‘นาซา’ เร่งรัดขั้นตอน หวนคืนสู่ดวงจันทร์

NASA

จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐอเมริกากำลังเร่งรัดกระบวนการตามภารกิจกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งให้เป็นรูปธรรมเร็วขึ้น พร้อมกับยืนยันว่าโครงการต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้จะไม่เป็นโครงการชั่วคราวแล้วละทิ้งไปเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นโครงการระยะยาวอีกด้วย

นายไบรเดนสไตน์ กล่าวต่อที่ประชุมที่สำนักงานใหญ่ของนาซา ระบุว่า การกลับไปสำรวจดวงจันทร์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะในครั้งนี้ เมื่อไปถึงดวงจันทร์แล้วสหรัฐอเมริกาจะไม่เพียงแค่ไปทิ้งธงชาติและรอยเท้าไว้ที่นั่น และไม่หวนกลับไปอีกเลยในอีก 50 ปีให้หลัง แต่จะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปจากประเทศอื่นๆ ในโลกที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ เพื่อให้การเดินทางกลับไปยังดวงจันทร์ครั้งนี้ยั่งยืนและทำให้มนุษยชาติสามารถเดินทางกลับไปกลับมาระหว่างโลกกับดวงจันทร์ได้เป็นการถาวรต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ นาซา เคยประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปลงยังดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกด้วยโครงการอพอลโล แต่มนุษย์อวกาศคนสุดท้ายที่ลงไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ได้ก็คือ ยูยีนเซอร์แนน เมื่อเดือนธันวาคมปี 1972 หรือเมื่อ 47 ปีมาแล้ว

ตามภารกิจหวนกลับไปยังดวงจันทร์ใหม่อีกครั้งนั้น ก่อนที่จะส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง นาซา ตั้งเป้าว่าจะส่งยานสำรวจไร้มนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ให้ได้อีกครั้งภายในปี 2024 นี้ และกำลังเชื้อเชิญให้บรรดาภาคเอกชนที่สนใจเสนอโครงการสร้างยานสำรวจดังกล่าวมายังนาซาเพื่อคัดสรรแบบของยานสำรวจที่น่าสนใจและมอบหมายให้บริษัทเอกชนดังกล่าวจัดสร้างขึ้นต่อไป โดยจะปิดรับข้อเสนอดังกล่าวภายในวันที่ 25 มีนาคมที่จะถึงนี้ หลังจากนั้นจะมีการประกาศผลการคัดเลือกรอบแรกในราวเดือนพฤษภาคม โดยมีงบประมาณก้อนใหญ่เป็นแรงจูงใจ

Advertisement

โทมัส เซอร์บัคเคน รองผู้อำนวยการนาซายืนยันว่า หากเป็นไปได้ ทางนาซาเองอยากให้ขั้นตอนแรกของการเดินทางกลับไปดวงจันทร์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายในปีนี้ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า การกำหนดดังกล่าวไม่น่าจะมีความเป็นไปได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ตามคำสั่งเชิงนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมอบหมายต่อนาซาเมื่อปลายปี 2017 นั้น สหรัฐอเมริกา กำหนดจะส่งมนุษย์อวกาศเดินทางไปลงดวงจันทร์อีกครั้ง โดยให้อยู่ภายในช่วงทศวรรษ 2030 ก่อนที่จะเริ่มภารกิจส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดาวอังคารต่อไป

นอกเหนือจากการส่งยานสำรวจไร้มนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ภายในปี 2024 แล้ว ทางนาซายังมีโครงการที่จะจัดสร้างสถานีอวกาศขนาดเล็กในวงโคจรรอบดวงจันทร์ เรียกกันว่า “เกตเวย์” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ลูนาร์ ออร์บิท แพลตฟอร์ม-เกตเวย์” หรือ “แอลโอพีจี” ให้แล้วเสร็จสามารถดำเนินการได้ในปี 2026

“เกตเวย์” จะทำหน้าที่เป็นเสมือน “สถานีกลาง” สำหรับการเดินทางไปและกลับจากการลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ แต่จะไม่มีมนุษย์อวกาศประจำอยู่เหมือนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ซึ่งเป็นสถานีอวกาศในวงโคจรรอบโลก แต่ทางนาซาจะใช้วิธีการเดียวกับการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ กล่าวคือ พยายามแสวงหาความร่วมมือในการสร้างเกตเวย์ จากนานาประเทศ ซึ่งอาจรับผิดชอบในส่วนของสถานีที่จำเป็นได้ เช่น โมดูล หรือส่วนของสถานีสำหรับเชื่อมต่อกับสถานีบนดวงจันทร์ หรือส่วนที่เป็นยานสำหรับเดินทางไปลงยังพื้นผิวของดวงจันทร์ เป็นต้น

Advertisement

ก่อนหน้าที่จะเริ่มโครงการสถานีอวกาศและสถานีสำรวจของมนุษย์ขึ้นบนดวงจันทร์ดังกล่าวนั้น นาซาจำเป็นต้องเริ่มต้นโครงการทั้งหมด ด้วยการส่งเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์ทางเทคนิคอื่นๆ ไปลงยังดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้

โดยมีการดำเนินโครงการประมูลและประกวดราคาทั้งในส่วนของอุปกรณ์และในส่วนของยานสำหรับส่งแล้วด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image