“รัสเซีย”ชวน”ลักเซมเบิร์ก” ทำ”เหมืองในอวกาศ”

(ภาพ- Bryan Versteeg / DSI)

นางแทตทิยานา โกลิ โควา รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เปิดเผยที่ลักเซมเบิร์กซิตี เมืองหลวงของนครรัฐลักเซมเบิร์ก ระหว่างการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะคณะตัวแทนของสาธารณ รัฐรัสเซียที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ดมิตรี เมดเวเดฟ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมนี้ว่า รัสเซียมีแผนที่จะร่วมมือกับลักเซมเบิร์ก ในแผนภารกิจเพื่อทำเหมืองแร่ในอวกาศ ซึ่งถึงแม้ว่าเดิมจะปรากฏอยู่แต่เพียงในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในตอนนี้มีทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนหลายแห่งให้ความสนใจที่จะพัฒนาแนวความคิดนี้ให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา

ลักเซมเบิร์ก แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในลักษณะของนครรัฐ แต่ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมในภารกิจดังกล่าวนี้ เนื่องจากลักเซมเบิร์กเป็นประเทศแรกของโลกที่ตรากฎหมายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ในอวกาศ ซึ่งรวมถึงการทำเหมืองหรือการสกัดแร่ธาตุจากดาวเคราะห์น้อยต่างๆ

นางโกลิโควาเปิดเผยว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางรัสเซียได้จัดทำกรอบของความตกลง ยื่นเสนอต่อลักเซมเบิร์กอย่างเป็นทางการมาแล้ว การเดินทางมาเยือนครั้งนี้ของคณะตัวแทนรัสเซียก็เพื่อที่จะได้รับทราบคำตอบที่คาดหวังจากทางการลักเซมเบิร์กนั่นเอง

การทำเหมืองเชิงพาณิชย์ในอวกาศ อย่างเช่นบนดาวเคราะห์ดวงอื่น หรือบนดาวเคราะห์น้อย แม้จะมีแนวคิดริเริ่มกันจากเอกชนหลายบริษัท โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อาทิ บริษัท ดีพ สเปซ อินดัสตรีส์ (ดีเอสไอ) แต่ยังคงอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงไม่น้อย

Advertisement

ทั้งนี้เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาในทางเทคนิคอย่าง ทำอย่างไรถึงจะสามารถนำแร่ธาตุปริมาณมหาศาลที่ได้จากการทำเหมืองในอวกาศกลับมายังพื้นโลก

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบการเอกชน หันความสนใจเรื่องการทำเหมืองแร่ในอวกาศไปอีกทางหนึ่ง นั่นคือ แทนที่จะมุ่งเน้นในการทำเหมืองในอวกาศแล้วนำแร่ธาตุที่ได้กลับคืนมายังโลก กลับมุ่งเน้นไปที่การสร้าง “สถานีเหมืองแร่” และ “สถานีเชื้อเพลิง” ระหว่างดาวเคราะห์ขึ้นมาแทนที่ โดยการสร้างสถานีอวกาศที่ใช้สำหรับเก็บแร่ธาตุหรือเชื้อเพลิงทั้งหลาย เพื่อใช้สำหรับการก่อสร้าง, สนับสนุนวัตถุดิบ และเชื้อเพลิง ให้กับ “อาณานิคมอวกาศ” ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ อาณานิคมบนดาวอังคาร

ทั้งหมดนั้นทำให้การทำเหมืองแร่ในอวกาศในเวลานี้ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแต่อย่างใด แม้ว่าโลหะหลายอย่างที่มีค่าในเชิงอุตสาหกรรม อย่างเช่น เหล็ก, นิกเกิล เป็นต้น มีอยู่มากมายมหาศาลบนดาวเคราะห์น้อยทั้งหลาย และยังเป็นโลหะที่มีค่าจำเป็นสำหรับการสร้างยานอวกาศ สถานีอวกาศอีกด้วย โลหะในกลุ่มแพลทินัมก็มีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน และสามารถนำมาใช้งานในการผลิตแผงวงจรภายในยานอวกาศ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

Advertisement

ในส่วนของกฎหมายอวกาศนั้น โดยรวมแล้วจะอิงอยู่กับหลักกฎหมายใน สนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศรอบนอก ปี 1967 ของสหประชาชาติ ซึ่งเขียนขึ้นและได้รับการรับรองด้วยการให้สัตยาบันในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำให้มีบทบัญญัติส่วนใหญ่เน้นไปที่การห้ามไม่ให้มีการใช้อาวุธเพื่อการทำลายล้างสูงในห้วงอวกาศ, บนดวงจันทร์ หรือบนดวงดาวอื่นๆ

ตามสนธิสัญญาดังกล่าว ห้ามไม่ให้รัฐบาลใดๆ อ้างสิทธิเหนือทรัพยากรบนเทหวัตถุทั้งหลายในห้วงอวกาศ อย่างเช่นบนดวงจันทร์ หรือดาวเคราะห์ต่างๆ โดยใช้หลักการพื้นฐานที่ว่าเทหวัตถุเหล่านั้น “เป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ”

ลักเซมเบิร์กเอง “กระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ” ภายใต้ความตกลงพหุภาคีว่าด้วยสิทธิเหนือดาวเคราะห์น้อย” ของตนเอง อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวนี้ประเทศอื่นๆ ก็สามารถบัญญัติขึ้นบังคับใช้ได้เช่นเดียวกัน

ซึ่งส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นการทั่วไปว่า ถึงที่สุดแล้ว ห้วงอวกาศก็คงเป็นแบบเดียวกับดินแดนทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาในยุคบุกเบิก ที่ทุกคนสามารถจับจองได้

เป็น “เดอะ นิว ไวด์ เวสต์” ในยุคอวกาศเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image