‘บรูเมชัน’ เทคนิคเอาชนะภาวะเยือกแข็ง

จระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น สิ่งที่เรารู้กันเป็นการทั่วไปก็คือ สัตว์เลือดเย็นไม่สามารถปรับอุณหภูมิของตัวเองได้ คำถามก็คือ ถ้าหากเกิดกรณีที่ทั่วแผ่นฟ้าแผ่นดินเย็นจัดถึงระดับ -50 องศาเซลเซียส โลกรอบตัวเยือกเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็งไปทั้งหมด ชนิดที่อิกัวนายังเยือกแข็ง ค่อยๆ ร่วงลงมาจากต้นไม้ทีละตัวสองตัว แล้วสัตว์เลือดเย็นอย่างจระเข้ จะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร

จอร์จ โฮเวิร์ด ผู้จัดการทั่วไปของ แชลลอตต์ ริเวอร์ สวอมป์ ปาร์ค ในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา เปิดเผยถึงวิธีเอาชีวิตรอดจากความหนาวเย็นระดับเยือกแข็งของจระเข้ในแชลลอต ริเวอร์ สวอมป์ ปาร์ค เอาไว้ว่า มันจะใช้วิธีโผล่ส่วนจมูกขึ้นมาเหนือน้ำ สำหรับใช้เป็นช่องทางนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ในขณะที่ร่างกายส่วนที่เหลือทั้งหมดถูกจำกัดการเคลื่อนไหวเพราะภาวะเยือกแข็ง และประหยัดพลังงานไปในตัวจนกว่าภาวะหนาวร้ายกาจจะผ่านพ้นไป

เทคนิคในการเอาชีวิตรอดจากภาวะเยือกแข็งดังกล่าวเรียกว่า “บรูเมชัน” (brumation) เป็นวิธีการที่คล้ายคลึงมากกับการจำศีล แต่เป็นวิธีการจำศีลของสัตว์เลือดเย็นโดยเฉพาะ รอคอยแสงแดดอุ่นๆ ของฤดูใบไม้ผลิก่อนที่ทั้งอิกัวนา และจระเข้ จะกลับคืนสู่สภาพเดิมของมันอีกครั้ง

Advertisement

ในภาวะอากาศหนาวจัดผิดปกติเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ในบึงของแชลลอตต์ จึงเต็มไปด้วยจมูกของจระเข้โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำแข็งของบึง จนหลายคนนึกว่าเป็นรากของสนไซเปรส ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่เหนือน้ำแข็งยังไงยังงั้น โฮเวิร์ดบอกว่า บางครั้งจำนวนจระเข้ที่เหมือนถูกแช่แข็งเหล่านี้มากเสียจนต้องลองดึงบางตัวขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูว่ามันยังมีชีวิตอยู่จริงหรือไม่

ข้อแตกต่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างภาวะบรูเมชันของสัตว์เลื้อยคลานกับภาวะจำศีลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็คือ บรูเมชันไม่ได้ยืดยาวนานตลอดทั้งฤดูกาลแบบการจำศีล แต่จะสั้นหรือยาวได้ขึ้นอยู่กับระดับของอุณหภูมิเป็นสำคัญเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image