จุฬาฯลุย ‘5G’ เปิดโฉมยูสเคส สแกนใบหน้าอัจฉริยะ

ปัจจุบันโลกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับโครงข่ายสัญญาณ 5G ที่หลายประเทศเริ่มทดลองระบบแล้ว

ส่วนไทยเริ่มมีหลายองค์กรเร่งขับเคลื่อนในเรื่องของการนำ 5G ไปใช้กับเครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

เทคโนโลยีที่จะมาพร้อม 5G อย่างเช่น เครื่องสแกนรู้จำใบหน้า (เฟซริคอฟมิชั่น) ผลงานการสร้างและวิจัยจาก “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

การทำงานหลักๆ ของเครื่องนี้ จะมีการจำข้อมูล เมื่อมีการตรวจจับใบหน้า เครื่องจะทำการสแกนเพื่อบอกว่าหน้าที่กล้องจับได้เป็นใคร โดยจะขึ้นชื่อบนหน้าจอแสดงผล ซึ่งสามารถนำไปใช้กับการสแกนหน้าเพื่อเข้างานของบริษัทเอกชน, เช็กจำนวนนักเรียนนักศึกษา หรือในบางกรณีใช้จับคนร้าย รวมถึงสามารถบันทึกได้ว่าทะเบียนรถแต่ละคันเป็นรถที่ไปก่อคดีมาหรือไม่

Advertisement

การทำงานทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงการเก็บข้อมูลจากฮาร์ดแวร์กล่องเล็กๆ เท่านั้น แต่สามารถจดจำใบหน้าได้ถึง 4,000 ใบหน้า โดยจะนำข้อมูลไปเชื่อมโยงกับกล้องวงจรปิด และกล้องเว็บแคม ความแม่นยำของการจดจำใบหน้ามีมากกว่า 90% หากมีการลงข้อมูลพนักงานหรือนักเรียนนักศึกษาไว้แล้ว ก็สามารถนำไปใช้งานได้เลย สามารถใช้ได้ทั้งกรณีที่มีอินเตอร์เน็ต หรือไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ได้

ดร.สุภาวดี อร่ามวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงที่มาว่า จุดเริ่มต้นโครงการ มาจากการวิจัยของกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีทางวีดิทัศน์ ซึ่งงานวิจัยหลักของคณะ คือการวิเคราะห์ตัวสัญญาณวิดีโอจากกล้องวงจรปิด เพื่อศึกษาและเรียนรู้โครงสร้างว่ากล้องวีดิทัศน์คืออะไร

ปัจจุบันมีกล้องวงจรปิดหลายหมื่นตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ หรือติดอยู่ตามสถานศึกษาและที่ทำงาน หน้าที่หลักของกล้องวงจรปิดมีไว้เพื่อรับข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นคนเดินผ่าน หรือรถขับผ่าน โดยดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาสกัดเป็นข้อมูล และนำมากลั่นกรองว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างไร

Advertisement

”ส่วนโครงข่าย 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้น สามารถนำมาใช้ร่วมกันในการสแกนใบหน้าได้โดยเชื่อมต่อผ่านเสาสัญญาณอากาศ 5G เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณที่รับการสแกนใบหน้ามาแล้วเพื่อเชื่อมต่อไปยังฐานข้อมูลเพื่อทำการเช็กประวัติ ซึ่งยังมีงานวิจัยอีกตัวหนึ่งที่เป็นเครื่องตรวจวัดความผิดปกติ จะตรวจจับเหตุการณ์ อาทิ ความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว หลังจากนี้จะมีการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้กล้องรับข้อมูล เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะสามารถประเมินสถานการณ์ได้” ดร.สุภาวดีอธิบาย

ดร.สุภาวดียังเล่าถึงความร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” เริ่มจากการที่อยากจะพัฒนางานประยุกต์เชื่อมโยงโครงข่าย 5G อยู่หลายเรื่อง โดยเน้นเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์

หรือจะเป็นเรื่องของสัญญาณวิดีโอ อาทิ การเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเดิมของ “เอไอเอส” ที่มีข้อมูลลูกค้าวีไอพีอยู่แล้ว หากลูกค้ามาใช้บริการที่ Serenade Club ก็จะสามารถจดจำใบหน้าลูกค้าได้ หรืออาจวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการว่าลูกค้ามีความชื่นชอบโทรศัพท์มือถือยี่ห้อใดสอดคล้องกับการซื้อหรือไม่ อีกด้วย

ส่วนของระบบการรู้จำใบหน้า ถ้าในแง่การแพทย์อาจจะไม่ได้ใช้การรู้จำใบหน้าโดยตรง แต่อาจจะช่วยในเรื่องการวิเคราะห์ใบหน้า ซึ่งในระบบดังกล่าว มีการวิจัยแยกออกมาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้แสงแอลอีดีเพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียด อาจจะช่วยทำให้เห็นความผิดปกติบนใบหน้าได้ชัดเจนมากขึ้นว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่ และสามารถตรวจความเครียดบนใบหน้าได้ ซึ่งจะตรงกับความต้องการของจิตแพทย์ที่ต้องให้คำปรึกษาแก่คนไข้

การทำงานของเครื่องสแกนใบหน้า สามารถทำงานผ่านโครงข่ายหรือไม่ผ่านโครงข่ายก็ได้ ซึ่งฐานข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์ขนาดเล็ก แต่ในกรณีที่ต้องการทราบข้อมูลจะต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายไปยัง “โคโล เซิร์ฟเวอร์” ทั้งนี้ จะเริ่มใช้งานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อน

ดร.สุภาวดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ในส่วนงานวิจัยที่กำลังสุ่มทดลองอยู่นั้น คือเครื่องตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติ ในส่วนของวีดิทัศน์เครื่องวงจรปิด เริ่มจากความสนใจในเรื่องการตรวจจับสิ่งผิดปกติว่าจะสามารถตรวจจับได้อย่างไร

หากคิดวิธีที่ง่ายที่สุด อาทิ การเดินผ่านประตูที่สามารถไปได้ทิศทางเดียว แต่ถ้ามีคนเดินสวนมาแต่ประตูสามารถเปิดได้ข้างเดียวก็สามารถรู้ถึงความผิดปกติของสถานการณ์เบื้องหน้า หรือมีการจับภาพได้ว่ามีบุคคลหรือวัตถุต้องสงสัยอยู่บริเวณที่จับภาพได้เกิน 1 นาทีก็จะมีสัญญาณแจ้งเตือนถึงความผิดปกติ เป็นต้น

แต่ในกรณีที่เหตุการณ์มีความซับซ้อนจะต้องป้อนโปรแกรมเพื่อให้ระบบประมวลผลเหตุการณ์ได้ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งการป้อนข้อมูลยังถือเป็นเรื่องที่ยากของการวิจัย เพราะสถานการณ์มีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป อาทิ การที่คนร้ายนำกระเป๋าไปวางในสนามบิน แม้จะมีวัตถุต้องสงสัยหรือไม่ก็ตาม แต่ระบบถูกสร้างมาให้มีความฉลาดในการวิเคราะห์และจะส่งสัญญาณเตือนให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ควบคุมลงไปตรวจสอบ

ในส่วนการทำงาน ค่อนข้างมีความแตกต่างจากกล้องวงจรปิดทั่วไป เพราะกล้องที่นำมาใช้มีการใส่ข้อมูลอนาไลติกส์เข้าไป หากเปรียบเทียบกล้องวงจรปิดก็เหมือนดวงตาของมนุษย์ที่สามารถตรวจเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ส่วนเรื่องตรวจจากทางทีมวิจัยมีหน้าที่ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าว มีความฉลาดเทียบเท่าสมองของมนุษย์ โดยทีมวิจัยจะต้องใส่ข้อมูลทั้งหมดที่มีการตรวจสอบว่าเป็นเหตุการณ์ต้องสงสัยเข้าไปเพื่อความแม่นยำของข้อมูล

หากถามว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเก็บข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ ไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้กับเหตุการณ์ใดก็ได้ จะต้องมีการเทรนด์ข้อมูลที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจริงมากที่สุดเข้าไป ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ใช้ที่เป็นผู้กำหนด ซึ่งเครื่องนี้เหมาะกับสถานที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง

อาทิ สนามบิน, ร้านทอง หรือร้านที่ขายสินค้ามีมูลค่าราคาสูง ส่วนความแม่นยำต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งการพัฒนารูปแบบระบบการใช้งาน (ยูสเคส) สามารถนำไปทดสอบในบางกรณีได้

”สำหรับอุปกรณ์ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ยังมีอีกหลายขั้นที่ยังพัฒนาได้ยาก ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเครื่องรู้จำใบหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากการสแกนใบหน้า แต่เครื่องตรวจความผิดปกตินี้จะต้องดูภาพรวมของเหตุการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยจะต้องตรวจจากการเคลื่อนไหวของคน สิ่งของ และการตรวจจับความเร็ว จึงยังเป็นเรื่องที่ยากต่อการวิจัย” ดร.สุภาวดีสรุป

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของยูสเคส ที่องค์กรพันธมิตรช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนให้ใช้งานได้จริง และเกิดผลควบคู่ไปกับสังคมยุคใหม่

สังคมในยุคเทคโนโลยี 5G

สำหรับผู้ที่สนใจความก้าวหน้า 5G ของประเทศไทย ในวันที่ 3 เมษายน ที่ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป กสทช.และองค์กรพันธมิตรจะจัดงาน “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” โดยภาคเช้ามีการเสวนาในหัวข้อ 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน หลังจากนั้นจะเปิดให้ชมยูสเคสที่เป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทคโนโลยียุค 5G

ใครสนใจสามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่ www.matichon.co.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image