำรวจพื้นผิว “ฉางเอ๋อ4” ของจีน ประสบความสำเร็จในการลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ภายในปากปล่องอุกกาบาต ฟอน คาร์มาน เมื่อเช้าวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ทำสถิติเป็นยานจากโลกมนุษย์ลำแรกที่ลงจอดด้านไกลซึ่งไม่เคยมีการสำรวจมาก่อนของดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลได้เป็นผลสำเร็จ และเริ่มต้นปฏิบัติภารกิจสำคัญที่จะดำเนินไปต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนถัดไป โดยการส่งภาพถ่ายพื้นผิวบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ภาพแรกส่งกลับมายังโลก

ภาพถ่ายพื้นผิวใน ฟอน คาร์มาน เครเตอร์ (ภาพ- CNSA via AP)

ตามรายงานของทางการจีน ฉางเอ๋อ4 ร่อนลงจอดโดยสวัสดิภาพเมื่อเวลาประมาณ 09.26 น.ของวันที่ 3 มกราคม ตามเวลาในประเทศไทย หรือตรงกับ 10.26 น.ของวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่นของจีน หลังจากถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 7 ธันวาคม ใช้เวลา 4.5 วัน ก็เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์

แวดวงดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพากันตื่นเต้นแสดงความยินดีต่อความสำเร็จครั้งนี้ผ่านโซเชียลมีเดียกันถ้วนหน้า รวมทั้ง จิม บริเดนสไตน์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งข้อความแสดงความยินดีผ่านทวิตเตอร์ ยกย่องว่าเป็น “ความสำเร็จที่น่าประทับใจยิ่ง” ครั้งหนึ่ง

ดวงจันทร์ไม่มีด้านมืด (ภาพ-AP)

“ด้านไกล” หรือ “ฟาร์ไซด์” คือส่วนของดวงจันทร์ที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อนเมื่อมองจากพื้นโลก เพราะดวงจันทร์ไม่เคยหันด้านนี้เข้าหาโลกมาก่อน เพียงแต่หัน “ด้านใกล้” หรือ “เนียร์ไซด์” เข้าหาโลกตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะดวงจันทร์ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองและหมุนรอบโลกเท่ากัน คือ 27.3 วัน ดังนั้นจึงเหมือนกับหันด้านใกล้ด้านเดียวให้กับโลกมนุษย์อยู่ตลอดเวลา อันเป็นลักษณะที่ทางวิชาการดาราศาสตร์เรียกว่า “ไทดัลล็อค” นั่นเอง

Advertisement

ฉางเอ๋อ4 บนด้านไกลดวงจันทร์ (ภาพ- CNSA via AP) ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว ด้านไกลของดวงจันทร์จึงไม่ใช่ “ด้านมืด” อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่มีแสงสว่างส่องตามคาบแบบเดียวกับด้านใกล้ เพียงแต่เรามองจากพื้นโลกไม่เห็นเท่านั้นเอง เช่น เมื่อตอนขึ้น 1 ค่ำนั้น ด้านใกล้ของดวงจันทร์ส่วนใหญ่จะเป็นเงามืด ในเวลาเดียวกันนั้น ด้านไกลของดวงจันทร์จะสว่างจ้าเพราะแสงอาทิตย์นั่นเอง

ปัญหาของการสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ก็คือ ตัวดวงจันทร์จะปิดกั้นการสื่อสารด้วยสัญญาณวิทยุระหว่างยานที่จะไปลงกับหอควบคุมภาคพื้นดิน เพื่อแก้ปัญหานี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้ส่งดาวเทียม “ฉวีเฉียว” ขึ้นไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับส่งถ่ายทอดสัญญาณวิทยุระหว่าง “ฉางเอ๋อ4” กับภาคพื้นดิน ที่จุดสมดุลระหว่างแรงโน้มถ่วงจุดที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า ลากรานจ์ พอยต์2 หรือ แอล2

“ฉางเอ๋อ4” ประกอบด้วยยานสำรวจ 2 ลำ หนึ่งคือยานแลนเดอร์ อีกหนึ่งเป็นยานโรเวอร์สำหรับแล่นสำรวจพื้นผิว ยานแต่ละลำ มีอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ติดตั้งอยู่ 4 ชิ้น รวม 8 อุปกรณ์ด้วยกัน บนแลนเดอร์ ติดตั้ง “แลนดิ้ง คาเมร่า”, “เทอร์เรน คาเมร่า”, “โลว์ ฟรีเควนซี่ สเปกโตรมิเตอร์” และ “ลูนาร์ แลนเดอร์ นิวตรอนส์ แอนด์ ดอสซิเมตรี” ซึ่งทางการเยอรมนีมอบให้

Advertisement

ส่วนในยานโรเวอร์ มี “แพโนรามา คาเมร่า”, “ลูนาร์ เพเนเทรติ้ง เรดาร์”, “เดอะ วิสซิเบิล แอนด์ เนียร์-อินฟราเรด อิเมจจิ้ง สเปกโตรมิเตอร์” และสุดท้ายคือ “แอดวานซ์ สมอลล์ แอนาไลเซอร์ ฟอร์ นิวทรัลส์” ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำรวจที่ทางการสวีเดนมอบมาให้

ด้วยกล้องและอุปกรณ์สำรวจดังกล่าวเหล่านี้ ฉางเอ๋อ4 สามารถจะตรวจสอบสภาพและคุณลักษณะของสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ด้วยความละเอียดสูงมาก ตั้งแต่การตรวจสอบองค์ประกอบของพื้นผิว ตลอดจนชั้นต่างๆ ของดินบนดวงจันทร์ใต้ตัวยาน

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่า เพราะเหตุใด พื้นผิวด้านใกล้และด้านไกลของดวงจันทร์ที่มีเปลือกนอกหนากว่า ขรุขระกว่า และมีอายุมากกว่าด้านใกล้ ถึงได้มีความแตกต่างกันเช่นนั้น และทำให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้นว่า เพราะเหตุใด บริเวณด้านใกล้ของดวงจันทร์ถึงมีที่ราบซึ่งเกิดจากภูเขาไฟ (โวลแคนิค เพลนส์) ที่เรียกว่า “มาเรีย” ครอบคลุมพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่แทบไม่ปรากฏลักษณะพื้นผิวเดียวกันนี้บนด้านไกลเลย

บริเวณจุดลงจอดของ “ฉางเอ๋อ4” ก็เป็นจุดสนใจของนักดาราศาสตร์ทั้งหลายเช่นเดียวกัน ฟอน คาร์มาน เครเตอร์ เป็นปากปล่องอุกกาบาตที่อยู่ภายในแอ่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เซาธ์โพล-อิทเคน เบซิน (แอ่งขั้วใต้อิทเคน ใช้ตัวย่อว่า เอสพีเอ) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในระบบสุริยะ วัดความกว้างจากริมขอบถึงอีกริมขอบได้ถึง 2,500 กม. และลึกลงไปถึง 12 กม.

นักวิทยาศาสตร์ต้องการรู้ให้แน่ชัดว่า แอ่งมหึมานี้อายุเท่าใดกันแน่จากที่เคยประเมินกันไว้ว่าอยู่ระหว่าง 3,900 ล้านปี จนถึง 4,400 ล้านปีก่อน ซึ่งอยู่ในยุคที่เรียกว่ายุคการถล่มอย่างหนักตอนปลายในประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะ เมื่ออุกกาบาตขนาดใหญ่น้อยพากันถล่มใส่ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ทั้งหลาย

การได้รู้อายุที่แน่ชัด รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของมัน ไม่เพียงช่วยไขปริศนาประวัติศาสตร์ของโลกเท่านั้น ยังอาจช่วยให้โลกรู้กำเนิดของดวงจันทร์ได้อย่างแน่ชัดอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image