ใช้ขยะพลาสติกทำถนน จุดเริ่มต้น’ซีโร่เวสต์’ในไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้เสวนาปัญหาสำคัญระดับโลกเรื่องหนึ่งกับ คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว (ประเทศไทย) พร้อมคณะ ว่าด้วยเรื่องปัญหาขยะพลาสติก ที่กำลังจะล้นโลกและกลายเป็นปัญหาที่ยากที่จะกำจัด

เรามีความเห็นพื้นฐานตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ขยะ โดยรวม จะยังคงเป็นปัญหาขยะอยู่ร่ำไป ตราบเท่าที่ไม่มีใครมองเห็น หรือทำให้มันกลายเป็นสิ่งมีคุณค่า และมีประโยชน์ขึ้นมา

ขยะพลาสติก เป็นปัญหาใหญ่มาก เป็นปัญหาในระดับโลก เพราะพลาสติกกำจัดยาก ใช้เวลานานนับเป็นหลายชั่วอายุคนกว่าจะย่อยสลาย ทำให้สิ่งที่มีประโยชน์มหาศาลเมื่อใช้สอย กลายเป็นปัญหาแก้ไม่ตกเมื่อกลายเป็นขยะขึ้นมา

คุณฉัตรชัย ขยายความให้ฟังถึงโครงการพิเศษที่ทางบริษัทดาวส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยการนำขยะพลาสติกที่ทำลายยากเหล่านั้น ให้กลายเป็นประโยชน์ มีคุณค่าขึ้นมา ด้วยการนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับผสมในการสร้างถนนลาดยาง

Advertisement

“เราเห็นเทคโนโลยีนี้ที่อินเดีย มีคนเขาทำกันเกิดความสนใจเข้าไปศึกษาแล้วส่งเสริมให้ทำกันที่อินเดีย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว พอถึงปี 2017 มาทำที่ประเทศอินโดนีเซีย ทำสั้นๆ ระยะทาง 2 กิโลเมตร” คุณฉัตรชัยบอก

สิ่งที่ดาวเข้าไปศึกษาและพัฒนาก็เพื่อให้แน่ใจว่า เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมและปลอดภัยจริงๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบด้านอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา

คุณฉัตรชัยบอกว่า กระบวนการทำถนนจากเศษขยะพลาสติก ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพียงนำขยะพลาสติกที่ได้มาสับเป็นชิ้นๆ ขนาดเล็ก สำหรับใช้เติมในกระบวนการทำถนนลาดยางแอสฟัลต์ หรือยางมะตอย ปกติทั่วไป โดยใช้ความร้อนเข้าไปช่วยในการผสมเม็ดกรวด เศษหิน ที่เดิมใช้เป็นวัสดุผสมปูลาดถนนอยู่แล้ว ให้พลาสติกละลายเคลือบเม็ดกรวด หินเหล่านั้น ก่อนนำไปผ่านกระบวนการผสมกับยางแอสฟัลต์ หรือที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าสาร บิทูมิน ที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ เหมือนกับกระบวนการทั่วไป ก่อนนำมาใช้ลาดถนน

Advertisement

ขยะพลาสติกที่เติมลงไปในกระบวนการทำถนนลาดยางเดิมนั้น สร้างประโยชน์อย่างไร?

คุณฉัตรชัยบอกว่า โครงสร้างทั้งหมดของถนนในเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่นี่เกิดจากการที่เราเอาเศษกรวดเศษหินมา แล้วผสมเข้ากับบิทูมีน ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนเป็นกาวสำหรับยึดเกาะ ปัญหาจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน เราจะสังเกตว่า ในช่วงหน้าฝน ถนนยางมะตอยจะเป็นหลุมเป็นบ่อได้ง่าย สาเหตุเป็นเพราะมีน้ำซึมเข้าไปในช่องระหว่างบิทูมินกับเศษกรวดเศษหิน ทำให้การยึดเกาะไม่แน่นเหมือนเดิม เกิดการหลุดล่อน แล้วกลายป็นหลุมเป็นบ่อได้ง่าย ทีนี้กระบวนการทำถนนผสมขยะพลาสติก จะใช้ตัวกรวด เศษหิน มาหลอมรวมกับขยะพลาสติกก่อน พลาสติกเมื่อละลายก็จะเข้าไปทำหน้าที่เคลือบเศษกรวดเศษหินต่างๆ เมื่อนำไปผสมกับบิทูมิน ทำให้มีการยึดเกาะได้ดีกว่า ไม่มีช่องให้น้ำแทรกตัวเข้าไปทำให้เกิดการหลุดล่อนได้ง่ายเหมือนก่อนหน้านี้ การหลุดล่อนก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นการเติมพลาสติกเข้าไปในกระบวนการทั้งหมดจะทำให้ถนนแข็งแรงกว่าธรรมดาได้ระดับหนึ่ง ปกติจะอยู่ที่ 15-33 เปอร์เซ็นต์

“ยกตัวอย่างตัวเลขเรื่องความแข็งแรงทนทานของถนน ถ้าเป็นยางมะตอยธรรมดา เขาวัดค่าความแข็งแรงทนทานไว้อยู่ที่ 2,700-2,800 หน่วย ถ้าเติมพลาสติกเข้าไปแล้วจะอยู่ที่ 3,800 ถึง 3,900 หรืออาจจะถึง 4,000 หน่วย ในส่วนนี้จะเห็นได้ชัดจากการทดสอบเรื่องความแข็งแรงนั้น ถนนที่เติมขยะพลาสติกเข้าไปนั้นแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิมชัดเจน”

การที่ได้ถนนซึ่งแข็งแรงมากขึ้น สามารถช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยการนำเอาขยะพลาสติกนี้ไปใช้หมุนเวียนให้เกิดเป็น เซอร์กูลาร์ อีโคโนมี ไม่เช่นนั้น ขยะพลาสติกเหล่านี้ก็จะไปลงเอยอยู่ในลานขยะกลายเป็นกองขยะ

“ที่เราพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ก็เพราะว่า เราเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่เป็นทางออกที่ดีที่เราสามารถนำเอาขยะกลับมาใช้งานอีกครั้ง แทนที่จะทิ้งไปให้กลายเป็นปัญหาในสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างนั้น”

ที่ต้องให้แน่ใจก็คือ กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องไม่ทำให้ต้นทุนในการทำถนนเพิ่มสูงขึ้น

“คอนเซ็ปต์ของโปรเจ็กต์นี้ ก็คือ เราต้องการให้ทำได้จริง ทำแล้วแข็งแรงมากขึ้น ทำแล้วไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้น เราไม่ต้องการให้เป็นการลงทุนทำ ทำนองเป็นโครงการซีเอสอาร์ เพียงแค่ครั้งสองครั้ง เหมือนกับการบริจาคเงินเฉยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ โปรเจ็กต์นี้ ต้นทุนเท่าเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิม ด้วยซ้ำไป สอง ถนนแข็งแรงมากกว่า สาม มีการนำเอาขยะที่เคยเป็นของไร้ประโยชน์และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้งาน”

พลาสติกจากขยะ จะปล่อยอะไรที่เป็นอันตรายออกมาระหว่างการใช้งานถนนหรือเปล่า?

“คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตเหมือนกันครับ จริงๆ แล้วถนนลาดยางทั่วไปคือการนำเอาเศษกรวด หิน มาผสมกับบิทูมิน บิทูมินเนีย ก็คือไฮโดรคาร์บอนชนิดหนักที่ได้จากโรงกลั่น เป็นส่วนที่เหลือท้ายๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน พลาสติกก็ทำนองเดียวกัน แต่ก่อนที่จะเป็นพลาสติกก็คือตัวเดียวกัน คือไฮโดรคาร์บอน แต่ก่อนจะมาจะเป็นพลาสติกนี่เขานำเอาส่วนเบา คือชนิดเบา คือน้ำมันดิบที่ได้นี่จะมีเรนจ์ของจุดเดือดที่แตกต่างกัน บิทูมิน นี่คือด้านล่างที่เป็นหนัก ของพลาสติกนี่เขาเอาส่วนเบาขึ้นมาก่อนเพื่อทำพลาสติก จริงๆ ก็เป็นไฮโดรคาร์บอนเหมือนๆ กัน พอลงไปผสมมันคือโมเลกุลเดียวกัน”

นอกเหนือจากการเป็นสารกลุ่มเดียวกับยางมะตอยที่ใช้อยู่เดิมแล้ว พลาสติก ยังเป็นส่วนที่หลุดล่อนออกมาได้ยากกว่ายางมะตอยเดิมอีกด้วย

“ผมขอยกตัวอย่างอย่างนี้ครับ ว่า ในถนนนี้มันจะมีจากล้อยาง เศษหิน เศษกรวด แล้วก็บิทูมิน และพลาสติก เท่ากับว่ามีวัสดุที่ต้องเสียดสีกันแล้วหลุดล่อนออกมา 4 อย่าง ส่วนที่อ่อนที่สุดและหลุดล่อนได้ง่ายที่สุดคือยางล้อรถยนต์ อันดับแรกเลย ตัวที่จะหลุดถัดมาคือ บิทูมินหรือยางมะตอยที่มีความอ่อนมากกว่า ต่อมาจึงจะเป็นพลาสติก สุดท้ายจึงคือหิน เพราะฉะนั้น แล้วในกระบวนการนี้ตัวพลาสติกจะอยู่ท้ายๆ แต่เราก็มีการศึกษาการหลุดล่อนเรื่องนี้อยู่เช่นกัน เราขอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคนทำศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เพื่อจะยืนยันว่ามันไม่น่าจะมีอะไร แต่โดยหลักวิทยาศาสตร์เท่าที่เราศึกษามา เราไม่คิดว่ามันจะมีปัญหาอะไร เพิ่มเติมไปจากปกติ”

คำถามสำคัญถัดมา ก็คือ ถนนที่ทำจากขยะพลาสติก จะทำให้ประสิทธิภาพในการยึดเกาะกับถนนของล้อรถยนต์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? พูดง่ายๆ ก็คือ มันลื่นขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า?

“เรื่องถนนลื่น อันที่จริงแล้วมีการทดสอบโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเราโดนคำถามนี้เยอะ ปรากฏว่า เขาดูค่า ฟริคชันนะครับ ซึ่งยิ่งสูงยิ่งดี ค่าฟริคชันของแอสฟัลต์ธรรมดทั่วไปที่ไม่มีพลาสติกอยู่ที่ 6.8- 6.9 ถ้าใส่พลาสติกลงไปแล้ว จะอยู่ที่ 7.0-7.3 ถ้าดูตามตัวเลขแล้วมันก็คงดีขึ้น แต่ผมว่าในความเป็นจริงแล้วมันใกล้เคียงกัน 1 เปอร์เซ็นต์นี่ไม่ต่างกันเท่าไหร่ในทางปฏิบัติ แต่ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ได้ว่าการผสมเศษพลาสติกลงไปในยางแอสฟัลต์ นั้นไม่ได้ทำให้ถนนลื่นมากขึ้นกว่าเดิมแต่อย่างใด”

ถนนที่ทำจากขยะพลาสติกมีให้ทดลองใช้งานกันแล้วหลายแห่งในประเทศไทย ทั้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จุดเริ่มต้นที่บริษัทดาว ริเริ่มโครงการ ถัดมาคือที่นิคมอุตสาหกรรอมตะ

แต่ “ถนนจากขยะพลาสติก” เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ดาว (ประเทศไทย) ยังมีโครงการใหญ่และมีนัยสูงมากต่อปริมาณขยะในประเทศไทยที่ต้องนำมาบอกเล่ากันต่ออีกด้วย

เป็นโครงการที่ผมฟังแล้วลุ้นตัวโก่งให้ประสบความสำเร็จ เพราะนั่นน่าจะนำไปสู่การลดปัญหาขยะในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image