‘อินไซท์’มีปัญหา เจาะดาวอังคารไม่เข้า

ยานอินไซท์ มาร์ส แลนเดอร์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาเป็นครั้งแรก หลังจากเดินทางถึงและร่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้โดยราบรื่น จนทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิและความเคลื่อนไหวภายใต้พื้นผิวดาวอังคารของนาซาครั้งนี้ พากันคิดว่าภารกิจครั้งนี้จะราบรื่นไปจนตลอดรอดฝั่งแล้ว

ปัญหาของยานอินไซท์ เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกำหนดที่ยานอินไซท์ จะต้องใช้อุปกรณ์ “เซลฟ์-แฮมเมอริง โมล” ขุดลึกลงไปในพื้นผิวดินของดาวอังคารให้ได้ความลึก 5 เมตร เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจจับความเคลื่อนไหวใต้ผิวดินดาวอังคาร แต่ปรากฏว่าหลังจากขุดเจาะลงไปเพียง 30 เซนติเมตร อุปกรณ์ขุดเจาะซึ่งพัฒนาโดยแอสโทรนิกา บริษัทของกลุ่มวิศวกรจากยุโรป กลับไปเจอเข้ากับหินใต้ผิวดินและติดค้างอยู่ที่ระดับนั้น ไม่สามารถเจาะลึกลงไปมากกว่านั้นได้อีก

นาซาหวังจะดำเนินความพยายามใหม่อีกครั้ง หลังจากผ่านการหารือกับทางแอสโทรนิกาแล้ว ปัญหาก็คือ เจอร์ซี กริกอร์ซุก ตัวแทนของแอสโทรนิกายอมรับว่าไม่แน่ใจแล้วว่าอุปกรณ์ของตนจะทำงานได้ผล

ดังนั้น โลกก็ต้องรอต่อไปว่านาซาจะแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงไปได้อย่างไร หรือจะปล่อยให้ภารกิจอินไซท์ยุติลงเพียงเท่านี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image