ญี่ปุ่นทำได้อีกครั้ง ร่อนลงบนดาวเคราะห์น้อย

(JAXA via AP, File)

องค์การสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือแจ๊กซา แถลงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ระบุว่า ยานสำรวจอวกาศ “ฮายาบุสะ2” ของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการร่อนลงจอดบนดาวเคราะห์น้อย ริวกุ ได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายโคจรอยู่ห่างจากโลกถึงกว่า 300 ล้านกิโลเมตร

“ริวกุ” เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางเพียงแค่ 900 เมตรเท่านั้น พื้นผิวเต็มไปด้วยร่องรอยขรุขระ ตะปุ่มตะป่ำ จนเป็นเหตุให้ความพยายามเพื่อร่อนลงจอดของ “ฮายาบุสะ2” ต้องล่าช้าจากกำหนดเดิมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมามาก เนื่องจากทีมงานภาคพื้นดินไม่แน่ใจว่าควรเลือกจุดใดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นจุดลงจอดดี

ยูอิจิ สึดะ ผู้จัดการโครงการฮายาบุสะ2 ครั้งนี้ ยอมรับว่า การล่าช้าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาสร้างความกังวลให้เกิดขึ้นกับหลายๆ ฝ่าย แต่แล้วทีมงานของโครงการก็สามารถดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้ได้ชนิดไม่มีที่ติในช่วง 4 เดือนดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการลงจอดครั้งนี้ในที่สุด

“ฮายาบุซะ2 ลงจอดภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ดีที่สุด เท่าที่ทางเราประเมินเป็นสถานการณ์จำลองเอาไว้” นายสึดะระบุ พร้อมกับเปิดเผยว่า ฮายาบุสะ 2 ได้ยิงจรวดขนาดเล็กลูกหนึ่งลงบนพื้นผิวของริวกุ เพื่อจัดเก็บตัวอย่างอนุภาคเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากการยิงดังกล่าวกลับขึ้นยานมา และหวังว่าจะนำตัวอย่างพื้นผิวดังกล่าวกลับมาศึกษายังพื้นโลกได้สำเร็จ นอกเหนือจากนั้น ยังเตรียมแผนที่จะให้ ฮายาบุสะ 2 บินขึ้นจากพื้นผิวของริวกุ แล้วกลับไปลงจอดใหม่ ซ้ำๆ 3 ครั้ง ก่อนที่จะออกเดินทางกลับมายังโลกจริงๆ ต่อไป

Advertisement

ฮายาบุสะ 2 ออกเดินทางจากโลกเมื่อเดือนธันวาคมปี 2014 และมีกำหนดจะเดินทางกลับมาถึงโลกในตอนสิ้นปี 2020 นี้

ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ญี่ปุ่นทำได้ หลังจากที่เคนสร้างสถิตินำยาน”ฮายาบุสะ” ร่อนลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่ใกล้โลก ชื่อ “อิโตะกาวะ” ได้เป็นครั้งแรกในปี 2005 และเป็นยานอวกาศลำแรกของโลกที่สามารถนำตัวอย่างฝุ่นผงของดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกได้สำเร็จ แม้ว่าจะได้ปริมาณไม่มากเท่ากับที่คาดหวังไว้ก็ตาม

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าดาวเคราะห์น้อย ซึ่งก่อตัวขึ้นในยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะ และอาจเป็นแหล่งที่มาของสสารชีวภาพซึ่งเป็นที่มาของการกำเนิดสิ่งมีชีวิตขึ้นบนพื้นโลก

Advertisement

ทีมงานของแจ๊กซาคาดหวังกันว่า ตัวอย่างของพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวกุ ที่ฮายาบุสะ 2 นำกลับมายังโลกอาจมีสารชีวภาพที่จะแสดงเงื่อนงำของแหล่งที่มาของสิ่งมีชีวิตอยู่ด้วยนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image