หลุมอุกกาบาตยักษ์ ที่กรีนแลนด์

โจเซฟ แม็คเกรเกอร์ นักวิทยาการธารน้ำแข็ง (กลาซิโอโลจิสต์) ประจำศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แห่งสหรัฐอเมริกา ค้นพบหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่อีกหลุม

เมื่อเร็วๆ นี้ ไม่นานหลังจากที่ทีมสำรวจของนาซาค้นพบและสำรวจหลุมอุกกาบาตหลุมแรกแล้วเสร็จเรียบร้อยในตอนปลายปี 2016 ที่ผ่านมา แม้ว่าผลการศึกษาวิจัยโดยละเอียดดังกล่าวยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ก็ตาม

การค้นพบหลุมอุกกาบาตใต้แผ่นน้ำแข็งหนาบนเกาะกรีนแลนด์ครั้งใหม่นี้เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการจดหมาย เหตุงานวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยหลุมอุกกาบาตใหม่อยู่ห่างจากหลุมอุกกาบาตเดิมที่ถูกกำหนดชื่อว่า เฮียวาทาŽ เพียง 183 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

หลุมอุกกาบาตใหม่นี้มีความกว้างของปากปล่องราว 36 กิโลเมตร ส่งผลให้มันกลายเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่เป็นอันดับ 22 ของโลกเท่าที่มีการค้นพบกันมา มีขนาดใหญ่กว่า เฮียวาทาŽ ที่ค้นพบก่อนไม่มากมายนัก เพราะเฮียวาทา มีความกว้างของปากปล่องราว 31 กิโลเมตร แต่ในขณะที่เฮียวาทาถูกฝังอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งหนา 930 เมตร หลุมอุกกาบาตใหม่อยู่ลึกลงไปใต้แผ่นน้ำแข็งหนาถึง 2 กิโลเมตรเลยทีเดียว

Advertisement

ทั้งเฮียวาทาและหลุมอุกกาบาตที่ค้นพบใหม่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลเกี่ยวกับเขตน้ำแข็ง ไร้ผู้คนแห่งนี้มากกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับฐานทัพอากาศทูเล ของสหรัฐอเมริกา และการสำรวจส่วนใหญ่มีฐานอยู่ที่ฐานทัพอากาศเดียวกันนี้นั่นเอง

การค้นพบหลุมอุกกาบาตใหม่นี้ เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเอาข้อมูลภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ เข้ามาผสมผสานกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทางอากาศด้วยเรดาร์ ซึ่งสามารถทะลุทะลวงแผ่นน้ำแข็งหนาลงไปลึกมากก่อนสะท้อนแผ่นหินใต้ผิวพื้นกลับมายังเครื่องรับและวิเคราะห์สัญญาณซึ่งติดตั้งไว้บนเครื่องบิน ส่วนของข้อมูลภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่ทีมวิจัยใช้ ส่วนใหญ่แล้วมาจากดาวเทียมสำรวจพื้นผิว เทอร์ราŽ และดาวเทียม อคัวŽ ของนาซาเอง ในขณะที่ข้อมูลการสำรวจด้วยคลื่นเรดาร์มาจากโครงการสำรวจพื้นผิวที่เป็นน้ำแข็งชื่อโครงการไอซ์ บริดจ์ ที่นาซาจัดตั้งขึ้นเช่นเดียวกัน

Advertisement

ข้อมูลจากทั้งไอซ์บริดจ์ และเทอร์รา กับอคัวเป็นข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไปต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นผลให้บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้าไปตรวจสอบเพื่อค้นหาหลุมอุกกาบาตได้ โดยแม็คเกรเกอร์เองยอมรับว่า การค้นพบหลุมอุกกาบาตใหม่นี้ จุดเริ่มต้นก็มาจากการได้รับแจ้งพบเห็นลักษณะผิดปกติของหลุมอุกกาบาตใหม่ ซึ่งกระตุ้นให้ตนสนใจและเริ่มต้นมองหาทันทีที่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นพบเฮียวาทาสิ้นสุดลง

แม็คเกรเกอร์ยอมรับว่า การกำหนดอายุของหลุมอุกกาบาตกรีนแลนด์ที่ค้นพบใหม่เป็นเรื่องยากทีเดียว แม้จะพบว่าชั้นน้ำแข็งล่างสุดเหนือพื้นผิวของหลุมมีอายุราว 79,000 ปีก็ตาม เนื่องจากน้ำแข็งมีลักษณะลื่นไหล ทำให้การใช้อายุของชั้นน้ำแข็งเพื่อกำหนดอายุของหลุม ไม่มีความหมายไป ต้องหันมาใช้วิธีการคำนวณหาสัดส่วนระหว่างความลึกและความกว้างของหลุม เพื่อประเมินอายุจากการกัดกร่อนแทน แต่ก็ได้เพียงแค่กำหนดช่วงอายุได้หยาบๆ เท่านั้น โดยคาดว่า หลุมใหม่นี้น่าจะมีอายุอยู่ระหว่าง 100 ล้านปีถึง 100,000 ปี และเชื่อว่าเฮียวาทาอายุน้อยกว่าเล็กน้อย

แม็คเกรเกอร์และทีมวิจัยมั่นใจว่า หลุมใหม่นี้เป็นหลุมอุกกาบาต เนื่องจากหลุมใหญ่ขนาดนี้ถ้าไม่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนโลก ก็เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ แล้วยุบตัวลงเป็นปากปล่องลึก ซึ่งเรียกกันว่า คัลเดรา

แต่คัลเดราจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของสนามแม่เหล็กในปากปล่อง ซึ่งไม่พบลักษณะดังกล่าวในหลุมอุกกาบาตที่พบใหม่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image