เตือน “นอนไม่หลับ” เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ-ความดัน

งานวิจัยใหม่ของทีมวิจัยซึ่งนำโดย ฟิลิป สวีร์สกี นักวิจัยอาวุโสจาก ศูนย์เพื่อระบบชีววิทยา ประจำโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าภาวะการนอนหลับที่ย่ำแย่ นอนไม่เพียงพอ หลับๆ ตื่นๆ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคความดัน ที่เกิดจากปัญหาในหลอดเลือดแดง เนื่องจากเกิดพลาคหรือสารสะสมเพิ่มมากขึ้นภายในหลอดเลือด ที่ทำให้เส้นเลือดแข็ง ไม่ยืดหยุ่นเกิดภาวะอุดตันได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เชื่อมโยงอาการนอนหลับไม่เพียงพอกับการเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคเกี่ยวเนื่อง เช่น ความดันโลหิตสูง, หัวใจวายและภาวะเส้นเลือดแตกในสมองเฉียบพลันหรือสโตรก แต่ยังไม่มีรายงานการวิจัยชิ้นใดชี้ให้เห็นถึงสาเหตุในเชิงชีววิทยาที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าวได้ชัดเจนนัก

ทีมวิจัยใหม่ ใช้การทดลองในหนูทดลองเพื่อตรวจสอบหาสมมุติฐานดังกล่าว ด้วยการใช้หนูทดลองซึ่งมีปัญหาของโรค แอทเธโรสเคลอโรซิส หรือโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง โดยพันธุกรรมอยู่แล้ว โดยระหว่างการทดลอง หนูจำนวนหนึ่งถูกปล่อยให้นอนหลับได้อย่างเพียงพอ ในขณะที่อีกกลุ่มจะถูกรบกวนการนอนเป็นระยะๆ ด้วยท่อนเหล็กที่กวาดผ่านใต้กรงโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นจึงนำหนูทั้งสองกลุ่มมาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผลการทดลองพบว่าหนูในกลุ่มที่ถูกรบกวนการนอน ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงของระดับคอเลสเตอรอลหรือน้ำหนัก แต่อย่างใดเมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มที่นอนหลับเพียงพอ แต่สิ่งที่แตกต่างกันจนสังเกตได้ชัดคือ หนูในกลุ่มที่นอนไม่เพียงพอจะเกิดการสะสมของพลาคในหลอดเลือดมากกว่า และมีระดับของการอักเสบในหลอดเลือดมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มหนูที่หลับเพียงพอตามปกติ

Advertisement

นอกจากนั้น หนูที่หลับไม่เพียงพอยังมีระดับฮอร์โมน ชื่อ ไฮโปเครติน (โอเร็กซิน) ในส่วนของสมองส่วน ไฮโปทาลามัส ต่ำกว่า ในมนุษย์นั้นเชื่อกันว่า ฮอร์โมน ไฮโปเครติน เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดภาวะการตื่นเต็มที่ และจะมีระดับต่ำลงในคนที่มีอาการป่วยเป็นโรค นาร์โคเลปซี หรือโรคที่ไม่อาจควบคุมการนอนได้ และผู้ที่เป็นโรคนาร์โคเลปซี ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยด้วยโรคหัวใจกว่าคนปกติทั่วไปด้วยเช่นกัน

ภาวะฮอร์โมน ไฮโปเครติน ลดต่ำลงทำให้สัญญาณที่ส่งไปยังโปรตีนชื่อ ซีเอสเอฟ 1 เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนทำให้เกิดการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีอาการอักเสบในไขกระดูกเพิ่มมากขึ้นและส่งผลต่อการเร่งให้เกิดโรคแอทเธโรสเคลอโรซิสเร็วและมากขึ้นตามไปด้วย

ในทางกลับกันหากสามารถควบคุมการหลับให้อยู่ในระดับพอเพียงและเหมาะสม อาการของโรคแอทเธโรสเคลอโรซิสในหนูก็ลดลงตามไปเช่นกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ฟิลิป สวีร์สกี ยอมรับว่า งานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นเพียงการทดลองในหนูทดลองเท่านั้น ยังจำเป็นต้องวิจัยต่อเนื่องในคนเพื่อยืนยันการค้นพบครั้งนี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image