“ขยะ-พลาสติก” จัดการอย่างไรให้”ยั่งยืน”?

คณะทำงานโครงการ PPP Plastic นำโดยคุณภราดร จุลชาติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมการคัดแยกขยะพลาสติกใน อ.บ้านเพ

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่บอกว่า คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยจำกัด มอบเงินจำนวน 4 ล้านบาท ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำหรับนำไปใช้สนับสนุนโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน กับโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล

ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า ตอนที่ไปคุยกับคุณฉัตรชัยและคณะว่าด้วยเทคโนโลยีในการนำเอาขยะพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมในการ

ปูถนนลาดยางนั้น ได้ชวนคุยยืดยาวลุกลามไปถึงโครงการชื่อยาวมากโครงการนี้ ที่ใช้ตัวอักษรย่อในภาษาอังกฤษเรียกชื่อแทนเพื่อความสะดวกว่า โครงการ “พีพีพี พลาสติก”

โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล คือส่วนหนึ่งของโครงการพีพีพี พลาสติกที่ว่านี้นั่นเองครับ

Advertisement

“พีพีพี พลาสติก” เป็นโครงการจัดการกับพลาสติกและขยะที่น่าสนใจมาก เพราะไม่เพียงมีแนวคิดในการจัดการกับขยะแตกต่างออกไปจากที่เคยได้ยินได้ฟังมา ยังเป็นโครงการที่มีพันธะครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีให้เห็นไม่บ่อยนัก ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในด้านไหนก็ตามที ซึ่งทำให้คำว่า “อย่างยั่งยืน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโครงการมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

อันที่จริง ทั้งคนมอบทั้งคนรับมอบเงินทุนดังกล่าวข้างต้น คือส่วนหนึ่งขององค์กรหลายต่อหลายองค์กรที่ร่วมกันก่อตั้งโครงการพีพีพีนี้ขึ้นมา

เทศบาลตำบลน้ำคอกร่วมกับชมรมผู้สูงอายุจัดกิจกรรมคัคแยกถุงพลาสติก เพื่อนำไปขาย สร้างรายได้เพิ่ม เทศบาลตำบลน้ำคอกเป็นหนึ่งในหลายเทศบาลในจังหวัดระยองที่ได้นำการอบรมการคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มจากทางโครงการ PPP Plastic

Advertisement
เทศบาลตำบลน้ำคอกร่วมกับชมรมผู้สูงอายุจัดกิจกรรมคัคแยกถุงพลาสติก เพื่อนำไปขาย สร้างรายได้เพิ่ม เทศบาลตำบลน้ำคอกเป็นหนึ่งในหลายเทศบาลในจังหวัดระยองที่ได้นำการอบรมการคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มจากทางโครงการ PPP Plastic

“พีพีพี” มีพื้นฐานมาจากแนวคิดง่ายๆ ที่ว่า ในเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างขยะและขยะพลาสติกขึ้นมา ทุกๆ คนในสังคมก็ควรมีส่วนรับผิดชอบ ในการแก้ปัญหาขยะและแก้ปัญหาพลาสติกในขยะเหมือนๆ กัน

เมื่อเราสร้างขยะออกมาจนไทยกลายเป็นประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ในจำนวน 192 ประเทศ เราก็ควรหาหนทางจัดการกับขยะเหล่านั้นได้เหมือนกัน

ในจำนวน 77 จังหวัดของประเทศ มีมากถึง 23 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล สร้างขยะขึ้นมา 11.47 ล้านตันต่อปี 14 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดดังกล่าว (หรือราว 1.55 ล้านตัน) มีพลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะอยู่ด้วย 340,000 ตัน ในจำนวนขยะพลาสติกที่ว่านี้มีราว 10-15 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกนำพาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งลงสู่ทะเล

ปัญหาของพลาสติกที่กลายเป็นขยะมีมากกว่าปัญหาของขยะอื่นทั่วไป เหตุผลง่ายๆ ก็คือ คนเรามีชีวิตอยู่ถึง 400 ปีไม่ได้ แต่ขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นผืนดินและเป็นทะเล สามารถอยู่ได้ถึง 400 ปี หรือเกินกว่านั้น มันไม่ย่อยสลาย แต่นานไปมากๆ ก็สามารถแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ เข้าไปสร้างปัญหาให้กับชีวิตทั้งสัตว์และมนุษย์ จนถึงแก่ความตายได้

ขยะพลาสติกจึงเป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิต เป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม หากไม่แก้ยิ่งนานก็จะยิ่งเลวร้าย

ผมเห็นด้วยกับ คุณภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการกององค์การสัมพันธ์ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีโครงการพีพีพีของบริษัทดาวที่ว่า พลาสติกในขยะจะหายไปได้ต้องทำให้พลาสติกในขยะมีค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาให้ได้

ถ้าทำไม่ได้ ขยะพลาสติกก็จะเป็นขยะอยู่ร่ำไป ถ้าทำให้ขยะพลาสติกเป็น “ทองคำ” ได้เมื่อใด ไม่ต้องขอร้องให้จัดแยก จัดเก็บ ก็มีการแยก การเก็บขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

คุณภรณีบอกว่า พีพีพี กำลังพยายามทำให้ขยะพลาสติกมีคุณค่าในทำนองเช่นนั้นขึ้นมา

ที่ผ่านมา เรารู้ว่ามีโรงงานรีไซเคิลพลาสติก แต่เราไม่รู้ว่าพลาสติกอะไร อย่างไร ชนิดไหนสามารถรีไซเคิลได้ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า สติ๊กเกอร์ ที่แปะตามขวดพลาสติก ทำให้โรงงานรีไซเคิลไม่รับซื้อขวดนั้น เพราะทำให้นำไปรีไซเคิลไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลที่ไหนยอมเสียเวลาไปนั่งลอกสติ๊กเกอร์ออกให้หมดจดสำหรับนำขวดพลาสติกที่เหลือไปใช้รีไซเคิล

คุณภรณียกตัวอย่างขวดน้ำพลาสติกขวดหนึ่ง ต้องแยกรีไซเคิลออกเป็นอย่างน้อย 3 ส่วน ตัวขวดที่เป็นพลาสติกใส ส่วนหนึ่ง ตัวฉลากพลาสติกส่วนหนึ่ง ฝาปิด (รวมถึงส่วนที่ติดอยู่กับปากขวด) อีกส่วนหนึ่ง

เหล่านั้นคือองค์ความรู้เบื้องต้นในการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ขยะพลาสติก “มีค่า” ขึ้นมา

ถ้าเรารู้ว่า โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะได้เชื้อเพลิงจากขยะอยู่ 2 ทาง ทางหนึ่งคือการนำขยะ(เปียก) มาหมักเพื่อให้เกิดก๊าซ นำก๊าซไปใช้ผลิตไฟฟ้า กับอีกส่วนหนึ่งคือการนำขยะไปเผา นำความร้อนจากการเผาไปใช้ผลิตไฟฟ้า เราก็จะรู้เหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องแยก ขยะเปียกและขยะแห้งออกจากกัน

ถ้าชุมชนเรียนรู้และรับผิดชอบตั้งแต่ที่บ้านแต่ละหลังว่าจะเริ่มต้นจัดการกับขยะอย่างไร ขยะก็สามารถ “ขาย” ได้ โรงไฟฟ้าและโรงงานรีไซเคิลก็จะมีวัตถุดิบป้อนให้ตลอดเวลา กลายเป็นผลผลิตที่ย้อนกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนนั้นๆ วนเวียนไปเช่นนี้อย่างยั่งยืน

พีพีพี กำลังสร้างชุมชนที่ว่านั้นขึ้นที่ ต.บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง เรียกว่า ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ซึ่งประกอบไปด้วยโรงคัดแยกขยะ พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า RDF การก่อสร้างบ่อหมัก Biogas บ่อบำบัดน้ำเสีย และบ่อฝังกลบขยะ ซึ่งอยู่ภายในศูนย์กำจัดขยะของ อบจ. มีศูนย์ฝึกอบรมความรู้เพื่อการคัดแยกขยะ มีถนนที่มีส่วนผสมของพลาสติกจากขยะอยู่ในยางที่ปูลาด มีผลิตภัณฑ์จากขยะ เช่น เสื้อยืด จำหน่าย ฯลฯ

ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรของชุมชนแห่งนี้ กำลังทำให้ขยะกลายเป็นของมีค่าสำหรับชุมชนมากขึ้นทุกที

พีพีพี พลาสติก ตั้งเป้าจะลดขยะพลาสติกในทะเลของไทยลงให้เหลือ 50 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณในเวลานี้ให้ได้ภายในปี 2570

ยิ่งแนวคิดเรื่องชุมชนกำจัดขยะครบวงจรที่ จ.ระยองแพร่หลายออกไปมากเท่าใด โอกาสที่เป้าหมายของโครงการพีพีพีจะเป็นจริงก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้นครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image